ควรสอนลูกหลานอย่างไรในยุคโลกแห่งภัยนี้
เรียนอาจารย์คะ ตอนนี้หลานเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว รู้สึกว่าจิตใจเขาเปลี่ยนไป เวลาเราแสดงความห่วงใยเขา เขาจะหน้างอ พอถามว่าเป็นอะไร เขาก็หาว่าเราบ่น แต่เราไม่ห่วงก็ไม่ได้ เพราะโลกยุคนี้น่ากลัวเหลือเกิน จะทำอย่างไรดีคะ
ปัญหานี้ ดูจะเป็นปัญหาอมตะในครอบครัวนะ
พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า "ความเป็นห่วง" ไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น
เพราะอะไรจึงตรัสเช่นนั้น
เพราะที่มนุษย์เป็นห่วงกันอยู่นั้นเพราะกลัวเกิดภัย และโดยธรรมชาติ จิตยิ่งห่วงก็ยิ่งทุกข์ แสดงว่าความห่วงเป็นตัวสร้างทุกข์ ตัวสร้างทุกข์ทั้งหลายพระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า สมุทัย ทุกข์ที่สร้างขึ้นในใจผู้ห่วง แพร่ไปยังใจผู้ถูกห่วง จึงเป็นการแพร่เชื้อสมุทัยไปเพิ่มทุกข์ให้คนอื่น เด็กจึงไม่ชอบเวลามีใครห่วงมาก ๆ
แล้วเราจะสอนลูกหลานอย่างไรในโลกแห่งภัยเช่นนี้
ที่จริงก็ง่ายมากเลย แสดงภาวะปลอดภัย และพาปฏิบัติ
ภาวะปลอดภัย คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า นิโรธ
การปฏิบัติให้ปลอดภัย ทรงเรียกว่า มรรค
จำไว้ คนต้องการนิโรธกับมรรค ให้สิ่งที่เขาต้องการ ก็เป็นที่รัก
ไม่มีใครต้องการทุกข์หรือสมุทัย ให้ในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ก็เป็นที่น่าเบื่อ
แค่นั้นเอง
ไปปรับ approach ใหม่นะ
ถามต่อ
แต่ท่านอาจารย์คะ ทุกข์มันเป็นความจริงของโลก ถ้าเราไม่ให้เขาเห็นทุกข์ กลัวว่าเขาจะไม่เห็นธรรมน่ะค่ะ
อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ
ทุกข์ต้องเห็น แต่อย่าไปมาก เน้นผลและการปฏิบัติให้มาก
เหมือนพระโพธิสัตว์เห็นคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย และบวช ทุกข์ธรรมชาติของคนอื่นล้วน ๆ ตัวเองยังไม่ได้ทุกข์อย่างนั้นเลย ก็พอแล้ว ไม่เอาแล้ว จะหาทางออกจากทุกข์แล้ว แล้วไปปฏิบัติจริงจัง จนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พ้นทุกข์ โมเดลนี้ ชี้ทุกข์แค่ 1% สมุทัยสองตัวที่ทรงดับคือตัณหาอวิชชาก็ประมาณ 5% มุ่งมั่นนิโรธแน่วแน่ แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตามก็ประมาณ 35% ที่เหลือคือการปฏิบัติมรรคจริงจังสารพัดรูปแบบจนสำเร็จผลจริง ก็อีก 59% โมเดลนี้เป็นโมเดลของผู้มีปัญญาและความเพียรมาก สำเร็จผลแน่ นี่เป็นโมเดลที่ 1
