Main navigation
ศีล
Share:

ศีลสำหรับพุทธบริษัท

๑. ศีลสำหรับคฤหัสถ์
๒. ศีลสำหรับสิกขมานา
๓. ศีลสำหรับสามเณร
๔. ครุธรรม ๘
๕. จุลศีลสำหรับภิกษุ
๖. มัชฌิมศีลสำหรับภิกษุ
๗. มหาศีลสำหรับภิกษุ


(๑) อะไรเป็นศีล คือ

เจตนาเป็นศีล
เจตสิกเป็นศีล
ความสำรวมเป็นศีล
ความไม่ล่วงเป็นศีล

ศีลเป็นที่ประชุมแห่งธรรมอะไร คือ

ศีลเป็นที่ประชุมแห่งสังวร เป็นที่ประชุมแห่งการไม่ก้าวล่วง เป็นที่ประชุมแห่งเจตนาอันเกิดในความเป็นอย่างนั้น

(๒)  ศีลที่เป็นกุศล คือกายกรรมเป็นกุศล วจีกรรมเป็นกุศล และอาชีวะอันบริสุทธิ์ลงในศีลเหล่านี้ เรากล่าวว่าศีลเป็นกุศล

ก็ศีลเป็นกุศลเหล่านี้มีจิตเป็นสมุฏฐาน จิตใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ศีลเป็นกุศลมีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล แต่จะสำเร็จด้วยศีลหามิได้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับหมดสิ้นแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้นของภิกษุนั้นด้วย

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ตั้งมั่น เพื่อยังอกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหายเพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดแล้ว ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นกุศล


ผู้มีศีลสมบูรณ์ ไม่เดือดร้อน

(๓) บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอความไม่เดือดร้อนจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด ข้อที่ความไม่เดือดร้อนเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยศีลนี้ เป็นธรรมดา

ศีลที่เป็นกุศลมีความไม่เดือดร้อนเป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์


ศีลเป็นที่พึ่ง

(๔) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง


ศีลเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมและการปฏิบัติธรรม

(๕) เธอจงยังเบื้องต้นในกุศลธรรมให้บริสุทธิ์ก่อน เบื้องต้นของกุศลธรรมคืออะไร คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดีและความเห็นตรง

เมื่อใดศีลของเธอจักบริสุทธิ์ดี และความเห็นของเธอจักตรง เมื่อนั้น เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้วพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ โดยส่วน ๓

(๖) การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง อันบุคคลทำอยู่ ทั้งหมดนั้น อันบุคคลอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึงทำได้ การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังเหล่านี้ อันบุคคลย่อมกระทำได้ด้วยอาการอย่างนี้ ฉันใด

ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ฉันนั้นเหมือนกัน

(๗) ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญสัมมัปปธาน ๔ กระทำให้มากซึ่งสัมมัปปธาน ๔ ฉันนั้นเหมือนกัน

(๘) พวกนาคอาศัยขุนเขาชื่อหิมวันต์ มีกายเติบโต มีกำลัง ครั้นกายเติบโต มีกำลังที่ขุนเขานั้นแล้ว ย่อมลงสู่บึงน้อย ครั้นลงสู่บึงน้อยแล้ว ย่อมลงสู่บึงใหญ่ ครั้นลงสู่บึงใหญ่แล้ว ย่อมลงสู่แม่น้ำน้อย ครั้นลงสู่แม่น้ำน้อยแล้ว ย่อมลงสู่แม่น้ำใหญ่ ครั้นลงสู่แม่น้ำใหญ่แล้ว ย่อมลงสู่มหาสมุทรสาคร นาคพวกนั้น ย่อมถึงความโตใหญ่ทางกายในมหาสมุทรสาครนั้น แม้ฉันใด

ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญโพชฌงค์ ๗ กระทำให้มากซึ่งโพชฌงค์ ๗ ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน

(๙) ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นที่รัก ที่ชอบใจที่เคารพ และที่ยกย่องของสพรหมจารีทั้งหลายไซร้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่าเถิด

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารทั้งหลายไซร้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วยความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่าเถิด

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของชนเหล่าใด ขอสักการะของชนเหล่านั้นพึงมีผลมาก มีอานิสงส์มากไซร้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย... เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่าเถิด

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า ญาติสาโลหิตเหล่าใด ผู้ละไปแล้ว กระทำกาละแล้วมีจิตเลื่อมใส ย่อมตามระลึกถึง ขอการระลึกถึงแห่งญาติสาโลหิตเหล่านั้นพึงมีผลมาก มีอานิสงส์มากไซร้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย... เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่าเถิด

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรบิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ไซร้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ ในศีลทั้งหลาย ... เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่าเถิด

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว ระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เสือกคลาน ถ้อยคำอันหยาบช้า พึงเป็นผู้อดกลั้นต่อทุกขเวทนาอันมีในสรีระที่เกิดขึ้นแล้ว กล้าแข็ง เผ็ดร้อน อันไม่ชื่นใจไม่พอใจ อันนำชีวิตไปไซร้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้เป็นผู้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย... เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่าเถิด

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ครอบงำความไม่ยินดี และความยินดี และขอความไม่ยินดีและความยินดีไม่พึงครอบงำเรา เราพึงครอบงำความไม่ยินดี และความยินดีอันเกิดขึ้นแล้วอยู่ไซร้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย... เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่าเถิด

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ครอบงำภัยและความหวาดเสียว และขอภัยและความหวาดเสียวไม่พึงครอบงำเราได้ เราพึงเป็นผู้ครอบงำภัยและความหวาดเสียวที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ไซร้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย... เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่าเถิด

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันไซร้ ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย... เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่าเถิด

ถ้าภิกษุพึงหวังว่า เราพึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะไม่ได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ไซร้ ภิกษุเหล่านั้นพึงเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย  ประกอบความสงบใจในภายใน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่เรือนว่างเปล่าเถิด

คำที่เรากล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยปาติโมกข์อยู่เถิด จงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่เถิด จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษทั้งหลายอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายเถิด ดังนี้ เราอาศัยข้อนี้กล่าวแล้ว

คุณแห่งศีล

(๑๐) ท่านทั้งหลายพึงศึกษาศีลในศาสนานี้ ด้วยว่าศีลอันบุคคลศึกษาดีแล้วสั่งสมดีแล้ว ย่อมนำสมบัติทั้งปวงมาให้ในโลกนี้

นักปราชญ์เมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการ คือ

ความสรรเสริญ ๑
การได้ความปลื้มใจ ๑
ความบันเทิงในสวรรค์เมื่อละไปแล้ว ๑

พึงรักษาศีล ด้วยว่าผู้มีศีล มีความสำรวม ย่อมได้มิตรมาก

ส่วนผู้ทุศีล ประพฤติแต่กรรมอันลามก ย่อมแตกจากมิตร นรชนผู้ทุศีล ย่อมได้รับการติเตียนและความเสียชื่อเสียง ส่วนผู้มีศีลย่อมได้รับการสรรเสริญและชื่อเสียงทุกเมื่อ

ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์

สังวรศีลเป็นเครื่องกั้นความทุจริต ทำจิตให้ร่าเริง เป็นท่าที่หยั่งลงมหาสมุทร คือ นิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์

ศีลเป็นกำลังหาเปรียบมิได้ เป็นอาวุธอย่างสูงสุด เป็นอาภรณ์อันประเสริฐ เป็นเกราะอันน่าอัศจรรย์

ศีลเป็นสะพาน เป็นมหาอำนาจ เป็นกลิ่นหอมอย่างยอดเยี่ยม เป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ

บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ

ศีลเป็นกำลังอย่างเลิศ เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม เป็นพาหนะอันประเสริฐยิ่งนัก เป็นเครื่องหอมฟุ้งไปทั่วทิศานุทิศ

คนพาลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นในศีล ย่อมได้รับการนินทาในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในอบายภูมิ ในที่ทั่วไป

ธีรชนผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญในเวลาที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ครั้นตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขโสมนัสในสวรรค์ ย่อมรื่นเริงใจในที่ทุกสถานในโลกนี้

ศีลเท่านั้นเป็นยอด
และผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้
ความชนะในมนุษยโลกและเทวโลก
ย่อมมีได้เพราะศีลและปัญญา


(๑๑) ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้เพราะจิตบริสุทธิ์

บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน คือ ข้าว น้ำผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น

เขาเห็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมบำเรออยู่ด้วย กามคุณ ๕ เขามีความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล

เขาตั้งจิตอธิษฐาน นึกภาวนาอยู่ จิตของเขานึกน้อมไปในทางเลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล

แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล

ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้เพราะจิตบริสุทธิ์

บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้ทาน คือ ข้าว น้ำผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาให้สิ่งใด ย่อมหวังสิ่งนั้น

เขาได้สดับมาว่า เทวดาชั้นจาตุมมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์... ชั้นยามา... ชั้นดุสิต... ชั้นนิมมานรดี... ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี... มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุขมาก เขาจึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอ เมื่อตายไป ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นจาตุมมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์... ชั้นยามา... ชั้นดุสิต... ชั้นนิมมานรดี... ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี...

เขาตั้งจิตอธิษฐาน นึกภาวนาอยู่ จิตของเขานึกน้อมไปในทางเลว ไม่เจริญยิ่งขึ้น เมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นจาตุมมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์... ชั้นยามา ... ชั้นดุสิต... ชั้นนิมมานรดี... ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี...

