Main navigation

จะดูได้อย่างไรว่าพระรูปใดเป็นพระอรหันต์ และการกังขากับพฤติกรรมของพระบาปไหม

Q ถาม :

ท่านอาจารย์ครับ มีพี่บางท่านชอบพาไปกราบพระดัง บอกว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่พอไปเจอแล้ว ผมก็ว่าไม่น่าจะใช่ แต่ก็ไม่กล้าลบหลู่ เลยเกิดความกังขาขึ้นมาในใจว่า

1. เราจะดูได้อย่างไรว่าท่านใดเป็นพระอรหันต์ครับ
2. การที่เรากังขากับพฤติกรรมบางอย่างของพระเป็นบาปไหมครับ ถ้าท่านอาจารย์มีคำแนะนำ ขอความกรุณาแก้ข้อกังขาด้วยครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

พระพุทธองค์ทรงให้วิธีตรวจสอบว่าใครเป็นพระอรหันต์หรือยัง โดยถามท่านถึงปรากฏการณ์ทางจิตที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติของท่าน

หากท่านบอกว่า "พอเข้าสมาธิและยกจิตวิปัสสนาในสมาธิแล้ว เห็นปัจจัยปรุงแต่งจิต จึงสละออก จนปัจจัยเหล่านั้นแตกสลายไปหมด ไม่อาจกลับมาได้อีก ปรากฏ รู้ เบิกบาน ผ่องใสใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน แจ่มแจ้งชัดว่า รู้นี้ไม่เกี่ยวข้องกับธาตุ ขันธ์ อายตนะใด ๆ เลย" ก็พออนุมานได้ว่า ท่านเสร็จกิจแล้ว

แต่ถ้าท่านแค่เทศน์หลักธรรมไปเรื่อย ๆ ก็อาจเป็นไปได้ว่า ๑) ท่านไม่อยากพูดถึง หรือ ๒) ท่านยังเข้าไม่ถึงสภาวะอันเป็นที่สุดนั้น เมื่อนั้นเราก็ต้องตรวจสอบเอาเอง โดยเข้าสมาธิให้ลึกที่สุดจนจิตผ่องใสภายใน ปราศจากการปรุงแต่งใด ๆ

ใช้จิตที่ผ่องใสที่สุดนี้ ดูภายในของท่าน ถ้า

1. ข้างในของท่านใส โปร่งแสงยิ่งกว่าเพชร สนิท ไม่มีแสงจ้าใด ๆ ท่านเสร็จกิจแล้ว

2. พระอรหันต์ที่ทรงอภิญญา จะปรากฏพุทธะใสบริสุทธิ์ ลอยเด่นอิสระเหนือขันธ์ ธาตุ อายตนะ ท่านเสร็จกิจอย่างดีแล้ว

3. หากจิตท่านเป็นดวงตั้งมั่นอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ท่านคือผู้ทรงฌานอภิญญา

4. หากจิตท่านสงบ ไม่มีอะไรหวั่นไหว แต่แสงจิตนวลทำงานอยู่ระดับลึก อาจเป็นพระอริยะขั้นต้น กำลังวิปัสสนาธรรมอยู่ 

5. หากจิตของท่านสะอาดฉ่ำอ่อนโยนต่อเรา แสดงว่าท่านศรัทธาเรา ก็ดูว่าควรสนองตอบ หรือสงบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

6. หากจิตของท่านมีประกายปีติวูบไปวาบมา ท่านกำลังปีติในธรรมและชอบแสดงธรรม ยังไม่ถึงขั้นบรรลุธรรม ก็พิจารณาดูว่าธรรมะที่ท่านแสดงเหมาะกับสภาวะเราหรือไม่ หากเหมาะ ก็ฟัง ไม่เหมาะ ก็ลากลับ

7. หากจิตของท่านไม่ตั้งมั่น ฟุ้งกระจาย ชอบแสดงความเห็นในเรื่องนั้นเรื่องนี้ ท่านเป็นแค่นักคิด ยังไม่ใช่นักปฏิบัติจริงจัง ก็ลาจาก

8. หากจิตของท่านซัดส่าย ท่านอาจเป็นนักพัฒนา หรือนักล่าบริวารอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง ก็ลาจาก

9. หากจิตของท่านฉวัดเฉวียนมาที่เราเนือง ๆ แม้จะมองไปทางอื่น ท่านอาจมีโลภะหรือราคะบางประการ แล้วแต่เพศ วัย การแต่งกาย รีบลา แล้วกลับมาเสีย

10. หากจิตของท่านขุ่นมัว รีบลา แล้วกลับมาเสีย

11. หากจิตของท่านมืดดำ ลาก็ได้ ไม่ลาก็ได้ รีบออกมาเลย

12. หากมีวิญญาณทมึนหรือเปรตยั้วเยี้ยะอยู่ข้างหลังท่าน ไม่ต้องลา ให้จากมาทันที ให้รีบสวดนะโมเม หรือไตรสรณคมณ์ หรือชินบัญชร 


การกังขาหรือลบหลู่พระ บาปหรือไม่   

การกังขา ไม่บาป เพราะเป็นหน้าที่ของอุบาสกอุบาสิกาอยู่แล้วในการประเมินมาตรฐานภิกษุภิกษุณีที่ตนจะนับถือหรือสนับสนุน

ท่านมหานามะก็กำหนดเกณฑ์มาตรฐานไว้ตรวจสอบภิกษุ ภิกษุณีเช่นกัน โดยท่านใช้เกณฑ์การสอน การปฏิบัติตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงสอน ทรงสั่งไว้แล้ว

