Main navigation

นางวิสาขาแต่งงาน

เหตุการณ์
มิคารเศรษฐีต้องการให้บุตรชายของตนแต่งงาน จึงได้นางวิสาขาผู้พร้อมด้วยความงาม ๕ อย่าง และเป็นผู้มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สกุลของตน เพราะเหตุแห่งนางวิสาขา มิคารเศรษฐีและภรรยาได้บรรลุโสดาปัตติผล ประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

บุตรของมิคารเศรษฐี กรุงสาวัตถี ชื่อว่าปุณณวัฒนกุมาร เจริญวัยแล้ว มารดาบิดาต้องการให้แต่งงาน แต่เขายังไม่อยากแต่งงานจึงกล่าวว่า ถ้าได้หญิงสาวที่พร้อมด้วยความงาม  ๕  อย่าง จึงจะแต่งงาน
 
ลักษณะเบญจกัลยาณีหรือความงาม  ๕  อย่างนั้น คือ

1. ผมงาม คือ ผมเหมือนกำหางนกยูง  เมื่อแก้ปล่อยระชายผ้านุ่งแล้ว ก็กลับมีปลายงอนขึ้นตั้งอยู่
2. เนื้องาม คือ ริมผีปากเช่นกับผลตำลึงสุก ถึงพร้อมด้วยสีเรียบชิดสนิทดี
3. กระดูกงาม คือ ฟันขาวเรียบไม่ห่างกัน  งดงามดุจระเบียบแห่งเพชร ที่เขายกขึ้นตั้งไว้ และดุจระเบียบแห่งสังข์ที่เขาขัดสีแล้ว
4. ผิวงาม คือ ผิวพรรณของหญิงดำ ไม่ลูบไล้ด้วยเครื่องประเทืองผิวเลย ก็ดำสนิท ประหนึ่งพวงอุบลเขียว,  ถ้าผิวพรรณของหญิงขาว ก็ประหนึ่งพวงดอกกรรณิการ์
5. วัยงาม  หญิงแม้ว่าคลอดแล้วตั้ง  ๑๐  ครั้ง  ก็เหมือนคลอดครั้งเดียว ยังสาวพริ้งอยู่
 
เศรษฐีจึงส่งพราหมณ์ไปแสวงหาหญิงเบญจกัลยาณี พราหมณ์เดินทางมาถึงเมืองสาเกตและได้พบนางวิสาขา อายุย่างเข้า  ๑๕ - ๑๖ ปี  ประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์ครบทุกอย่าง แวดล้อมด้วยหมู่เด็กหญิง ๕๐๐  คน ขณะนั้นได้เกิดฝนตก เด็กหญิง  ๕๐๐  รีบเดินเข้าไปในศาลา  แต่นางวิสาขาเดินตามปกติเข้าไปในศาลา  ผ้าและอาภรณ์เปียกโชก เมื่อถามว่าทำไมนางจึงไม่วิ่งหนีฝน นางตอบว่า 

ชน  ๔  จำพวกเมื่อวิ่ง ย่อมไม่งาม 
-  พระราชาประดับประดาด้วยเครื่องอาภรณ์
-  ช้างมงคลของพระราชาที่ประดับแล้ว
-  บรรพชิต
-  และสตรี 

และสตรีนั้น พ่อแม่เลี้ยงอย่างทะนุถนอมมาเพื่อส่งไปตระกูลอื่น ถ้าวิ่งแล้วหกล้ม มือหรือเท้าหัก ก็จะเป็นภาระของตระกูล ส่วนเสื้อผ้าและเครื่องประดับ  เปียกแล้วแห้ง นางจึงไม่วิ่ง

เมื่อพราหมณ์ได้เห็นนางวิสาขามีลักษณะของหญิงเบญจกัลยาณีครบถวนจึงสวมมาลัยทองให้ พราหมณ์ได้กลับไปแจ้งข่าวแก่มิคารเศรษฐี ท่านเศรษฐีได้เข้าเฝ้ากราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ได้ไปร่วมงานด้วยตนเองเพื่อให้เกียรติที่นางยอมมาอยู่แคว้นสาวัตถี นางวิสาขาเป็นคนฉลาด มีปัญญาเฉียบแหลม สามารถจัดการเตรียมการต้อนรับและดูแลทุกคน

ธนันชัยเศรษฐีได้ทำเครื่องประดับ ชื่อมหาลดาปสาธน์ ใช้เวลาทำ ๔ เดือน มีมูลค่า ๙ โกฎิ และค่าจ้างทำ ๑ แสน ให้นางวิสาขา ซึ่งเป็นผลจากที่ในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะ นางได้ถวายผ้าสาฎก ด้าย เข็ม เครื่องย้อมของตนเอง แก่ภิกษุสองหมื่นรูปเพื่อทำจีวร หญิงที่ถวายจีวรทานย่อมได้เครื่องประดับชื่อมหาลดาปสาธน์ ส่วนชายผู้ถวายจีวรทานย่อมได้บาตรและจีวรด้วยฤทธิ์ในยามกราบทูลขอบวชกับพระพุทธเจ้า
           
ธนันชัยเศรษฐีได้จัดไทยธรรมและให้ทรัพย์สินแก่นางวิสาขา จำนวนมาก และได้ให้โอวาทในการไปอยู่ในสกุลพ่อสามีแม่สามี ๑๐ ข้อ คือ  ไม่ควรนำไฟภายในออกไปภายนอก, ไม่ควรนำไฟภายนอกเข้าไปภายใน,  พึงให้แก่คนที่ให้เท่านั้น, ไม่พึงให้แก่คนที่ไม่ให้, พึงให้แก่คนทั้งที่ให้ทั้งที่ไม่ให้, พึงนั่งให้เป็นสุข, พึงบริโภคให้เป็นสุข, พึงนอนให้เป็นสุข, พึงบำเรอไฟ, พึงนอบน้อมเทวดาภายใน