แต่ข้อนั้นเรากล่าวว่าเป็นของผู้มีศีล ไม่ใช่ของผู้ทุศีล

ความปรารถนาแห่งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้เพราะจิตบริสุทธิ์


(๑๒) โทษแห่งศีลวิบัติ อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ

โทษแห่งศีลวิบัติ

โทษของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ ๕ ประการ คือ

๑. คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติในโลกนี้ย่อมเข้าถึงความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ใหญ่หลวง เพราะเหตุแห่งความประมาท

๒. ชื่อเสียงอันลามกของคนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติย่อมเสียหาย เฟื่องฟุ้งไป

๓. คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติ เข้าไปหาบริษัทใด ๆ เช่น ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้ครั่นคร้าม ขวยเขิน

๔. คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติ ย่อมเป็นผู้หลงทำกาละ

๕. คนทุศีล ผู้มีศีลวิบัติ เบื้องหน้าแต่แตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก


อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ

อานิสงส์ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล ๕ ประการ คือ

๑. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมได้กองโภคทรัพย์ใหญ่หลวง เพราะเหตุแห่งความไม่ประมาท

๒. ชื่อเสียงอันดีงามของคนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเฟื่องฟุ้งไป

๓. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล เข้าไปหาบริษัทใด ๆ เช่น ขัตติยบริษัท พรหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ขวยเขิน

๔. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมไม่หลงทำกาละ

๕. คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ โลก สวรรค์


(๑๓) ศีลที่เป็นกุศลย่อมถึงอรหัตโดยลำดับ

ศีลที่เป็นกุศล มีอวิปปฏิสาร (ความไม่เดือดร้อน) เป็นผล เป็นอานิสงส์
อวิปปฏิสาร มีปราโมทย์เป็นผล เป็นอานิสงส์
ปราโมทย์ มีปีติเป็นผล เป็นอานิสงส์
ปีติ มีปัสสัทธิเป็นผล เป็นอานิสงส์
ปัสสัทธิ มีสุขเป็นผล เป็นอานิสงส์
สุข มีสมาธิเป็นผล เป็นอานิสงส์
สมาธิ มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล อานิสงส์
ยถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทาวิราคะ เป็นผล เป็นอานิสงส์
นิพพิทาวิราคะ มีวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นผล เป็นอานิสงส์

ศีลที่เป็นกุศลย่อมถึงอรหัตโดยลำดับด้วยประการดังนี้


(๑๔) ชาดกเลือกผู้มีศีลเป็นคู่เพราะน่าบูชา น่าสรรเสริญ

พราหมณ์คนหนึ่งมีลูกสาวสี่คน มีชายสี่คนต้องการลูกสาวเหล่านั้น

ในชายสี่คนนั้น คนหนึ่งรูปงามร่างกายสมบูรณ์ คนหนึ่งอายุมากเป็นผู้ใหญ่ คนหนึ่งสมบูรณ์ด้วยชาติ คนหนึ่งมีศีล

พราหมณ์คิดว่า เมื่อจะปลูกฝังลูกสาว ควรจะให้แก่ใครหนอ ควรให้แก่คนรูปงาม หรือคนมีอายุ คนสมบูรณ์ด้วยชาติ หรือคนมีศีล

แม้เขาจะพยายามคิด ก็ไม่รู้แน่ จึงคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักทรงทราบเหตุนี้ เราจักทูลถามพระองค์ แล้วยกลูกสาวให้แก่ผู้ที่สมควรในคนเหล่านั้น จึงได้ถือของหอมดอกไม้เป็นต้น ไปวิหาร ถวายบังคมพระศาสดา นั่ง ณ ส่วนหนึ่ง กราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งแต่ต้น แล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ ควรจะให้แก่ใครในชายทั้งสี่เหล่านี้

พระศาสดาตรัสว่า แต่ปางก่อน บัณฑิตทั้งหลายก็ยังถามปัญหานี้แก่พระองค์ แต่เพราะยังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของภพ จึงไม่อาจจดจำได้

เมื่อพราหมณ์ทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลพราหมณ์ เรียนศิลปะในเมืองตักกสิลา แล้วได้มาเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในกรุงตักกสิลา

ครั้งนั้น พราหมณ์มีลูกสาวสี่คน มีชายสี่คนต้องการลูกสาวเหล่านั้น พราหมณ์รำพึงว่า จะควรให้แก่ใคร เมื่อไม่แน่ใจจึงคิดว่า เราจะต้องถามอาจารย์ แล้วให้แก่ผู้ที่ควรให้ จึงไปหาอาจารย์ เมื่อจะถามเรื่องนั้น จึงกล่าวคาถาแรกว่า

เราขอถามท่านพราหมณ์ว่า ๑. คนมีรูปงาม ๒. คนอายุมาก ๓. คนมีชาติสูง ๔. คนมีศีล สี่คนนั้น ท่านจะเลือกเอาคนไหน

คนมีรูปงาม คือมีร่างกายสมบูรณ์ มีความสง่า

คนอายุมาก คือเป็นผู้ใหญ่ เจริญวัย

คนมีชาติสูง คือสมบูรณ์ด้วยชาติ เพราะเกิดมาดี

คนมีศีล คืองดงามด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยศีล

อาจารย์ฟังพราหมณ์นั้นแล้ว จึงตอบว่า

คนมีศีลวิบัติแล้ว แม้เมื่อมีรูปสมบัติก็น่าตำหนิ เพราะฉะนั้น รูปสมบัติหาเป็นประมาณไม่ เราชอบความเป็นผู้มีศีล

ประโยชน์ในร่างกายก็มีอยู่ ข้าพเจ้าขอทำความนอบน้อมต่อท่านผู้เจริญวัย เพราะผู้เจริญวัยย่อมได้การกราบไหว้นับถือ

ประโยชน์ในชาติดีก็มีอยู่ ความเจริญในคนที่เกิดมาดีก็มี เพราะชาติสมบัติก็ควรปรารถนาเหมือนกัน

แต่เราชอบใจศีล เพราะคนมีศีลสมบูรณ์ด้วยมารยาท แม้จะขาดสรีรสมบัติก็ยังน่าบูชา น่าสรรเสริญ

พราหมณ์ฟังคำของอาจารย์แล้ว ก็ยกลูกสาวให้แก่คนมีศีลอย่างเดียว

พระศาสดานำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ทรงประชุมชาดก

เมื่อจบสัจธรรม พราหมณ์ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

พราหมณ์ในครั้งนั้น ได้เป็นพราหมณ์ผู้นี้แหละ ส่วนอาจารย์ทิศาปาโมกข์ คือ เราตถาคต


(๑๕) ชาดกแสดงความหมดจดแห่งศีล

ในอดีตกาล เมื่อพระราชาพระนามว่า ธนัญชัยโกรัพย์ ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครอินทปัฏฏ์ ในแคว้นกุรุ พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระราชานั้น ถึงความรู้เดียงสาโดยลำดับ แล้วเรียนศิลปะทั้งปวงในเมืองตักกสิลา พระบิดาทรงแต่งตั้งให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งอุปราช

ในกาลต่อมา เมื่อพระบิดาสวรรคตแล้ว ได้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ มิได้ทรงกระทำทศพิธราชธรรมให้กำเริบ ทรงประพฤติในกุรุธรรมอยู่ ศีลห้า ชื่อว่ากุรุธรรม

พระโพธิสัตว์ทรงรักษาศีลห้านั้นให้บริสุทธิ์

พระมารดาของพระโพธิสัตว์ พระอัครมเหสี พระอุปราชผู้เป็นพระอนุชา พราหมณ์ผู้เป็นปุโรหิต อำมาตย์ผู้รังวัดนา สารถี เศรษฐี มหาอำมาตย์ผู้ตวงข้าว นายประตู นางวัณณทาสีผู้เป็นนครโสเภณี ก็เหมือนพระโพธิสัตว์

รวมความว่า ชนเหล่านี้รักษาศีลห้าเหมือนดังพระโพธิสัตว์ ชน ๑๑ คน คือ พระราชา ๑ พระชนนี ๑ พระอัครมเหสี ๑ พระอุปราช ๑ ปุโรหิต ๑ อำมาตย์ผู้รังวัด ๑ สารถี ๑ เศรษฐี ๑ อำมาตย์ผู้ตวงข้าว ๑ นายประตู ๑ และนางคณิกา ๑ ดำรงอยู่ในกุรุธรรม

ชนแม้ทั้งหมดเหล่านี้ รักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ด้วยประการดังนี้

พระราชาให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ ที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ที่กลางเมือง ที่ประตูพระนิเวศน์ ทรงสละพระราชทรัพย์หกแสนทุกวันๆ ทรงบริจาคทาน กระทำชมพูทวีปทั้งสิ้นให้ไม่ต้องทำไร่ไถนา ก็ความที่พระโพธิสัตว์นั้นมีพระอัธยาศัยยินดีในการบริจาคทาน ได้แผ่คลุมไปทั่วชมพูทวีป

ในกาลนั้น พระเจ้ากาลิงคราชครองราชสมบัติในทันตปุรนคร ในแคว้นกาลิงคะ ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคราชนั้น ฝนไม่ตก ก็เกิดความอดอยากไปทั่วแคว้นเพราะอาหารวิบัติ โรคจึงเกิดขึ้นแก่มวลมนุษย์

ภัย ๓ ประการ คือ ฉาตกภัย ภัยคือความอดอยาก โรคภัย ภัยคือโรค ทุพภิกขภัย ภัยคือข้าวยากหมากแพง ก็เกิดขึ้น มนุษย์ทั้งหลายหมดที่ยึดถือ ต่างพากันจูงมือเด็ก ๆ เที่ยวเร่ร่อนไป

ชาวแว่นแคว้นทั้งสิ้นรวมกันไปยังพระนครทันตปุระ พากันส่งเสียงร้องอยู่ที่ประตูพระราชวัง พระราชาประทับยืนพิงพระแกล ทรงสดับเสียงนั้น จึงตรัสถามว่า

คนเหล่านี้เที่ยวไปเพราะเหตุอะไรกัน

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ภัยเกิดขึ้นทั่วแว่นแคว้นทั้งสิ้น ฝนไม่ตก ข้าวกล้าวิบัติเสียหาย เกิดความอดอยาก มนุษย์ทั้งหลายกินอยู่ไม่ดี ถูกโรคภัยครอบงำ หมดที่ยึดถือระส่ำระสาย พากันจูงมือลูก ๆ เที่ยวไป ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงยังฝนให้ตกเถิด พระเจ้าข้า.

