Main navigation

พระสารีบุตรเถระและพระโมคคัลลานะเถระ

เหตุการณ์
พระสารีบุตรและพระโมคคัลานะบรรลุโสดาปัตติผล อุบายแก้ง่วง และการปล่อยวางทิฏฐิ กาย เวทนา

เช้าวันหนึ่ง สารีบุตรปาริพาชกเห็นท่านพระอัสสชิกำลังบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ มีมรรยาทน่าเลื่อมใส นัยน์ตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ คิดในใจว่าภิกษุรูปนี้คงเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้ได้บรรลุพระอรหัตมรรคเป็นแน่ จึงเดินตามไปเรื่อย ๆ เพื่อรอให้ท่านบิณฑบาตเสร็จ แล้วเข้าไปหาพระอัสสชิ ถามท่านว่าท่านบวชเฉพาะใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร

พระอัสสชิตอบว่า ท่านบวชเฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดาของท่าน และท่านชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

พระอัสสชิได้แสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคตามที่สารีบุตรปาริพาชกขอ ว่าธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น ดวงตาเห็นธรรม ได้เกิดแก่สารีบุตรปาริพาชกว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา บรรลุพระโสดาบัน

เมื่อสารีบุตรปริพาชกพบโมคคัลลานปริพาชก ก็เล่าเรื่องที่ได้พบพระอัสสชิ รวมถึงกล่าวธรรมที่พระอัสสชิทรงแสดงแก่ตน โมคคัลลานปริพาชกมีดวงตาเห็นธรรม บรรลุพระโสดาบัน

จากนั้นโมคคัลลานปริพาชกได้ชักชวนสารีบุตรปริพาชก และปริพาชกทั้ง ๒๕๐ คน ไปยังสำนักพระผู้มีพระภาค ณ พระวิหารเวฬุวัน แม้สญชัยปริพาชกจะต้านทานถึงสามครั้งก็ไม่เป็นผล โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปากสญชัยปริพาชกในที่นั้นเอง

ณ พระวิหารเวฬุวัน เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นสารีบุตรและโมคคัลลานะเดินมาแต่ไกลจึงตรัสพยากรณ์กับภิกษุทั้งหลายว่า สหายสองคนนั้น คือโกลิตะ และอุปติสสะ จะเป็นคู่สาวกอันเจริญชั้นเยี่ยมของพระองค์ พ้นวิเศษแล้วในธรรมอันเป็นที่สิ้นอุปธิ มีญาณวิสัยอันลึกซึ้ง

เมื่อสารีบุตรและโมคคัลลานะมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบเศียรลงที่พระบาท แล้วได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาค

ในสมัยนั้น กุลบุตรของชาวมคธที่มีชื่อเสียงพากันประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ทำให้ประชาชนพากันติเตียนว่า พระสมณะโคดมปฏิบัติเพื่อให้ชายไม่มีบุตร เพื่อให้หญิงเป็นหม้าย เพื่อตัดสกุล เมื่อพระสมณโคดมให้ชฎิลพันรูป และปริพาชกศิษย์ของท่านสญชัย ๒๕๐ คนนี้บวชแล้ว จะทรงนำใครไปอีก เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินดังนั้น จึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาค ซึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า เสียงนั้นจะอยู่ได้เพียง ๗ วันเท่านั้น พ้น ๗ วันก็จะหายไป และให้ภิกษุทั้งหลายตอบแก่ประชาชนให้เข้าใจว่า พระตถาคต ย่อมทรงนำชนทั้งหลายไปโดยธรรม ไม่ทรงนำไปโดยอธรรม เสียงนั้นจึงมีเพียง ๗ วันเท่านั้น พ้น ๗ วันก็หายไป

โมคัลลานสูตร

เมื่อพระโมคคัลลานะอุปสมบทแล้ว ๗ วัน พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นพระโมคัลลานะนั่งง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ ด้วยทิพยจักษุ จึงเสด็จมาหาและตรัสบอกเหตุให้ละจากความง่วง

อุบายแก้ง่วง ๘ อย่าง

- เมื่อมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ พึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก

- พึงตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ

- พึงสาธยายธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร

- พึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว

- พึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์

- พึงทำในใจถึงเอาโลกสัญญา ตั้งความสำคัญในกลางวันและกลางคืนว่าเหมือนกัน มีใจเปิดเผยอยู่ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตให้เกิดแสงสว่าง

- พึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ ใจไม่คิดไปในภายนอก

- พึงสำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า จักไม่ประกอบความสุขในการนอนการเอนข้าง การเคลิ้มหลับ

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสสอนพระโมคคัลลานะ ไม่ให้ชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล เพราะถ้าในตระกูลมีกิจหลายอย่าง ไม่ใส่ใจภิกษุผู้มาแล้ว ภิกษุย่อมเก้อเขิน และมีความคิดฟุ้งซ่านว่ามีใครยุยงให้เราแตกในสกุลนี้ ไม่ควรพูดถ้อยคำซึ่งจะเป็นเหตุให้เถียงกัน เพราะจะเกิดการพูดมาก เมื่อเกิดความคิดฟุ้งซ่านขึ้น ย่อมไม่สำรวม จิตย่อมห่างจากสมาธิ

