สิขีพุทธวงศ์ที่ ๒๐
สมัยต่อมาจากพระวิปัสสีสัมพุทธเจ้า พระสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีบุคคลเปรียบเสมอ มีพระนามว่า สิขี
พระชาติ
ทรงเป็นกษัตริย์โดยพระชาติของนครชื่อว่า อรุณวดี
พระชนกพระนามว่า อรุณ
พระชนนีพระนามว่า พระนางประภาวดี
พระมเหสีพระนามว่า สรรพกามา
พระราชโอรสพระนามว่า อตุละ
มีพระสนมนารีกำนัลใน ๒๔,๐๐๐ นาง
มีปราสาทอันประเสริฐ ๓ ปราสาท ชื่อ สุวัฑฒกะ คิริ และนารีวาหนะ
ทรงครองเรือนอยู่ ๗,๐๐๐ ปี
ออกบวช บำเพ็ญเพียร ตรัสรู้ และประกาศธรรมจักร
พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการแล้ว เสด็จออกผนวชด้วยราชรถพระที่นั่ง ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม ก็ได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ
พรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศธรรมจักร ณ มฤคทายวัน
ธรรมาภิสมัย ๓ วาระ
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๑ ทรงประกาศพระธรรมจักร ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๒ ทรงแสดงธรรมอีก ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๙๐,๐๐๐ โกฏิ
ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ในโลกพร้อมด้วยเทวโลก ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘๐,๐๐๐ โกฏิ
ประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกัน ๑๐๐,๐๐๐
ครั้งที่ ๒ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกัน ๘๐,๐๐๐
ครั้งที่ ๓ พระภิกษุขีณาสพมาประชุมกัน ๗๐,๐๐๐
บุคคลสำคัญ
พระอัครสาวก : พระอภิภูเถระและพระสัมภวเถระ
พระอุปัฏฐาก : พระเขมังกรเถระ
พระอัครสาวิกา : พระมขีลาเถรีและพระปทุมาเถรี
อัครอุปัฏฐาก : สิริวัฑฒอุบาสกและนันทอุบาสก
อุปัฏฐายิกา : จิตราอุบาสิกาและสูจิตราอุบาสิกา
ไม้โพธิพฤกษ์
ต้นบุณฑริก [ไม้กุ่มบก]
พระชนมายุ พระวรกาย และพระรัศมี
ทรงมีพระชนมายุ ๗๐,๐๐๐ ปี
สูง ๗๐ ศอก
พระรัศมีเปล่งปลั่งดังทองคำ ซ่านออกไปจากพระวรกายด้านละวาเป็นนิตย์ เปล่งออกไปยังทิศน้อยทิศใหญ่ ๓ โยชน์
เสด็จนิพพาน
พระสิขีพุทธเจ้าเสด็จนิพพาน ณ อัสสาราม
พระสถูปของพระองค์สูง ๓ โยชน์ ประดิษฐานอยู่ ณ อัสสารามนั้น
พระพุทธพยากรณ์พระโคตมพุทธเจ้า
สมัยนั้น พระพุทธเจ้าโคดมเป็นกษัตริย์พระนามว่า อรินทมะ
ได้ถวายข้าวและน้ำให้พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ได้ถวายผ้าอย่างดีหลายโกฏิผืน ได้ถวายยานช้างอันประดับแล้วแก่พระสัมพุทธเจ้า
เมื่อพระองค์ได้สร้างยานช้างให้เป็นของควรแก่สมณะแล้ว นำเข้าไปถวาย ได้ยังฉันทะซึ่งตั้งไว้มั่นเป็นนิตย์ให้เต็ม
พระสิขีพุทธเจ้าได้ทรงประทานพยากรณ์ว่า ในกัปที่ ๓๑ แต่กัปนี้ กษัตริย์นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก
เมื่อได้ฟังพระพุทธพยากรณ์แล้ว ยังจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรในการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการให้ยิ่งขึ้นไป
อ่าน สิขีพุทธวงศ์ที่ ๒๐