พระราชาตรัสถามว่า พระราชาแต่เก่าก่อนทั้งหลาย เมื่อฝนไม่ตก ทรงกระทำอย่างไร

ข้าแต่มหาราช พระราชาแต่เก่าก่อนทั้งหลาย เมื่อฝนไม่ตก ได้ทรงบริจาคทาน อธิษฐานอุโบสถสมาทานศีลแล้ว เสด็จเข้าสู่ห้องสิริไสยาศน์ ทรงบรรทมเหนือเครื่องลาดซึ่งทำด้วยไม้ตลอด ๗ วัน ในกาลนั้น ฝนก็ตกลงมา

พระเจ้ากาลิงคะตรัสว่า ดีละ แล้วได้ทรงกระทำอย่างนั้น

แม้ทรงกระทำอย่างนั้น ฝนก็มิได้ตก พระราชาตรัสกะอำมาตย์ทั้งหลายว่า

เราได้กระทำกิจที่ควรกระทำแล้ว ฝนก็ไม่ตก เราจะกระทำอย่างไรต่อไป

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า

ข้าแต่มหาราช พระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราชในนครอินทปัฏ มีช้างมงคลหัตถีชื่อว่า อัญชนสันนิภะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจักนำช้างมงคลเชือกนั้นมา เมื่อเป็นเช่นนั้น ฝนก็จักตก

พระเจ้ากาลิงคะตรัสว่า พระราชาพระองค์นั้นทรงสมบูรณ์ด้วยพลพาหนะ ใคร ๆ จะข่มได้ยาก พวกเราจักนำช้างพระราชาพระองค์นั้นมาได้อย่างไร

ข้าแต่มหาราช ไม่ต้องทำการรบกับพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราชนั้นหรอก พระเจ้าข้า พระราชาพระองค์นั้นมีพระอัธยาศัยยินดีในการบริจาคทาน เป็นผู้ถูกเขาขอ แม้พระเศียรอันประดับแล้วก็ทรงตัดให้ได้ แม้ดวงพระเนตรอันสมบูรณ์ด้วยประสาทก็ทรงควักให้ได้ แม้ราชสมบัติทั้งสิ้นก็ทรงมอบให้ได้ ในเรื่องช้างมงคลไม่จำต้องพูดถึงเลย ทูลขอแล้วจักทรงประทานให้แน่แท้

พระราชารับสั่งให้เรียกพราหมณ์ ๘ คน ทรงกระทำสักการะสัมมานะ แล้วทรงส่งไปเพื่อให้ขอช้างมงคล

พราหมณ์เหล่านั้นถือเอาเสบียงเดินทาง ปลอมเพศเป็นคนเดินทาง รีบเดินทางไป โดยพักแรมอยู่ราตรีหนึ่งในที่ทุกแห่ง บริโภคอาหารในโรงทานที่ประตูพระนคร บำรุงร่างกายให้อิ่มหนำสิ้นเวลา ๒-๓ วัน แล้วถามว่า

เมื่อไรพระราชาจักเสด็จมาโรงทาน

พวกชาวเมืองบอกว่า พระราชาจะเสด็จมาในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและวัน ๘ ค่ำ ตลอด ๓ วันแห่งปักษ์หนึ่ง ๆ ก็พรุ่งนี้ เป็นวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เพราะฉะนั้น พระราชาจักเสด็จมาในวันพรุ่งนี้

วันรุ่งขึ้น พวกพราหมณ์รีบไปแต่เช้าตรู่ พอพระราชาเสด็จมาประจวบเข้าก็ยกมือถวายชัยมงคลว่า

ขอพระมหาราชเจ้าจงทรงพระเจริญ จงมีชัยชำนะเถิด พระเจ้าข้า

พระราชาทรงเอาพระแสงขอเพ็ชรเหนี่ยวช้างให้หันกลับ เสด็จไปยังที่ใกล้พราหมณ์เหล่านั้น แล้วตรัสถามว่า

พราหมณ์ทั้งหลายผู้เจริญ ท่านทั้งหลายต้องการอะไร

พราหมณ์ทั้งหลายเมื่อจะพรรณนาคุณของพระโพธิสัตว์ จึงกล่าวว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายทราบศรัทธาและศีลของพระองค์แล้ว ขอพระราชทานแลกทองกับช้างอัญชนาสภะ เพื่อนำไปแคว้นกาลิงคะ

พระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น จึงทรงตรัสว่า

ดูกรพราหมณ์ทั้งหลาย หากท่านทั้งหลายใช้จ่ายทรัพย์เพราะจะแลกเปลี่ยนช้างตัวประเสริฐเชือกนี้ เป็นการใช้จ่ายไปดีแล้ว อย่ากระนั้นเลย เราจักให้ช้างตัวประเสริฐตามที่ประดับแล้วแก่ท่านทั้งหลาย

แล้วได้กล่าวว่า

สัตว์ที่พึงเลี้ยงด้วยข้าวก็ดี ที่ไม่ได้เลี้ยงก็ดี ผู้ใดในโลกนี้ ตั้งใจมาหาเรา สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด เราก็มิได้ห้ามเลย นี้เป็นถ้อยคำของท่านบูรพาจารย์

ดูกรพราหมณ์ทั้งหลาย เราจะให้ช้างเชือกนี้อันควรเป็นราชพาหนะ เป็นราชบริโภคพระราชาควรใช้สอย ประกอบไปด้วยยศ ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับ ปกคลุมตะพองด้วยตาข่ายทอง พร้อมทั้งนายหัตถาจารย์แก่ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านจงไปตามปรารถนาเถิด

ทรงเอางวงของช้างนั้นวางบนมือของพราหมณ์ทั้งหลาย แล้วได้เอาพระสุวรรณภิงคารพระเต้าน้ำทอง หลั่งน้ำอันอบด้วยดอกไม้และของหอม แล้วพระราชทานไป

พราหมณ์ทั้งหลายรับช้างพร้อมทั้งบริวารแล้ว นั่งบนหลังช้าง ได้ไปยังทันตปุรนคร ถวายช้างแก่พระราชา

แม้ได้ช้างมาแล้ว ฝนก็ยังไม่ตก

พระราชาจึงทรงตรัสถามว่า มีเหตุอะไรหนอ

พวกอำมาตย์ทูลว่าพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยราชทรงรักษากุรุธรรม ด้วยเหตุนั้น ฝนจึงตกในแว่นแคว้นของพระองค์ทุกกึ่งเดือน ทุก ๑๐ วัน เพราะอานุภาพแห่งคุณความดีของพระราชาดอก ฝนจึงตก ก็สัตว์ดิรัจฉานนี้ แม้มีคุณอยู่ก็จะมีสักเท่าไร

พระเจ้ากาลิงคะตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงนำช้างตามที่ประดับแล้วนี้ พร้อมทั้งบริวาร ถวายคืนแด่พระราชา แล้วจดกุรุธรรมที่พระองค์รักษาลงในแผ่นทอง นำกลับมา

พราหมณ์และอำมาตย์เหล่านั้นได้มอบถวายช้างอัญชนสันนิภะ คืนแด่พระราชา แล้วกราบทูลว่า

ข้าแต่สมมติเทพ แม้เมื่อช้างนี้ไปถึงแว่นแคว้นของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว ฝนก็ยังมิได้ตก ได้ทราบเกล้าว่าพระองค์ทรงรักษากุรุธรรม พระราชาของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ทรงประสงค์จะรักษากุรุธรรมนั้น จึงทรงส่งพวกข้าพระพุทธเจ้ามา ด้วยรับสั่งว่า จงจดกุรุธรรมใส่ในแผ่นทอง แล้วนำกลับมา ขอพระองค์จงประทานกุรุธรรมนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า

ดูกรพ่อทั้งหลาย เรารักษากุรุธรรมนั้นจริง แต่บัดนี้ เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมนั้นอยู่ กุรุธรรมนั้นไม่ได้ทำจิตของเราให้ยินดี เพราะฉะนั้น เราไม่อาจให้กุรุธรรมนั้นแก่ท่านทั้งหลาย

นัยว่า ในครั้งนั้น พระราชาทั้งหลายมีการมหรสพเดือน ๑๒ ทุก ๆ ๓ ปี พระราชาทั้งหลายเมื่อจะเล่นมหรสพนั้น ทรงประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง ถือเอาเพศเป็นเทวดา ยืนอยู่ในสำนักของยักษ์ชื่อว่าจิตตราช แล้วยิงศรอันวิจิตรประดับด้วยดอกไม้ในทิศทั้ง ๔

พระราชาแม้พระองค์นี้ เมื่อจะทรงเล่นมหรสพนั้น จึงประทับยืนในสำนักของจิตตราชยักษ์ ใกล้แนวบึงแห่งหนึ่ง แล้วทรงยิงจิตตศรไปในทิศทั้ง ๔ พระองค์ทรงเห็นลูกศร ๓ ลูกที่ยิงไปในทิศต่าง ๆ แต่ไม่เห็นลูกศรที่ยิงไปบนหลังพื้นน้ำ

พระราชาทรงรังเกียจว่า “ลูกศรที่เรายิงไป คงจะถูกตัวปลากระมังหนอ” พระองค์ทรงปรารภถึงศีลเภท เพราะกรรมคือทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เพราะฉะนั้น ศีลจึงไม่ทำพระราชาให้ยินดี

พระโพธิสัตว์นั้นจึงตรัสอย่างนี้ว่า

ดูกรพ่อทั้งหลาย เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมอยู่ แต่พระมารดาของเรารักษาไว้ได้เป็นอย่างดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของพระมารดาเราเถิด

ทูตทั้งหลายจึงกราบทูลว่า

ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ไม่มีเจตนาว่าจักฆ่าสัตว์ เพราะเว้นเจตนานั้นจึงชื่อว่าไม่เป็นปาณาติบาต ขอพระองค์จงให้กุรุธรรมที่ทรงรักษาแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด

พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น จงเขียนเอาเถิดพ่อ

แล้วให้จารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏว่า

ไม่พึงฆ่าสัตว์ ๑
ไม่พึงถือสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ๑
ไม่พึงประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๑
ไม่พึงกล่าวคำเท็จ ๑
ไม่พึงดื่มน้ำเมา ๑

ก็แลครั้นให้จารึกแล้วจึงตรัสว่า แม้เป็นอย่างนี้ ศีลก็ยังเราให้ยินดีไม่ได้ พวกท่านจงไปเฝ้าพระมารดาของเราเถิด

ทูตทั้งหลายถวายบังคมพระราชาแล้ว ไปยังสำนักของพระมารดาของพระโพธิสัตว์ กราบทูลว่า

ข้าแต่พระเทวี ได้ยินว่า พระองค์ทรงรักษากุรุธรรม ขอพระองค์จงประทานกุรุธรรมนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

พระเทวีตรัสว่า

ดูกรพ่อทั้งหลาย เรารักษากุรุธรรมก็จริง แต่บัดนี้ เราเกิดความรังเกียจในกุรุธรรมนั้น กุรุธรรมนั้นไม่ทำเราให้ยินดี เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่อาจให้แก่ท่านทั้งหลาย

ได้ยินว่า พระเทวีนั้นมีพระโอรส ๒ องค์ คือพระราชาผู้เป็นพระเชษฐาและอุปราชผู้เป็นพระกนิษฐา ครั้งนั้น มีพระราชาองค์หนึ่งทรงส่งแก่นจันทน์อันมีค่าแสนหนึ่ง และดอกไม้ทองมีค่าพันหนึ่งมาถวายพระโพธิสัตว์ พระองค์ทรงคิดว่าจักบูชาพระมารดา จึงทรงส่งของทั้งหมดนั้นไปถวายพระราชมารดา

พระราชมารดาทรงพระดำริว่า “เราจะไม่ลูบไล้แก่นจันทน์ จะไม่ทัดทรงดอกไม้ จักให้แก่นจันทน์และระเบียบดอกไม้นั้นแก่สะใภ้ทั้งสอง”

ลำดับนั้น พระเทวีได้มีความดำริดังนี้ว่า “สะใภ้คนโตของเราเป็นใหญ่ ดำรงอยู่ในตำแหน่งอัครมเหสี เราจักให้ระเบียบดอกไม้ทองแก่สะใภ้คนโต ส่วนสะใภ้คนเล็กเป็นคนยากจน เราจักให้แก่นจันทน์แก่สะใภ้คนเล็ก”

พระนางจึงประทานระเบียบดอกไม้ทองแก่พระเทวีของพระราชา ได้ประทานแก่นจันทน์แก่พระมเหสีของพระอุปราช

ครั้นประทานไปแล้ว พระราชมารดาได้มีความรังเกียจว่า “เรารักษากุรุธรรม ความที่หญิงสะใภ้เหล่านั้น ยากจนหรือไม่ยากจน ไม่เป็นประมาณสำหรับเรา ก็การกระทำเชษฐาปจายิกกรรม (เป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่) เท่านั้นสมควรแก่เรา เพราะความที่เราไม่ทำเชษฐาปจายิกกรรมนั้น ศีลของเราจะแตกทำลายบ้างไหมหนอ”

เพราะฉะนั้น พระราชมารดาจึงตรัสอย่างนั้น

ทูตทั้งหลายจึงกราบทูลพระราชมารดาว่า

ขึ้นชื่อว่าของของตนบุคคลย่อมให้ได้ตามชอบใจ พระองค์ทรงกระทำความรังเกียจด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักทรงกระทำกรรมอันลามกอย่างอื่นได้อย่างไร ธรรมดาศีลย่อมไม่แตกทำลายด้วยเหตุเห็นปานนี้ ขอพระองค์จงประทานกุรุธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด

แล้วถือเอากุรุธรรมในสำนักของพระราชมารดาแม้นั้น จดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

พระราชมารดาตรัสว่า

ดูกรพ่อทั้งหลาย เมื่อเป็นอย่างนั้น กุรุธรรมก็ยังไม่ทำให้เรายินดีพอใจได้ แต่พระสุณิสาของเรารักษากุรุธรรมนั้นได้เป็นอย่างดี ท่านทั้งหลายจงถือเอาในสำนักของพระสุณิสานั้นเถิด

ทูตทั้งหลายจึงพากันไปเฝ้าพระอัครมเหสีทูลขอกุรุธรรมโดยนัยก่อนนั้นแหละ

ฝ่ายพระอัครมเหสีตรัสโดยนัยก่อนเหมือนกัน แล้วตรัสว่า

ชื่อว่าศีลย่อมไม่ทำเราให้ยินดีพอใจ เพราะเหตุนั้น เราไม่อาจให้พวกท่าน

ได้ยินว่า พระอัครมเหสีนั้น วันหนึ่ง ประทับยืนที่สีหบัญชร ได้ทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชประทับนั่งบนหลังช้าง เบื้องหลังพระราชาผู้กำลังทรงประทักษิณเลียบพระนคร บังเกิดความโลภอยากขึ้น ทรงพระดำริว่า “ถ้าเราได้ทำความเชยชิดกับพระมหาอุปราชนี้ไซร้ เมื่อพระเชษฐาสวรรคตไป พระมหาอุปราชนี้ดำรงอยู่ในราชสมบัติ จะได้สงเคราะห์เรา”

ลำดับนั้น พระอัครมเหสีนั้นได้มีความรังเกียจว่า “เรากำลังรักษากุรุธรรมอยู่ ทั้งเป็นผู้มีพระสวามีอยู่ ยังแลดูชายอื่นด้วยอำนาจกิเลส ศีลของเราคงจะต้องแตกทำลาย”

เพราะฉะนั้น พระอัครมเหสีจึงได้ตรัสอย่างนั้น

ทูตทั้งหลายจึงกราบทูลพระอัครมเหสีว่า

ข้าแต่พระแม่เจ้า ธรรมดาว่าการประพฤติล่วงละเมิด ย่อมไม่มีด้วยเหตุเพียงจิตตุปบาทเกิดความคิดขึ้น พระองค์ทรงกระทำความรังเกียจแม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จักทรงกระทำความล่วงละเมิดอะไรได้ ศีลย่อมไม่แตกทำลายด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ขอพระองค์จงประทานกุรุธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด

แล้วถือเอาในสำนักของพระอัครมเหสีแม้นั้น แล้วจดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

พระอัครมเหสีตรัสว่า

ดูกรพ่อทั้งหลาย แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็ยังไม่ทำเราให้ยินดีพอใจ ก็เพราะมหาอุปราชทรงรักษาได้อย่างดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของพระมหาอุปราชเถิด

ทูตทั้งหลายจึงพากันเข้าไปเฝ้าพระมหาอุปราช ทูลขอกุรุธรรมโดยนัยก่อนนั่นแหละ

ก็พระมหาอุปราชนั้น เมื่อเสด็จไปยังที่บำรุงของพระราชาในเวลาเย็น เสด็จไปด้วยรถถึงพระลานหลวงแล้ว ถ้าทรงพระประสงค์จะเสวยในสำนักของพระราชา แล้วทรงบรรทมค้างอยู่ในที่นั้น ก็จะทรงทิ้งเชือกและปฏักไว้ระหว่างแอกรถ ด้วยสัญญาเครื่องหมายนั้น มหาชนบริวารจะกลับไป ต่อเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นจะไปยืนคอยดูพระมหาอุปราชนั้นเสด็จออก ฝ่ายนายสารถีก็จะนำรถนั้นไป ต่อเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น จึงจะนำรถมาจอดที่ประตูพระราชนิเวศน์

ถ้าทรงมีพระประสงค์จะเสด็จในขณะนั้น จะทรงวางเชือกและปฏักไว้เฉพาะภายในรถ แล้วเสด็จไปเฝ้าพระราชา ด้วยสัญญาณนั้น ชนบริวารจะยืนอยู่ที่ประตูพระราชนิเวศน์นั่นเอง ด้วยหมายใจว่า จักเสด็จออกมาในขณะนี้ อันพระมหาอุปราชนั้นทรงกระทำอย่างนั้น แล้วเสด็จเข้าไปยังพระราชนิเวศน์

เมื่อพระมหาอุปราชนั้นพอเสด็จเข้าไปเท่านั้น ฝนก็ตก พระราชาตรัสว่า ฝนกำลังตก จึงไม่ให้พระมหาอุปราชนั้นเสด็จออกมา พระมหาอุปราชจึงทรงเสวยแล้วบรรทมอยู่ในพระราชนิเวศน์นั้นนั่นเอง

ชนบริวารคิดว่า ประเดี๋ยวจักเสด็จออก จึงได้ยืนเปียกฝนอยู่ตลอดคืนยังรุ่ง

ในวันรุ่งขึ้น พระมหาอุปราชจึงเสด็จออกมา ทรงเห็นชนบริวารยืนเปียกฝนอยู่ ทรงเกิดความรังเกียจว่า “เราเมื่อรักษากุรุธรรมอยู่ ยังทำชนมีประมาณเท่านี้ให้ลำบาก ศีลของเราเห็นจะพึงแตกทำลาย”

ด้วยเหตุนั้น พระมหาอุปราชจึงตรัสกะทูตเหล่านั้นว่า

เรารักษากุรุธรรมอยู่ก็จริง แต่บัดนี้ เรามีความรังเกียจอยู่ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่อาจให้แก่ท่านทั้งหลาย

