ธาตุภาชนียกถา
พระมหาโคดมชินเจ้าผู้ประเสริฐ เสด็จนิพพานที่นครกุสินารา พระธาตุของพระองค์เรี่ยรายแผ่ไปในประเทศนั้น ๆ
พระธาตุทะนานหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรูทรงนำไปไว้ในพระนครราชคฤห์
ทะนานหนึ่งอยู่ในเมืองเวสาลี
ทะนานหนึ่งอยู่ในนครกบิลพัสดุ์
ทะนานหนึ่งอยู่ในอัลลากัปปนคร
ทะนานหนึ่งอยู่ในรามคาม
ทะนานหนึ่งอยู่ในเวฏฐาทีปกนคร
ทะนานหนึ่งอยู่ในเมืองปาวาของมัลลกษัตริย์
ทะนานหนึ่งอยู่ในเมืองกุสินารา
โทณพราหมณ์ให้ช่างสร้างสถูป บรรจุทะนานทอง
กษัตริย์โมริยะผู้มีหทัยยินดี รับสั่งให้สร้างสถูปบรรจุพระอังคาร
พระสถูปบรรจุพระสารีริกธาตุ ๘ แห่ง เป็น ๙ แห่ง ทั้งตุมพเจดีย์ รวมพระอังคารสถูปด้วย เป็น ๑๐ แห่ง ประดิษฐานอยู่แล้วในกาลนั้น
พระทาฐธาตุข้างหนึ่งอยู่ในดาวดึงส์พิภพ
ข้างหนึ่งอยู่ในนาคบุรี
ข้างหนึ่งอยู่ในเมืองคันธารวิสัย
ข้างหนึ่งอยู่ในเมืองกาลิงคราช
พระทันตธาตุ ๔๐ พระเกศธาตุและพระโลมาทั้งหมด เทวดานำไปไว้ในจักรวาลหนึ่ง ๆ จักรวาลละอย่าง
บาตรไม้เท้าและจีวรของพระผู้มีพระภาคอยู่ในวชิรานครสงบอยู่ในกุลฆรนคร
ผ้าปัจจัตถรณะอยู่ในสีหฬธมกรกและประคตเอว อยู่ในนครปาฏลิบุตร
ผ้าอาบน้ำอยู่ในจำปานคร
อุณณาโลมอยู่ในแคว้นโกศล
ผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ในพรหมโลก
ผ้าโพกอยู่ในดาวดึงส์
รอยพระบาทอันประเสริฐที่หิน เหมือนมีอยู่ที่กัจฉตบุรี
ผ้านิสีทนะอยู่ในอวันตีชนบท
ผ้าลาดอยู่ในดาวดึงส์
ไม้สีไฟอยู่ในมิถิลานคร
ผ้ากรองน้ำอยู่ในวิเทหรัฐ
มีดและกล่องเข็มอยู่ในอินทปัตถนคร
บริขารที่เหลืออยู่ในชนบท ๓ แห่ง
หมู่มนุษย์ในกาลนั้นจักบูชาบริขารที่พระมุนีทรงบริโภค พระธาตุของพระโคดมผู้แสวงหาคุณอันใหญ่หลวงกระจายแผ่กว้างไป เพื่ออนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งหลายเป็นของเก่าในกาลนั้น ฉะนี้แล
อ่าน ธาตุภาชนียกถา