มิคารเศรษฐี เลื่อมใสต่อพวกชีเปลือยและไม่ได้คำนึงพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ วันหนึ่ง เศรษฐีได้เชิญพวกชีเปลือย ๕๐๐ คน มาบริโภคข้าวปายาส และอาหารอื่นๆในเรือน แล้วให้คนไปตามนางวิสาขามาไหว้ ซึ่งนางไม่ไหว้และกลับเรือน ชีเปลือยจึงตำหนิเศรษฐีและให้ไล่นางไปแต่เศรษฐีไม่อาจทำได้

วันหนึ่ง มีพระภิกษุมาบิณฑบาตที่ประตูเรือนแต่พ่อสามีทำเป็นไม่เห็น ก้มหน้ากินอาหารต่อไป นางจึงนิมนต์ภิกษุไปข้างหน้าแล้วกล่าวว่า พ่อสามีของดิฉันกำลังกินของเก่า เศรษฐีได้ฟังแล้วโกรธมาก ได้ขับไล่นางออกจากเรือน  นางปฏิเสธที่จะไปเพราะตนมาเป็นสะใภ้มิใช่เพื่อมาเป็นนางทาสี แล้วได้เชิญกุฎุมพีที่ติดตามมาจากเมืองสาเกตให้วินิจฉัยความผิด
           
เศรษฐีกล่าวว่า นางวิสาขาว่าตนเป็นผู้กินของไม่สะอาด นางได้ชีแจงว่า พ่อสามีกินข้าว ไม่ใส่ใจพระภิกษุที่มาบิณฑบาต ไม่ทำบุญในอัตภาพนี้ บริโภคแต่บุญเก่าเท่านั้น จึงได้พูดว่า นิมนต์ไปข้างหน้า พ่อสามีกำลังบริโภคของเก่า 

และคืนหนึ่ง นางวิสาขาและคนใช้ชายหญิงติดตามไปหลังเรือนตอนเที่ยงคืน นางได้ชี้แจงว่าแม่ม้าตกลูก นางเห็นว่าไม่สมควรนั่งเฉยไม่เป็นธุระ จึงให้พวกคนใช้ไปทำการดูแลแม่ม้า นางจึงไม่มีโทษ

บิดานางวิสาขาได้ให้โอวาท ๑๐  ข้อ ซึ่งลี้ลับ มิคารเศรษฐีไม่เข้าใจ จึงต้องให้นางวิสาขาอธิบาย
 - ไฟในไม่พึงนำออกไปภายนอก  คือ  เห็นโทษของพ่อแม่สามีและสามีแล้ว  อย่านำไปพูดภายนอกเรือน
 - ไฟแต่ภายนอก ไม่พึงให้เข้าไปภายใน คือ  ถ้าคนทั้งหลายพูดถึงโทษของพ่อแม่สามีและสามี  อย่านำเอาคำพูดนั้น มาพูดภายในเรือน  
เศรษฐีได้ฟังคำอธิบายโอวาท  ๑๐  ข้อ แล้ว ไม่โต้แย้ง 

เมื่อจบการวินิจฉัย นางวิสาขาไม่มีความผิดจึงไม่ต้องออกจากเรือนตามคำของพ่อสามี แต่นางจะไป เนื่องจากนางเป็นธิดาของตระกูลผู้มีความเลื่อมใสอันไม่ง่อนแง่นในพระพุทธศาสนา หากไม่ได้บำรุงภิกษุสงฆ์แล้ว จะเป็นอยู่ไม่ได้ หากนางได้บำรุงภิกษุสงฆ์ นางจึงจะอยู่ ซึ่งท่านเศรษฐียินยอม

นางวิสาขาได้ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่บ้านเพื่อถวายภัตรและแสดงธรรม การแสดงธรรมของพระองค์นั้น ไม่ว่าชนผู้นั้นจะอยู่ตรงไหน ผู้รับฟังจะกล่าวว่า "พระศาสดา ย่อมทอดพระเนตรดูเราคนเดียว ทรงแสดงธรรมโปรดเราคนเดียว" นี้เป็นผลแห่งทานที่พระพุทธเจ้าทรงตัดพระเศียร ทรงควักพระเนตร ทรงชำแหล่ะเนื้อหทัย ทรงบริจาคโอรสเช่นพระชาลี  พระกัณหา และพระนางมัทรี  เพื่อเป็นทาสของผู้อื่น

เมื่อมิคารเศรษฐีฟังธรรมเทศนา ได้บรรลุโสดาปัตติผล มีศรัทธามั่นคง หมดความสงสัยในพระรัตนตรัย ได้ขอให้นางวิสาขาเป็นมารดา ตั้งแต่วันนั้น  นางวิสาขาได้ชื่อว่ามิคารมารดา  ภายหลังได้บุตรชาย จึงได้ตั้งชื่อบุตรนั้นว่า  "มิคาระ"  ในวันรุ่งขึ้น แม่สามีก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ตั้งแต่นั้นมา เรือนหลังนั้นได้เปิดประตูเพื่อพระศาสนา


อ่าน อรรถาถาเรื่อง นางวิสาขา

อ้างอิง
พระไตรปิฎกและอรรถกถา เล่มที่ ๔๑ หน้าที่ ๗๓ ถึงหน้าที่ ๑๑๕
ลำดับที่
3

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