แล้วตรัสบอกเรื่องราวนั้นให้ทราบ

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงทูลพระมหาอุปราชว่า

ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์มิได้มีความคิดว่าชนเหล่านี้จงลำบาก กรรมที่ทำโดยหาเจตนามิได้ ไม่จัดว่าเป็นกรรม เมื่อพระองค์ทรงกระทำความรังเกียจแม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ความล่วงละเมิดจักมีได้อย่างไร

แล้วรับเอาศีลในสำนักของพระมหาอุปราชแม้นั้น จดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

พระมหาอุปราชตรัสว่า

แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็มิได้ทำเราให้ปลื้มอกปลื้มใจได้ ก็ปุโรหิตย่อมรักษาได้ดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของปุโรหิตนั้นเถิด

พวกทูตจึงพากันเข้าไปหาปุโรหิต แล้วขอกุรุธรรม

ฝ่ายปุโรหิตนั้น วันหนึ่ง ไปเฝ้าพระราชาระหว่างทางได้เห็นรถมีสีอ่อน ๆ งดงามเหมือนแสงอาทิตย์อ่อน ๆ ซึ่งพระราชาองค์หนึ่งทรงส่งมาถวายพระราชานั้น จึงถามว่า นี้รถของใคร

ได้ฟังว่านำมาถวายพระราชา จึงคิดว่า เราก็แก่แล้ว ถ้าพระราชาจะพระราชทานรถคันนี้แก่เราไซร้ เราจักขึ้นรถคันนี้เที่ยวไปอย่างสบาย แล้วไปเฝ้าพระราชา

ในเวลาที่ปุโรหิตนั้นถวายพระพรชัยแล้วยืนเฝ้าอยู่ ราชบุรุษต่างเมืองก็ทูลถวายรถแก่พระราชา พระราชาทอดพระเนตรแล้วตรัสว่า รถของเราคันนี้งามเหลือเกิน พวกท่านจงให้แก่อาจารย์ของเราเถิด ปุโรหิตมิได้ปรารถนาจะรับพระราชทาน แม้พระราชาจะตรัสอยู่บ่อย ๆ ก็ไม่ปรารถนาจะรับพระราชทานเลย

เพราะนัยว่า ปุโรหิตนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “เรารักษากุรุธรรมอยู่แท้ ๆ ยังได้กระทำความโลภในสิ่งของของคนอื่น ศีลของเราจะพึงแตกทำลายไปแล้ว”

ปุโรหิตนั้นจึงบอกเรื่องราวนั้นแล้วกล่าวว่า

ดูกรพ่อทั้งหลาย เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมอยู่ กุรุธรรมนั้นมิได้ยังเราให้ปลื้มอกปลื้มใจเลย เพราะฉะนั้น เราไม่อาจให้

ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะปุโรหิตว่า

นาย ศีลย่อมไม่แตกทำลาย ด้วยเหตุเพียงเกิดความโลภอยากได้ ท่านเมื่อกระทำความรังเกียจ แม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ จักกระทำความล่วงละเมิดอะไรได้

แล้วรับเอาศีลในสำนักของปุโรหิตแม้นั้น จดลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

ท่านปุโรหิตกล่าวว่า

แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น กุรุธรรมก็ไม่ยังเราให้ยินดีพอใจได้ ก็อำมาตย์ผู้ถือเชือกรังวัดรักษาได้ดี พวกท่านจงรับเอาในสำนักของอำมาตย์นั้น

ทูตทั้งหลายจึงพากันเข้าไปหาอำมาตย์นั้น แล้วขอกุรุธรรม

ฝ่ายอำมาตย์ผู้รังวัดนั้น วันหนึ่ง เมื่อจะวัดเนื้อที่นาในชนบท จึงเอาเชือกผูกที่ไม้ให้เจ้าของนาจับปลายข้างหนึ่ง ตนเองจับปลายข้างหนึ่ง ไม้ที่ผูกปลายเชือกซึ่งอำมาตย์ถือไปจรดตรงกลางรูปูตัวหนึ่ง อำมาตย์นั้นคิดว่า

ถ้าเราจักปักไม้ลงในรูปู ปูภายในรูจักฉิบหาย ก็ถ้าเราจักปักล้ำไปข้างหน้า เนื้อที่ของหลวงก็จักขาด ถ้าเราจักปักร่นเข้ามา เนื้อที่ของกฏุมพีก็จักขาด เราจะทำอย่างไรดีหนอ

ลำดับนั้น อำมาตย์ผู้นั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ถ้ารูนี้มีปู ปูก็ต้องปรากฎ เราจะปักไม้ตรงนี้แหละ แล้วก็ปักท่อนไม้นั้นลงในรูปู ฝ่ายปูก็ส่งเสียงดังกริ๊ก ๆ

ลำดับนั้น อำมาตย์นั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า "ท่อนไม้จักปักลงบนหลังปู ปูก็จักตายและเราก็รักษากุรุธรรม เพราะเหตุนั้น ศีลของเราคงจะแตกทำลาย”

อำมาตย์นั้นจึงบอกเรื่องราวนั้นแก่ทูตทั้งหลายแล้วกล่าวว่า

เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวมานี้ เราจึงมีความรังเกียจในกุรุธรรม ด้วยเหตุนั้น เราจึงไม่อาจให้แก่พวกท่าน

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะอำมาตย์นั้นว่า

ท่านไม่มีจิตคิดว่า ปูจงตาย กรรมที่ไม่มีเจตนาความจงใจ ไม่ชื่อว่าเป็นกรรม ท่านกระทำความรังเกียจแม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ จักกระทำความล่วงละเมิดอะไรได้

แล้วรับเอาศีลในสำนักของอำมาตย์แม้นั้น แล้วจดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

ก็แหละ อำมาตย์นั้นพูดว่า

แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ กุรุธรรมก็มิได้ทำข้าพเจ้าให้ปลื้มใจ ก็นายสารถีรักษาได้อย่างดี ท่านทั้งหลายจงรับเอาในสำนักของนายสารถีนั้นเถิด

ทูตทั้งหลายจึงเข้าไปหานายสารถี แม้นั้นแล้วขอกุรุธรรม

นายสารถีนั้น วันหนึ่ง นำเสด็จพระราชาไปยังราชอุทยานด้วยราชรถ พระราชาทรงเล่นในพระราชอุทยานนั้นตลอดวัน ในเวลาเย็น จึงเสด็จออกจากพระราชอุทยาน เสด็จขึ้นทรงรถ เมื่อราชรถนั้นยังไม่ทันถึงพระนคร เมฆฝนก็ตั้งขึ้นในเวลาที่พระอาทิตย์จะอัศดงคต

เพราะกลัวว่าพระราชาจะเปียกฝน นายสารถีจึงได้ให้สัญญาณด้วยปฏักแก่ม้าสินธพทั้งหลาย ๆ จึงควบไปด้วยความเร็ว ก็แหละตั้งแต่นั้นมา ม้าสินธพเหล่านั้น ขาไปยังพระราชอุทยานก็ดี ขามาจากพระราชอุทยานนั้นก็ดี พอถึงที่ตรงนั้น ก็วิ่งควบไปด้วยความเร็ว

เพราะนัยว่า ม้าสินธพเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ในที่นี้ จะพึงมีภัยเป็นแน่ นายสารถีของพวกเราจึงได้ให้สัญญาณด้วยปฏักในคราวนั้น

แม้นายสารถีก็มีความคิดดังนี้ว่า “ในเมื่อพระราชาจะเปียกฝนหรือไม่เปียกฝนก็ตาม เราย่อมไม่มีโทษ แต่เราได้ให้สัญญาปฏักแก่ม้าสินธพที่ฝึกหัดมาดีแล้วในสถานที่อันไม่ควร ด้วยเหตุนั้น ม้าสินธพเหล่านี้วิ่งควบทั้งไปและมา ลำบากอยู่จนเดี๋ยวนี้ และเราก็รักษากุรุธรรม ด้วยเหตุนั้น ศีลของเราคงจะแตกทำลายแล้ว”

นายสารถีนั้นจึงบอกเรื่องราวนั้นให้ทราบ แล้วกล่าวว่า

เพราะเหตุนี้ เราจึงมีความรังเกียจในกุรุธรรม เพราะฉะนั้น เราไม่อาจให้แก่พวกท่านได้

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะนายสารถีนั้นว่า

ท่านไม่มีจิตคิดว่า ม้าสินธพทั้งหลายจงลำบาก กรรมที่ไม่มีเจตนาคือความจงใจไม่จัดว่าเป็นกรรม อนึ่ง ท่านกระทำความรังเกียจด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักกระทำความล่วงละเมิดได้อย่างไร

แล้วจึงรับเอาศีลในสำนักของนายสารถีนั้น จดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

ก็แหละ นายสารถีนั้นกล่าวว่า

แม้เมื่อเป็นอย่างนั้นศีลก็มิได้ทำเราให้ปลื้มใจได้ แต่ท่านเศรษฐีรักษาได้ดี พวกท่านจงรับเอาในสำนักของท่านเศรษฐีนั้นเถิด

พวกทูตจึงเข้าไปหาท่านเศรษฐีนั้น แล้วขอกุรุธรรม

แม้เศรษฐีนั้น วันหนึ่งไปนำข้าวสาลีของตน พิจารณารวงข้าวสาลีที่ออกจากท้อง เมื่อจะกลับ คิดว่าจักผูกรวงข้าวให้เป็นพุ่มข้าวเปลือก จึงให้คนผูกรวงข้าวสาลีกำหนึ่งผูกเป็นจุกไว้

ลำดับนั้น ท่านเศรษฐีได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราจะต้องให้ค่าภาคหลวงจากนานี้ แต่เราก็ได้ให้คนถือเอารวงข้าวสาลีกำหนึ่งจากนาที่ยังไม่ได้ให้ค่าภาคหลวง ก็เรารักษากุรุธรรม เพราะเหตุนั้น ศีลของเราคงจะแตกทำลายแล้ว”

