ปล่อยวางเหมือนการเห็นแก่ตัวไหม
อยากเรียนถามอาจารย์ ให้ช่วยอธิบายเรื่องการปล่อยวางของคนปฏิบัติธรรม ว่าเหมือนดูเป็นคนเห็นแก่ตัวหรือไม่คะ
ถ้าสมมติว่ามีคนบอกว่า ช่วงสงกรานต์เนี่ยเราต้องมาฉลองกัน เอาเหล้าเอาไวน์มาตั้งอย่างดีเลย ตั้งบนโต๊ะบอกให้มาฉลองกันดีกว่า จะดื่มไหม? เพราะอะไรไม่ดื่ม? เพราะดื่มไม่เป็น เค้าบอก ไม่รักกันจริงนี่ รักกันจริงต้องพยายามดื่มให้ได้สิ มันต้องเมามันถึงจะกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ละลายพฤติกรรม ไม่ดื่มแสดงว่าไม่รักกันจริง เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่พรรคพวก ผิดไหม? คนไม่ดื่มผิดไหม?
ตอบ ไม่ผิด
อาจารย์ไชย ณ พล
ดังนั้น ความเห็นแก่ตัวไม่ใช่สิ่งที่ชั่วร้าย ความเห็นแก่ตัวเป็นธรรมชาติของการรักษาตัวให้พ้นภัย แต่สิ่งที่ชั่วร้ายคือความเห็นแก่ได้ถ่ายเดียวจนไม่เป็นธรรมต่อคนอื่น นี่เป็นบาป แต่คนจะใช้สองคำนี้ mixed กัน ก็เลยแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นความเห็นแก่ตัว อะไรเป็นความเห็นแก่ได้ จนบางทีใช้สลับกัน และประเมินค่าบุญบาปผิดไป
ความเห็นแก่ตัวเฉย ๆ เพื่อรักษาตัวเองเป็น self-protect ไม่บาป กฎหมายก็รับรอง คนเค้าชวนเราทำความเลว แล้วเราไม่ทำกับเค้าเพราะกลัวภัย เราเห็นแก่ตัวนะ แต่เห็นแก่ตัวนี่มันไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย มันลดความเสียหายให้แก่สังคมด้วย เพราะถ้าเราไปร่วมทำเลวด้วย ความเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น ความเห็นแก่ตัวไม่ใช่เรื่องชั่วร้าย แต่ต้องเห็นแก่ตัวในขอบข่ายที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ความเห็นแก่ได้ชั่วร้ายแน่ ในทุกวันนี้คนใช้สองคำนี้ mixed กันอยู่ จริง ๆ เค้าจะพูดความเห็นแก่ได้แต่เค้าไปเรียกมันว่าความเห็นแก่ตัว ก็เลยเหมาไปว่าความเห็นแก่ตัวนี่เลวไปหมด ซึ่งไม่ใช่
คนที่อยากจะทำประโยชน์คนอื่น สิ่งแรกที่จะต้องทำให้ได้คือประโยชน์ตน เพราะถ้าเราทำประโยชน์ตนไม่ได้ เราจะเอาอะไรไปทำประโยชน์ให้กับคนอื่น มันไม่มี มันจะมีแต่ความหวังว่า คิดว่า น่าจะ แต่ถ้าเราทำประโยชน์ตนได้เราไปทำประโยชน์คนอื่นได้ อย่างใครจะมาสอนให้เราบรรลุธรรม เค้าจะต้องบรรลุบางระดับ เค้าจึงจะมาสอนให้เราบรรลุได้ ใครจะมาสอนให้เราเข้าฌาน เค้าก็จะต้องได้ฌานได้สมาธิจึงจะมาเหนี่ยวนำเราเข้าฌานเข้าสมาธิได้ ดังนั้น เราอยากจะเกื้อกูลอะไรแก่สังคมหรือมหาชน เราจะต้องมีสิ่งนั้น ๆ ก่อนจึงจะมีคุณค่าที่จะไปเกื้อกูล เราจะต้องมาทำที่ตัวเราเองให้ได้ผลก่อน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เธอจงยังประโยชน์ตนประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม” ทำแต่ประโยชน์ตนไม่ทำประโยชน์ท่านเรียกว่าคนไม่มีน้ำใจ ทำแต่ประโยชน์ท่านไม่ทำประโยชน์ตนเรียกว่าคนเพ้อเจ้อ
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงละลูก ละเมีย ละพ่อแม่ ละตำแหน่งหน้าที่การงาน ไปทำตัวเองให้บรรลุธรรมก่อน พอบรรลุแล้วกลับมาช่วยทั้งหมดเลย อย่างเช่น พระสารีบุตร ท่านไปทำตัวเองให้ถึงก่อนแล้วก็มาช่วย เพราะถ้าเรายังไม่ถึง แต่อยากจะช่วยทั้งที่เรายังเดือดร้อน มันเหมือนคนตกไปในโคลนด้วยกัน แล้วบอกอย่าไปไหนนะ อย่าไปไหน อยู่ตรงนี้นะ มันช่วยกันไม่ได้ แต่ถ้าใครบางคนเห็นแก่ตัวตะเกียกตะกายออกไปก่อน พอออกไปได้จากกองโคลน ไปหาเชือกหาไม้มา จับไม้นี่เดี๋ยวฉันดึงขึ้น เพราะมีคนนึงเห็นแก่ตัวออกจากโคลนก่อน จึงฉุดทุกคนขึ้นมาจากโคลนได้ แต่ถ้าทุกคนบอกเราต้องรักกันอย่าจากกันไปไหนนะ จากไปก่อนเห็นแก่ตัวนะ ก็เลยจมกันอยู่ในโคลนทั้งหมดจึงตายกันอยู่ในโคลนวัฏฏะสงสาร เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอยู่ในหลุมอย่างนี้ ไม่มีใครช่วยใครได้จริงเลย ดังนั้น ความเห็นแก่ตัวหรือการทำความสำเร็จให้เกิดขึ้นแก่ตนเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเกื้อกูลคนอื่น ถ้าหวังดีต่อคนอื่นจริง ต้องกล้าที่จะทำตนให้สำเร็จนะ แล้วเราก็จะช่วยคนอื่นให้สำเร็จได้ด้วย ได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการงาน หรือเป็นการบรรลุธรรม
แต่หากใครโรแมนติกหน่อย เราค่อย ๆ เห็นแก่ตัวและเห็นแก่กันและกันไปพร้อมกันก็ได้ อาจนานหน่อยแต่อบอุ่น กินระยะทุกข์ในวัฏฏะยาว เชิญเลือกตามอัธยาศัย