หากทำตรงข้าม ชี้ทุกข์ 59% ละเลงสมุทัย 35% มุ่งนิโรธ 5% ปฏิบัติ 1% แล้วอยากพ้นทุกข์ นั่นเป็นความหลงผิดเสพติดทุกข์ อยากพ้นทุกข์ แต่กินทุกข์เนืองนิตย์ ทุกข์ก็เติบใหญ่อ้วนขึ้น ก็ไม่อาจพ้นทุกข์ได้ ได้แค่ความน่าสงสาร และน่าเบื่อ นี่เป็นโมเดลที่ 2
หรือหากนิโรธขึ้นก่อนโดยมาก ฝันถึงนิพพานเนือง ๆ 59% ชี้ทุกข์ 35% เพื่อจะให้เป็นแรงขับส่งไปสู่นิโรธ แล้วละเลงสมุทัยให้เห็นตัวเหตุ 5% แต่ปฏิบัติมรรคแค่ 1% นั่นเป็นความฝันเฟื่องเพ้อเจ้อ เพราะจากทุกข์ไปนิโรธนั้นมันห่างไกลกัน ต้องมีทางเชื่อมที่ smart สายกลางเพียงพอ จึงจะถึงได้ แค่อยากอย่างเดียว แต่ปฏิบัติน้อยนิดสำเร็จผลไม่ได้ ก็เหมือนคนอยากรวยแต่ขี้เกียจ อยากแข็งแรงแต่ไม่ออกกำลังกาย อยากเก่งแต่ไม่ลงมือทำกิจ ก็ไม่อาจสำเร็จผลได้ ได้แค่ท่าดีทีเหลว และน่าสงสาร นี่เป็นโมเดลที่ 3
หรือหากละเลงสมุทัย ปฏิบัติสมุทัยตัวสร้างทุกข์นำหน้าเพื่อใช้เกลือจิ้มเกลือ เพื่อจะได้ทันโลกแห่งกิเลส 59% เพียรปฏิบัติมรรคเพื่อสมุทัยหรือด้วยสมุทัย 35% หวังนิโรธ 5% สนใจทุกข์แค่ 1% เพราะมีเทคนิคหลอกล่อให้กำลังใจตัวเองให้ทะเยอทะยานไปได้ทุกวัน นั่นคือความบ้าบอ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในโลกทุกวันนี้เป็นอย่างนี้ และสร้างระบบ สร้างศาสตร์ สร้างเทคนิคสารพัดมาเพื่อการนี้ ทั้งเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกัน แข่งขันเอาชนะคะคานกัน เอออวยกันบ้าง นินทาว่าร้ายกันบ้าง เดี๋ยวรักกันเดี๋ยวเกลียดกัน มีปัญหาสารพัดแบบให้แก้ไปเรื่อย กระบวนการเหล่านี้พ้นทุกข์ไม่ได้ ได้แค่ความน่ารังเกียจ นาน ๆ ไปตัวเองก็รังเกียจตัวเอง คนอื่นรังเกียจรายทางที่กิเลสสมุทัยแสดงตัวออกมาแล้ว นี่คือโมเดลที่ 4
จะเห็นได้ว่า การเห็นทุกข์ไม่จำเป็นต้องคลุกคลีกับทุกข์ การเห็นสมุทัยต้องวิจัยเข้าไปในจิตตนเอง การเห็นนิโรธ ต้องปล่อยวางได้จริง การเห็นธรรม คือการปฏิบัติจริงตามมรรคเท่านั้น
การปฏิบัติจริงจังในโลกมีอยู่สองทิศ คือปฏิบัติจริงจังเพื่อนิโรธโดยตรงเพราะหวังพ้นทุกข์ จึงถึงผล กับปฏิบัติจริงจังเพื่อสนองสมุทัย เพราะหวังว่าจะสะดวกสบายไม่เป็นทุกข์ ก็ได้ความสบายกายบ้าง แต่ทุกข์ใจเพิ่มขึ้น
เลือกเอา จะบริหารตนแบบไหน โมเดลไหน ปฏิบัติแบบไหนสบายและสำเร็จผลแน่นอนที่สุด ปฏิบัติแบบไหนยุ่งยาก ยิ่งปฏิบัติยิ่งห่างไกลผลสำเร็จ หรือออกแบบโมเดลใหม่ที่เหมาะสมกับตนก็ได้ โดยปรับสัดส่วนให้พอเหมาะพอดีกับบริบทชีวิต
ปฏิบัติตนให้ได้ผลจริง แล้วแนะนำลูกหลานด้วยวิธีที่เราสำเร็จผลแล้ว จึงจะเป็นมรดกธรรมแก่ลูกหลาน เป็นบูรพาจารย์แก่อนุชนอย่างแท้จริง