ท่านเศรษฐีนั้นจึงบอกเรื่องราวนั้นแก่ทูตทั้งหลายแล้ว กล่าวว่า

เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมด้วยเหตุนี้ เพราะเหตุนั้น เราไม่อาจให้กุรุธรรมแก่พวกท่าน

ลำดับนั้น ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะท่านเศรษฐีว่า

ท่านไม่มีไถยจิตคิดจะลัก เว้นจากไถยจิตนั้น ใคร ๆ ไม่อาจบัญญัติอทินนาทานได้ ก็ท่านกระทำความรังเกียจแม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จักถือเอาของของคนอื่นได้อย่างไร

แล้วรับเอาศีลในสำนักของเศรษฐีแม้นั้น จารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

ท่านเศรษฐีกล่าวว่า

แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็ยังมิได้ทำให้เราปลื้มใจได้ แต่ท่านอำมาตย์ผู้ตวงข้าวหลวงรักษาได้ดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของอำมาตย์ผู้ตวงข้าวนั้นเถิด

ทูตทั้งหลายจึงพากันเข้าไปหาท่านอำมาตย์ผู้ตวงข้าวแล้วขอกุรุธรรม

ได้ยินว่า อำมาตย์ผู้ตวงข้าวนั้น วันหนึ่งให้คนนับข้าวเปลือกอันเป็นส่วนของหลวง ส่วนตนเอาข้าวเปลือกจากกองข้าวที่ยังไม่ได้นับใส่คะแนน ขณะนั้น ฝนตก มหาอำมาตย์จึงเพิ่มคะแนนข้าวเปลือก แล้วกล่าวว่า ข้าวเปลือกที่นับแล้ว มีประมาณเท่านี้ แล้วโกยข้าวเปลือกที่เป็นคะแนนใส่ลงในกองข้าวเปลือกที่นับแล้ว ก็รีบไปยืนที่ซุ้มประตู แล้วคิดว่า เราใส่ข้าวเปลือกคะแนนในกองข้าวที่นับแล้ว หรือใส่ในกองข้าวที่ยังไม่ได้นับ

ลำดับนั้น ท่านมหาอำมาตย์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ถ้าเราใส่ในกองข้าวเปลือกที่นับไว้แล้ว ของหลวงก็จะเพิ่มขึ้นโดยมิใช่เหตุ ของคฤหบดีทั้งหลายก็จะขาดไป และเราก็รักษากุรุธรรม ด้วยเหตุนั้น ศีลของเราจะต้องแตกทำลายแล้ว”

ท่านมหาอำมาตย์นั้นจึงบอกเรื่องราวนั้นแล้วกล่าวว่า

เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมด้วยเหตุนี้ เพราะเหตุนั้น เราไม่อาจให้แก่พวกท่าน

ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะท่านมหาอำมาตย์นั้นว่า

ท่านไม่มีไถยจิตคิดจะลัก เว้นไถยจิตนั้นเสีย ใคร ๆ ไม่อาจบัญญัติอทินนาทานได้ ก็ท่านกระทำความรังเกียจด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ อย่างไรจักถือเอาสิ่งของของคนอื่น

แล้วรับเอาศีลในสำนักของมหาอำมาตย์ผู้ตวงข้าวนั้น จารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

ท่านมหาอำมาตย์กล่าวว่า

แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็มิได้ทำเราให้ปลื้มใจยินดีได้ แต่นายประตูรักษาได้ดี ท่านทั้งหลายจงถือเอาในสำนักของนายประตูนั้นเถิด

ทูตทั้งหลายจึงพากันเข้าไปหานายประตู แม้นั้นแล้วขอกุรุธรรม

ฝ่ายนายประตูนั้น วันหนึ่ง เวลาจะปิดประตูเมืองได้ออกเสียงประกาศขึ้น ๓ ครั้ง

ครั้งนั้น มีคนเข็ญใจคนหนึ่งเข้าป่าหาฟืนและหญ้ากับน้องสาวกำลังกลับมา ได้ยินเสียงนายประตูนั้นประกาศ จึงรีบพาน้องสาวมาทันพอดี

ลำดับนั้น นายประตูกล่าวกะคนเข็ญใจนั้นว่า ท่านไม่รู้ว่าพระราชามีอยู่ในพระนครนี้หรือ ท่านไม่รู้หรือว่า เขาจะต้องปิดประตูพระนครนี้ แต่เวลายังวัน ท่านพาภรรยาของตนเที่ยวไปในป่า เที่ยวเล่นรื่นเริงตลอดวัน

ครั้นเมื่อคนเข็ญใจกล่าวว่า ไม่ใช่ภรรยาฉันดอกนาย หญิงคนนี้เป็นน้องสาวของฉันเอง

นายประตูนั้นจึงมีความปริวิตกดังนี้ว่า “เราเอาน้องสาวเขามาพูดว่าเป็นภรรยา กระทำกรรมอันหาเหตุมิได้หนอ และเราก็รักษากุรุธรรม ด้วยเหตุนั้น ศีลของเราจะพึงแตกทำลายแล้ว”

นายประตูนั้นจึงบอกเรื่องราวนั้นแล้วกล่าวว่า

เรามีความรังเกียจในกุรุธรรมด้วยเหตุนี้ เพราะเหตุนั้น เราไม่อาจให้แก่พวกท่านได้

ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะนายประตูนั้นว่า

คำนั้นท่านกล่าวตามความสำคัญอย่างนั้น ในข้อนี้ความแตกทำลายแห่งศีลจึงไม่มีแก่ท่าน ก็ท่านรังเกียจด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้ จักกระทำสัมปชานมุสาวาทกล่าวเท็จทั้งรู้ในกุรุธรรมได้อย่างไร

แล้วถือเอาศีลในสำนักของนายประตูแม้นั้น จดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

ก็แหละ นายประตูนั้นกล่าวว่า

แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น ศีลก็ยังไม่ทำให้เรายินดีปลื้มใจได้ แต่นางวรรณทาสีรักษาได้ดี พวกท่านจงถือเอาในสำนักของนางวรรณทาสีแม้นั้นเถิด

ทูตทั้งหลายจึงพากันเข้าไปหานางวรรณทาสีนั้น แล้วขอกุรุธรรม

ฝ่ายนางวรรณทาสี ก็ปฏิเสธโดยนัยอันมีในหนหลังนั่นแหละ

ได้ยินว่า ท้าวสักกะจอมเทวดาทรงดำริว่าจักทดลองศีลของนาง จึงแปลงเพศเป็นมาณพน้อยมาพูดว่า ฉันจักมาหา แล้วให้ทรัพย์ไว้พันหนึ่ง กลับไปยังเทวโลก แล้วไม่มาถึง ๓ ปี

นางวรรณทาสีนั้นไม่รับสิ่งของแม้มาตรว่าหมากพลูจากมือชายอื่นถึง ๓ ปี เพราะกลัวศีลของตนขาด นางยากจนลงโดยลำดับ จึงคิดว่า เมื่อชายผู้ให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่เราแล้วไปเสีย ไม่มาถึง ๓ ปี เราจึงยากจน ไม่อาจสืบต่อชีวิตต่อไปได้ จำเดิมแต่บัดนี้ไป เราควรบอกแก่มหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยความ แล้วรับเอาค่าใช้จ่าย

นางจึงไปศาลกล่าวฟ้องว่า เจ้านาย บุรุษผู้ให้ค่าใช้จ่ายแก่ดิฉัน แล้วไปเสีย ๓ ปีแล้ว ดิฉันไม่ทราบว่าเขาตายแล้วหรือยังไม่ตาย ดิฉันไม่อาจสืบต่อเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ เจ้านาย ดิฉันจะทำอย่างไร

มหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยอรรถคดีกล่าวตัดสินว่า เมื่อเขาไม่มาถึง ๓ ปี ท่านจักทำอะไร ตั้งแต่นี้ท่านจงรับค่าใช้จ่ายได้

เมื่อนางวรรณทาสีนั้นได้รับการวินิจฉัยตัดสินแล้ว พอออกจากศาลที่วินิจฉัยเท่านั้น บุรุษคนหนึ่งก็น้อมนำห่อทรัพย์พันหนึ่งเข้าไปให้ ในขณะที่นางเหยียดมือจะรับ ท้าวสักกะก็แสดงพระองค์ให้เห็น นางพอเห็นท้าวสักกะนั้นเท่านั้นจึงหดมือพร้อมกับกล่าวว่า บุรุษผู้ให้ทรัพย์แก่เราพันหนึ่งเมื่อ ๓ ปีก่อน ได้กลับมาแล้ว ดูกรพ่อ เราไม่ต้องการกหาปณะของท่าน

ท้าวสักกะจึงแปลงร่างกายของพระองค์ทันที ได้ประทับยืนอยู่ในอากาศเปล่งแสงโชติช่วงประดุจดวงอาทิตย์อ่อน ๆ พระนครทั้งสิ้นพากันตื่นเต้น ท้าวสักกะได้ประทานโอวาทในท่ามกลางมหาชนว่า เมื่อ ๓ ปีมาแล้ว เราได้ให้ทรัพย์พันหนึ่ง เนื่องด้วยจะทดลองนางวรรณทาสีนี้ ท่านทั้งหลายชื่อว่า เมื่อจะรักษาศีลจงเป็นผู้เห็นปานนี้ จงรักษาเถิด

แล้วทรงบันดาลให้นิเวศน์ของนางวรรณทาสีเต็มด้วยรัตนะ ๗ ประการ ทรงอนุศาสน์พร่ำสอนนางวรรณทาสีนั้นว่า เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาทตั้งแต่บัดนี้ไป

แล้วได้เสด็จไปยังเทวโลกนั่นแล

เพราะเหตุนี้ นางวรรณทาสีนั้นจึงปฏิเสธห้ามปรามทูตทั้งหลายว่า

เรายังมิได้เปลื้องค่าจ้างที่รับไว้ ได้ยื่นมือไปรับค่าจ้างที่ชายอื่นให้ด้วยเหตุนี้ ศีลจึงทำเราให้ยินดีปลื้มใจไม่ได้ เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่อาจให้แก่ท่านทั้งหลาย