และทรงตรัสว่าพระองค์ไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยหมู่ชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่ทรงสรรเสริญความคลุกคลีด้วยเสนาสนะอันเงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากการสัญจรของหมู่ชน ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการความสงัด ที่หลีกเร้น

ธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ข้อปฏิบัติที่ทำให้ภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะสิ้นตัณหา มีความสำเร็จ มีธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ เป็นพรหมจารี  มีที่สุด ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อได้สดับว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น ย่อมรู้ชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญา  ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง เมื่อได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งสุข ทุกข์ และไม่สุข ไม่ทุกข์ ย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในเวทนาเหล่านั้น พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด ความดับ ความสละคืน เมื่อนั้นย่อมไม่ยึดมั่นอะไรในโลก ไม่มีความสะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตัวทีเดียว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
 

ทีฆนขสูตร

หลังจากพระสารีบุตรอุปสมบทได้ ๑๕ วัน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ทีฆนขะปริพาชก  ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลว่า ตนมีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา พระองค์ตรัสตอบว่า แม้ความเห็นที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรานั้น ก็ไม่ควรแก่ท่าน  ผู้ที่ละความเห็นไม่ได้ และยังยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีมากกว่าคนที่ละได้ และผู้ที่ละความเห็นได้ และไม่ยึดถือความเห็นอื่นนั้น มีน้อยกว่าคนที่ยังละไม่ได้

ทิฎฐิเป็นเหตุให้เกิดวิวาท

สมณพราหมณ์มีสามพวก คือ
๑.  พวกที่เห็นว่าสิ่งทั้งปวงควรแก่เรา จะอยู่ใกล้ข้างกิเลสเป็นไปด้วยความกำหนัด เครื่องประกอบสัตว์ไว้ เป็นเหตุเพลิดเพลิน เป็นเหตุยึดมั่น
๒.  พวกที่เห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา จะอยู่ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด ไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ไม่เป็นเหตุยึดมั่น
๓.  พวกที่เห็นว่าบางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เรานั้น ส่วนที่เห็นว่าควร จะอยู่ใกล้ข้างกิเลสเป็นไปด้วยความกำหนัด เครื่องประกอบสัตว์ไว้ เป็นเหตุเพลิดเพลิน เป็นเหตุยึดมั่น ส่วนที่เห็นว่าไม่ควร จะอยู่ใกล้ข้างธรรมไม่เป็นไปด้วยความกำหนัด ไม่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ไม่เป็นเหตุยึดมั่น

การละทิฏฐิ

ถ้าพวกใดพวกหนึ่งจะมีความยึดมั่น ถือมั่นซึ่งทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เราเท่านั้น หรือสิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เราเท่านั้น หรือบางสิ่งควรแก่เรา บางสิ่งไม่ควรแก่เราเท่านั้น ก็จะมีความถือผิดจากอีกสองพวก เกิดความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกัน ความเบียดเบียนกัน เมื่อพิจารณาเห็นความถือผิดกัน ความทุ่มเถียงกัน ความแก่งแย่งกันและความเบียดเบียนกันของตน  จึงละทิฏฐินั้นเสีย ไม่ยึดถือทิฎฐิอื่น เกิดการละและการสละคืนทิฎฐิเหล่านี้

การละกาย

กายนี้มีรูป เป็นที่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด  เจริญด้วยข้าวสุกและขนมสด ต้องอบและขัดสีเป็นประจำ มีความแตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา ควรพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความลำบาก เป็นความเจ็บไข้ เป็นผู้อื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่า ไม่ใช่ตน เมื่อพิจารณาเห็นกายดังนี้ ย่อมละความพอใจในกาย เยื่อใยในกาย ความอยู่ในอำนาจของกายในกายได้

การละเวทนา

เวทนา มีสามอย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา เมื่อเสวยเวทนาใดเวทนาหนึ่งก็จะไม่ได้เสวยเวทนาอีกสองอย่าง ทั้งสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา ล้วนไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา เมื่ออริยสาวกผู้ได้สดับ แล้วเห็นอย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา ย่อมคลายกำหนัด หลุดพ้น มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใคร โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฎฐิ

พระสารีบุตรสำเร็จอรหัตตผล

ท่านพระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคอยู่ มีความเห็นว่าพระผู้มีพระภาคตรัสการละ การสละคืนธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญาอันยิ่งแก่เราทั้งหลาย เมื่อนั้นจิตก็หลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน บรรลุอรหัตตผล และดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแก่ทีฆนขปริพาชกว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา บรรลุโสดาปัตติผล แล้วขอเป็นอุบาสกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 



อ่าน พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา

อ้างอิง
พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๖๔-๗๐ โมคัลลานสูตร, ทีฆนขสูตร
ลำดับที่
11

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