นางวิสาขาก็ประเมินมาตรฐานภิกษุภิกษุณีเช่นกัน โดยดูที่การปฏิบัติตามธรรมวินัย และสมณสารูปที่เหมาะสม เช่น ครั้งหนึ่งที่บุปผาราม มีพระนั่งคุยกันส่งเสียงเฮฮา นางวิสาขาเข้าไปเตือนพระเหล่านั้นเลย ทำนองว่าพวกท่านสละเรือนมาบวชในพระผู้มีพระภาคแล้ว ยังมาสละสมณสารูปและเสียโอกาสเจริญในธรรม มัวแต่มานั่งสรวลเสเฮฮากันเหมือนคฤหัสถ์ พวกท่านควรเจริญความความเพียร พาตนพ้นทุกข์โดยชอบเถิด

พระเหล่านั้นเจออุบาสิกาผู้ทำหน้าที่อุบาสิกาตัวจริงอย่างนี้ก็วงแตก แยกย้ายกันไปปฏิบ้ติด้วยความละอายและสำนึก

ดังนั้น การกังขาและแก้ไข ไม่ผิดอะไร กลับดีต่อพระและพระศาสนาโดยรวม

ส่วนการลบหลู่ ไม่ควร แม้แต่เดรัจฉาน เปรต สัตว์นรก เรายังไม่ควรลบหลู่เลย จะไปลบหลู่นักบวชทำไม

ตลอดวิวัฒนาการอันยาวนาน จิตใจทุกดวงล้วนผ่านมาแล้วทุกภพภูมิ ก็ควรเข้าใจเขา เมตตาเขา ให้โอกาสเขาเรียนรู้และพัฒนาต่อไป 

พระสารีบุตรก็เคยเป็นลิงมาหลายชาติ

พระโมคคัลลานะ ชาติก่อนมาบรรลุธรรมนี้ก็อยู่ในนรก เพราะฆ่ามารดาด้วยเหตุแห่งเมีย

ทุกคนพลาดกันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อพลาดแล้ว คุณค่าในตนหมดสิ้นไป คุณค่าในตนยังอยู่ แต่พลาดเพราะใช้คุณค่าไปผิดทิศทาง ความพลาดแต่ละครั้ง ทำให้เกิดการเรียนรู้และเพียรเอาบาปเก่าออก ป้องกันไม่ให้บาปใหม่เกิดขึ้น เจริญบุญใหม่ และรักษาความดีที่ได้ทำแล้ว

ดังนั้น ไม่ต้องลบหลู่ใคร แต่เป็นสิทธิและหน้าที่ของทุกคนที่จะเลือกผู้นำทางหรือกัลยาณมิตรที่เหมาะแก่สภาวะตน ยกภูมิให้สูงขึ้นได้จริง พระพุทธเจ้าจึงให้หลักไว้ว่า "หากเธอหาคนที่มีคุณธรรมเสมอเธอ หรือดีกว่าเธอไม่ได้แล้วไซร้ เธอพึงท่องเที่ยวไปผู้เดียวเสมือนนอแรดยังประสริฐกว่า"


การโฆษณาพระเกินจริง บาปหรือไม่

หากพระโฆษณาคุณวิเศษที่ไม่มีจริงในตน เป็นบาปใหญ่ อาบัติปาราชิก หมดสิ้นความเป็นพระทันที แม้จะมีใครโจทย์หรือไม่ก็ตาม

หากท่านเข้าใจไปจริง ๆ ว่าท่านบรรลุแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่บรรลุ และบอกว่าตนบรรลุแล้วโดยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีเจตนาหลอกลวง เป็นอาบัติปาจิตตีย์

หากโยมบอกว่าท่านนี้เป็นพระอรหันต์ และท่านเป็นพระอรหันต์จริง เป็นการสรรเสริญยกย่องด้วยความยินดี เป็นสัทธาจิต เป็นกุศล

หากโยมบอกว่าท่านนี้เป็นพระอรหันต์ แต่ท่านยังไม่เป็นพระอรหันต์จริง เป็นโมหะมูลจิต เป็นอกุศล บาป หลอกให้คนหลงใหลตามโมหะตน

หากโยมบอกว่าท่านนี้ยังไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ท่านเป็นพระอรหันต์จริง เป็นโมหะมูลจิต และโทสะมูลจิตเพราะระคนอิสสา (อิจฉา) เป็นอกุศล บาป หลอกให้คนหลงใหลตามความเข้าใจผิดของตน

หากโยมบอกว่าท่านบรรลุธรรมแล้ว ทั้ง ๆ ที่ท่านยังไม่บรรลุ แต่พระเออออสมยอมตามโยมไป กรรมนี้โยมนักโฆษณาลากพระลงอบายไปด้วยกัน

จำหลักไว้ว่า พระดีจะไม่มีโฆษณา พระโฆษณาทั้งหมดเป็นพระอยากดัง (ยังมีอัตตาอยู่)

โยมโฆษณาเพราะอวดรู้ อวดดี อยากได้สิทธิ์ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ และอยากได้ favor จากคนที่ตนบอก หากผิด บาปกรรมตามมาไม่น้อย หากถูกก็ได้กุศลพอควร

ดังนั้น โยมที่โฆษณาพระนั่นแหละเป็นผู้แบกความเสี่ยงเต็ม ๆ