ทูตทั้งหลายจึงกล่าวกะนางวรรณทาสีนั้นว่า

ศีลเภทศีลแตกทำลายย่อมไม่มีด้วยเหตุสักว่ายื่นมือ ชื่อว่าศีลย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่งด้วยประการอย่างนี้

แล้วรับเอาศีลในสำนักของนางวรรณทาสีแม้นั้น จดจารึกลงในแผ่นสุพรรณบัฏ

ทูตทั้งหลายจารึกศีลที่ชนทั้ง ๑๑ คนนั้นรักษาลงในแผ่นสุพรรณบัฏด้วยประการดังนี้แล้ว ได้ไปยังทันตปุรนคร ถวายแผ่นสุพรรณบัฏแก่พระเจ้ากาลิงคราช แล้วกราบทูลประพฤติเหตุนั้นให้ทรงทราบ

พระราชาเมื่อทรงประพฤติกุรุธรรมนั้น ทรงบำเพ็ญศีล ๕ ให้บริบูรณ์ ในกาลนั้น ฝนก็ตกลงในแว่นแคว้นกาลิงครัฐทั้งสิ้น ภัยทั้ง ๓ ก็สงบระงับและแว่นแคว้นก็ได้มีความเกษมสำราญ มีภักษาหารสมบูรณ์

พระโพธิสัตว์ทรงกระทำบุญมีทานเป็นต้นตราบเท่าพระชนมายุ พร้อมทั้งบริวารได้ทำเมืองสวรรค์ให้เต็มบริบูรณ์.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศอริยสัจ ในเวลาจบอริยสัจ บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี บางพวกได้เป็นพระอรหันต์

แล้วทรงประชุมชาดกว่า

นางวรรณทาสีหญิงคณิกา ได้เป็น นางอุบลวรรณา
นายประตูในครั้งนั้น ได้เป็น พระปุณณะ
โทณมาปกะอำมาตย์ผู้ตวงข้าว ได้เป็น พระโมคคัลลานะ
เศรษฐีในครั้งนั้น ได้เป็น พระสารีบุตร
นายสารถีได้เป็น พระอนุรุทธะ
รัชชุคาหกะอำมาตย์ผู้รังวัด ได้เป็น พระกัจจายนะ
ปุโรหิต ได้เป็น พระกัสสปเถระ
พระมหาอุปราช ได้เป็น พระนันทะผู้บัณฑิต
พระมเหสีในครั้งนั้น ได้เป็น ราหุลมารดา
พระชนนีในครั้งนั้น ได้เป็น พระมายาเทวี
พระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ ได้เป็น เราตถาคต


(๑๖) สีลมยญาณ

ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสำรวมไว้ ชื่อว่าสีลมยญาณอย่างไร

ศีล ๕ ประเภท คือ

ปริยันตปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์มีส่วนสุด ๑  

อปริยันตปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์ไม่มีส่วนสุด ๑  

ปริปุณณปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์เต็มรอบ ๑  

อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์อันทิฐิไม่จับต้อง ๑

ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์โดยระงับ ๑

ปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นไฉน

ปริยันตปาริสุทธิของอนุปสัมบันผู้มีสิกขาบท มี

อปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นไฉน

อปริยันตปาริสุทธิศีลนของอุปสัมบันผู้มีสิกขาบท ไม่มี

ปริปุณณปาริสุทธิศีลเป็นไฉน

ปริปุณณปาริสุทธิศีลของกัลยาณปุถุชนผู้ประกอบในกุศลธรรม ผู้กระทำให้บริบูรณ์ในธรรมอันเป็นที่สุดของพระอเสขะ ผู้ไม่อาลัยในร่างกายและชีวิต ผู้สละชีวิตแล้ว

อปรามัฏฐปาริสุทธิศีลเป็นไฉน

อปรามัฏฐปาริสุทธิศีลนี้ ของพระเสขะ ๗ จำพวก

ปฏิปัสสัทธิปริสุทธิศีลเป็นไฉน

ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีลนี้ของพระขีณาสพสาวกพระตถาคตเจ้า ของพระปัจเจกพุทธเจ้า และของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ


ศีลมีที่สุดก็มี ศีลไม่มีที่สุดก็มี ในศีล ๒ อย่างนั้น

ศีลมีที่สุดนั้นเป็นไฉน  

ศีลมีที่สุดเพราะลาภก็มี  
ศีลมีที่สุดเพราะยศก็มี  
ศีลมีที่สุดเพราะญาติก็มี
ศีลมีที่สุดเพราะอวัยวะก็มี  
ศีลมีที่สุดเพราะชีวิตก็มี

ศีลมีที่สุดเพราะลาภนั้นเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมล่วงสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งลาภ เพราะปัจจัยแห่งลาภ เพราะการณ์แห่งลาภ ศีลนี้เป็นลาภปริยันต

ศีลมีที่สุดเพราะยศนั้นเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมล่วงสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งยศ เพราะปัจจัยแห่งยศ เพราะการณ์แห่งยศ ศีลนี้เป็นยสปริยันตศีล

ศีลมีที่สุดเพราะญาตินั้นเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมล่วงสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งญาติ เพราะปัจจัยแห่งญาติ เพราะการณ์แห่งญาติ ศีลนี้เป็นญาติปริยันตศีล

ศีลมีที่สุดเพราะอวัยวะนั้นเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมล่วงสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งอวัยวะ เพราะปัจจัยแห่งอวัยวะ เพราะการณ์แห่งอวัยวะ ศีลนี้เป็นอังคปริยันตศีล

ศีลมีที่สุดเพราะชีวิตนั้นเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมล่วงสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งชีวิต เพราะปัจจัยแห่งชีวิต เพราะการณ์แห่งชีวิต ศีลนี้เป็นชีวิตปริยันตศีล

ศีลเห็นปานนี้เป็นศีลขาด เป็นศีลทะลุ ด่าง พร้อย ไม่เป็นไทย วิญญูชนไม่สรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิจับต้องแล้ว ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความปราโมทย์ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งปีติ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความระงับ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความสุข ไม่เป็นที่ตั้งแห่งสมาธิ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งยถาภูตญาณทัสนะ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว ศีลนี้เป็นปริยันต

ศีลไม่มีที่สุดนั้นเป็นไฉน

ศีลไม่มีที่สุดเพราะลาภก็มี
ศีลไม่มีที่สุดเพราะยศก็มี
ศีลไม่มีที่สุดเพราะญาติก็มี
ศีลไม่มีที่สุดเพราะอวัยวะก็มี
ศีลไม่มีที่สุดเพราะชีวิตก็มี

ศีลไม่มีที่สุดเพราะลาภเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้แม้ความคิดก็ไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อจะล่วงสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้  เพราะเหตุแห่งลาภ เพราะปัจจัยแห่งลาภ เพราะการณ์แห่งลาภ อย่างไรเขาจักล่วงสิกขาบทเล่า ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะลาภ

ศีลไม่มีที่สุดเพราะยศนั้นเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้ความคิดก็ไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อจะล่วงสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งยศ เพราะปัจจัยแห่งยศ เพราะการณ์แห่งยศ อย่างไรเขาจักล่วงสิกขาบทเล่า ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะยศ
             
ศีลไม่มีที่สุดเพราะญาตินั้นเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้ความคิดก็ไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อจะล่วงสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งญาติ เพราะปัจจัยแห่งญาติ เพราะการณ์แห่งญาติ อย่างไรเขาจักล่วงสิกขาบทเล่า ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะญาติ ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะญาติ

ศีลไม่มีที่สุดเพราะอวัยวะนั้นเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้ความคิดก็ไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อจะล่วงสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งอวัยวะ เพราะปัจจัยแห่งอวัยวะ เพราะการณ์แห่งอวัยวะ อย่างไรเขาจักล่วงสิกขาบทเล่า ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะอวัยวะ ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะญาติ ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะอวัยวะ

ศีลไม่มีที่สุดเพราะชีวิตนั้นเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้ความคิดก็ไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อล่วงสิกขาบท ตามที่ตนสมาทานไว้ เพราะเหตุแห่งชีวิต เพราะปัจจัยแห่งชีวิต เพราะการณ์แห่งชีวิต อย่างไรเขาจักล่วงสิกขาบทเล่า ศีลนี้เป็นศีลไม่มีที่สุดเพราะชีวิต

ศีลเห็นปานนี้เป็นศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิไม่จับต้อง เป็นไปเพื่อสมาธิ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน เป็นที่ตั้งแห่งความปราโมทย์ เป็นที่ตั้งแห่งปีติ เป็นที่ตั้งแห่งความระงับ เป็นที่ตั้งแห่งความสุข เป็นที่ตั้งแห่งสมาธิ เป็นที่ตั้งแห่งยถาภูตญาณทัสนะ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว ศีลนี้เป็นอปริยันตศีล


อะไรเป็นศีล คือ

เจตนาเป็นศีล
เจตสิกเป็นศีล
ความสำรวมเป็นศีล
ความไม่ล่วงเป็นศีล

ศีลมีเท่าไร คือ

ศีล ๓ คือ
กุศลศีล
อกุศลศีล
อัพยากตศีล

ศีลมีอะไรเป็นสมุฏฐาน คือ

กุศลศีลมีกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน
อกุศลศีลมีอกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน
อัพยากตศีลมีอัพยากตจิตเป็นสมุฏฐาน

ศีลเป็นที่ประชุมแห่งธรรมอะไร คือ

ศีลเป็นที่ประชุมแห่งสังวร เป็นที่ประชุมแห่งการไม่ก้าวล่วง เป็นที่ประชุมแห่งเจตนาอันเกิดในความเป็นอย่างนั้น

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฐิ  

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงความพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท ...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงถีนมิทธิด้วยอาโลกสัญญา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงอุทธัจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงวิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรม

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงอวิชชาด้วยญาณ...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงอรติด้วยความปราโมทย์...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงปีติด้วยตติยฌาน...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงสุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญาด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนสัญญาด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนสัญญาด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสนา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงสุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสนา...  

