พระมหากัสสปเถระ
พระมหากัสสปเถระเป็นหนึ่งในพระอัครสาวกองค์สำคัญ ท่านได้ทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ โดยสั่งสมบุญสมภารอันเป็นอุปนิสัยแห่งวิวัฏฏะไว้ในภพนั้น ๆ
ในชาติสุดท้าย เป็นบุตรของกบิลพราหมณ์ แห่งกัสสปโคตร ณ บ้านมหาติตถะ แคว้นมคธ มีนามเดิมว่า ปิปผลิมาณพ ต่อมาได้แต่งงานกับนางภัททกาปิลานี แห่งตระกูลโกลิยะ ทั้งสองไม่มีใจฝักใฝ่ในโลกียวิสัย จึงเป็นสามีภรรยากันแต่เพียงในนาม ไม่ได้ข้องเกี่ยวกันในทางกามคุณ
เมื่อบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตแล้ว ทรัพย์สมบัติของสองตระกูลก็ถูกรวมเข้าด้วยกันเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งสองได้ยกให้แก่ญาติ บริวาร และคนยากจน แล้วออกบวชอุทิศแด่พระศาสดา
ด้วยกำลังแห่งคุณความดี จึงเกิดแผ่นดินไหวในที่ที่คนทั้งสองพรากจากกัน ทราบไปถึงพระผู้มีพระภาคซึ่งประทับอยู่ในพระเวฬุวันวิหาร ว่าทั้งสองบวชอุทิศพระองค์ พระองค์จึงทรงสงเคราะห์คนทั้งสอง
พระผู้มีพระภาคทรงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ทำการต้อนรับ ๓ คาวุต นั่งขัดสมาธิอยู่ที่ควงไม้พหุปุตตนิโครธ ในระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ทรงถือเอาเพศของพระพุทธเจ้า ประทับนั่งเปล่งพระพุทธรัศมีประมาณ ๘๐ ศอก ทำให้ทั่วทั้งป่านั้นมีแสงสว่างเป็นอันเดียวกันด้วยสิริแห่งพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เมื่อเห็นดังนั้นท่านกัสสปะเถระประกาศว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของตนและตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคประทานอุปสมบทแก่พระกัสสป ด้วยโอวาท ๓ ข้อ ชื่อ โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา ได้แก่อุปสัมปทาที่ทรงอนุญาตแก่พระมหากัสสปเถระด้วยการรับโอวาทนี้ว่า
เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ผู้ใหม่ ผู้ปานกลาง อย่างแรงกล้า
เราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกุศล เงี่ยหูฟังธรรมนั้นทั้งหมด ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ รวบรวมไว้ทั้งหมดด้วยใจ
สติที่เป็นไปในกายของเรา ซึ่งประกอบด้วยความรำคาญ จักไม่ละเราเสีย
จากนั้นทรงทำพระเถระให้เป็นปัจฉาสมณะแล้วทรงออกเดินทาง โดยพระกัสสปเดินตามรอยพระบาทไป ในระหว่างทางพระพุทธองค์ได้ทำการแลกเปลี่ยนจีวรกันกับพระเถระ ทำให้มหาปฐพีไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากจีวรของพระพุทธเจ้านั้น บุคคลผู้มีคุณน้อยนิดไม่สามารถครองได้ แต่ภิกษุผู้ถือบังสุกุลเป็นวัตรมาแต่เกิด ผู้ฉลาดสามารถในการบำเพ็ญปฏิบัติเท่านั้นที่ครองได้ ฝ่ายพระเถระไม่ได้ถือตัวว่าได้จีวรของพระพุทธเจ้า แต่ยิ่งทำความเพียรมากขึ้น ท่านได้สมาทานธุดงค์คุณ ๑๓ และถือมั่น ๓ ประการ คือ ถือบังสุกุลจีวร การเที่ยวบิณฑบาต และการอยู่ป่าเป็นวัตร
พระกัสสปะเป็นเสขบุคคลเพียง ๗ วัน ในวันที่ ๘ ได้บรรลุอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่า ท่านเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงธุดงค์
ท่านพระมหากัสสปะระลึกถึงบุพกรรมของตนในชาติก่อน ได้กล่าวถึงผลแห่งการสร้างพุทธเจดีย์ไว้ว่า
ในสมัยเมื่อพระผู้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระนิพพานแล้ว ชนทั้งหลายทำการบูชาพระศาสดา ท่านได้ทำทานก่อสร้างบุญ โดยสร้างเจดีย์อันมีค่าสูงร้อยศอก ปราสาทร้อยห้าสิบศอก ยังจิตของตนให้เลื่อมใสได้เข้าถึงไตรทศ อยู่บนวิมานอันไพบูลย์ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิครอบครองแผ่นดินในหกหมื่นกัลป์ ส่วนในภัทรกัลป์นี้ ท่านได้เป็นเหมือนอย่างนั้น ๓๓ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีกำลังมาก สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ มีความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ และได้เกิดเป็นเทวดาอีก ในภพที่สุดได้เกิดในสกุลพราหมณ์ ละเงินประมาณ ๘๐ โกฏิ แล้วออกบวช ทำให้แจ้งในคุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖
ส่วนนางภัททกาปิลานี หลังจากแยกทางกับพระมหากัสสปะแล้ว ได้เดินทางไปพักอยู่ที่สำนักของปริพาชกชื่อติตถิยาราม ใกล้กับเชตวันวิหารเป็นเวลา ๕ ปี ภายหลังเมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีอุปสมบทแล้ว นางภัททกาปิลานีจึงเข้ามาบวชในสำนักของภิกษุณี บำเพ็ญสมธรรมไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระภัททกาปิลานีเถรีว่า เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งปวงในฐานะผู้มีบุพเพนิวาสานุสสติญาณ
อ่าน จีวรสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ข้อที่ ๕๒๓-๕๒๗ (พระมหากัสสปะกล่าวถึงการบรรลุธรรมของตน)
มหากัสสปเถราปทาน (พระมหากัสสปะกล่าวถึงบุพกรรมของตน)