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสนา...  

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงนันทิด้วยนิพพิทานุปัสนา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงราคะด้วยวิราคานุปัสนา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงสมุทัยด้วยนิโรธานุปัสนา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงอาทานะด้วยปฏินิสสัคคานุปัสนา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงฆนสัญญาด้วยวยานุปัสนา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงธุวสัญญาด้วยวิปริณามานุปัสนา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงนิมิตด้วยอนิมิตตานุปัสนา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงปณิธิด้วยอัปปณิหิตานุปัสนา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงอภินิเวสด้วยสุญญตานุปัสนา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงสาราทานาภินิเวสด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา....

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงสัมโมหาภินิเวสด้วยยถาภูตญาณทัสนะ...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงอาลยาภินิเวสด้วยอาทีนวานุปัสนา...  

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงอัปปฏิสังขาด้วยปฏิสังขานุปัสนา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงสังโยคาภินิเวสด้วยวิวัฏฏนานุปัสนา...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงกิเลสที่ตั้งอยู่ร่วมกันกับทิฐิด้วยโสดาปัตติมรรค...

ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงกิเลสหยาบ ๆ ด้วยสกทาคามิมรรค กิเลสละเอียดด้วยอนาคามิมรรค ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่าสำรวม และไม่ก้าวล่วงกิเลสทั้งปวงด้วย


ศีล ๕ ประเภท คือ

๑. การละปาณาติบาตเป็นศีล
๒. การงดเว้นเป็นศีล
๓. เจตนาเป็นศีล
๔. สังวรเป็นศีล
๕. การไม่ล่วงเป็นศีล

ศีลเห็นปานนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เดือดร้อนแห่งจิต เพื่อความปราโมทย์ เพื่อปีติ เพื่อปัสสัทธิ เพื่อโสมนัส เพื่อการเสพโดยเอื้อเฟื้อ เพื่อความเจริญ เพื่อทำให้มาก เพื่อเป็นเครื่องประดับ เพื่อเป็นบริขาร เพื่อเป็นบริวาร เพื่อความบริบูรณ์ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว

บรรดาศีลเห็นปานนี้ สังวรปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์ด้วยความสำรวมเป็นอธิศีล จิตตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ด้วยความสำรวม ย่อมไม่ถึงความฟุ้งซ่าน

อวิกเขปปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์คือความที่จิตไม่ฟุ้งซ่านเป็นอธิจิต พระโยคาวจร ย่อมเห็นสังวรปาริสุทธิโดยชอบ ย่อมเห็นอวิกเขปปาริสุทธิโดยชอบ

ทัสนปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งทัสสนะ เป็นอธิปัญญา
 
ในความสำรวม ความไม่ฟุ้งซ่าน และทัสนะนั้น ความสำรวมเป็นอธิศีลสิกขา ความไม่ฟุ้งซ่านเป็นอธิจิตสิกขา ความเห็นแจ้งเป็นอธิปัญญาสิกขา

พระโยคาวจรเมื่อนึกถึงสิกขา ๓ นี้ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อพิจารณา เมื่ออธิษฐานจิต เมื่อน้อมใจไปด้วยศรัทธา เมื่อประคองความเพียรไว้ เมื่อตั้งสติมั่น เมื่อตั้งจิตไว้ เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อละธรรมที่ควรละ เมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญ เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าย่อมศึกษาทุกอย่าง

การละอทินนาทานเป็นศีล ฯลฯ

การละสัมผัปปลาปะ ฯลฯ

การละอภิชฌา ฯลฯ

การละพยาบาท ฯลฯ

การละมิจฉาทิฐิ ฯลฯ

การละกามฉันทะด้วยเนกขัมมะ ฯลฯ

การละความพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท ฯลฯ

การละถีนมิทธะด้วยอาโลกสัญญา ฯลฯ

การละอุทธัจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ

การละวิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรม ฯลฯ

การละอวิชชาด้วยญาณ ฯลฯ

การละอรติด้วยความปราโมทย์ ฯลฯ

การละนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน ฯลฯ

การละวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน ฯลฯ

การละปีติด้วยตติยฌาน ฯลฯ

การละสุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน ฯลฯ

การละรูปสัญญาปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ฯลฯการละอากาสานัญจายตนสัญญาด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ฯลฯ

การละวิญญาณัญจายตนสัญญาด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ฯลฯ

การละอากิญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ฯลฯ

การละนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสนา ฯลฯ

การละสุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสนา ฯลฯ

การละอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสนา ฯลฯ

การละนันทิด้วยนิพพิทานุปัสนา ฯลฯ

การละราคะด้วยวิราคานุปัสนา ฯลฯ

การละสมุทัยด้วยนิโรธานุปัสนา ฯลฯ

การละอาทานะด้วยปฏินิสสัคคานุปัสนา ฯลฯ

การละฆนสัญญาด้วยขยานุปัสนา ฯลฯ

การละอายุหนะด้วยวยานุปัสนา ฯลฯ ฯลฯ

การละธุวสัญญาด้วยวิปริณามานุปัสนา ฯลฯ

การละนิมิตด้วยอนิมิตตานุปัสนา ฯลฯ

การละปณิธิด้วยอัปปณิหิตานุปัสนา ฯลฯ

การละอภินิเวสด้วยสุญญตานุปัสนา ฯลฯ

การละสาราทานาภินิเวสด้วยอธิปัญญาธรรมวิปัสสนา ฯลฯ

การละสัมโมหาภินิเวสด้วยยถาภูตญาณทัสนะ ฯลฯ

การละอาลยาภินิเวสด้วยอาทีนวานุปัสนา ฯลฯ

การละอัปปฏิสังขาด้วยปฏิสังขานุปัสนา ฯลฯ

การละสังโยคาภินิเวสด้วยวิวัฏฏนานุปัสนา ฯลฯ

การละกิเลสที่ตั้งอยู่ร่วมกันกับทิฐิด้วยโสดาปัตติมรรค ฯลฯ

การละกิเลสที่หยาบ ๆ ด้วยสกทาคามิมรรค ฯลฯ

การละกิเลสที่ละเอียดด้วยอนาคามิมรรค ฯลฯ

๑. การละกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค เป็นศีล
๒. การเว้นกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค เป็นศีล
๓. เจตนาที่เป็นข้าศึกต่อกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค เป็นศีล
๔. ความสำรวมกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค เป็นศีล
๕. ความไม่ล่วงละเมิดกิเลสทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรค เป็นศีล

การละนั้น ๆ เป็นศีล เวรมณีเป็นศีล  

ศีลเห็นปานนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เดือดร้อนแห่งจิต เพื่อความปราโมทย์ เพื่อปีติ เพื่อปัสสัทธิ เพื่อโสมนัส เพื่อการเสพโดยเอื้อเฟื้อ เพื่อความเจริญ เพื่อทำให้มาก เพื่อเป็นเครื่องประดับ เพื่อเป็นบริขาร เพื่อเป็นบริวาร เพื่อความบริบูรณ์ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว

บรรดาศีลเห็นปานนี้ สังวรปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์ด้วยความสำรวมเป็นอธิศีล จิตตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ด้วยความสำรวม ย่อมไม่ถึงความฟุ้งซ่าน

อวิกเขปปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์คือความที่จิตไม่ฟุ้งซ่านเป็นอธิจิต พระโยคาวจร ย่อมเห็นสังวรปาริสุทธิโดยชอบ ย่อมเห็นอวิกเขปปาริสุทธิโดยชอบ

ทัสนปาริสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งทัสสนะ เป็นอธิปัญญา

ในความสำรวม ความไม่ฟุ้งซ่าน และทัสนะนั้น ความสำรวมเป็นอธิศีลสิกขา ความไม่ฟุ้งซ่านเป็นอธิจิตสิกขา ความเห็นแจ้งเป็นอธิปัญญาสิกขา

พระโยคาวจรเมื่อนึกถึงสิกขา ๓ นี้ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อรู้ เมื่อเห็น เมื่อพิจารณา เมื่ออธิษฐานจิต เมื่อน้อมใจไปด้วยศรัทธา เมื่อประคองความเพียรไว้ เมื่อตั้งสติมั่น เมื่อตั้งจิตไว้ เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา เมื่อรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เมื่อละธรรมที่ควรละ เมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญ เมื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าย่อมศึกษาทุกอย่าง

ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ๆ ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสำรวมไว้เป็นสีลมยญาณ

 

 

 

อ้างอิง :
(๑) ปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๘๙ หน้า
(๒) สมณมุณฑิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๓๖๓
(๓) เจตนาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๒๐๙ หน้า ๒๘๙-๒๙๐
(๔) นาถสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๑๗ หน้า ๒๓-๒๔
(๕) ภิกขุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๖๘๗
(๖) พลกรณียสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๒๖๔
(๗) สัมมัปปธานสังยุต พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๐๙๓
(๘) หิมวันตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๓๕๕
(๙) อากังขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๗๑
(๑๐) สีลวเถรคาถา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๖ ข้อที่ ๓๗๘ หน้า ๓๐๗
(๑๑) ทานูปปัตติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๒๕ หน้า ๑๘๖-๑๘๗
(๑๒) สีลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๒๑๓ หน้า ๒๒๖-๒๒๗
(๑๓) กิมัตถิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๑ หน้า ๑-๒
(๑๔) อรรถกถาสาธุสีลชาดก พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๕๗ หน้า ๒๗๑-๒๗๔
(๑๕) อรรถกถากุรุธรรมชาดก พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๕๘ หน้า ๑๘๙-๒๑๔
(๑๖) สีลมยญาณ ปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๘๖-๙๑ หน้า

 

คำต่อไป