Main navigation

พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อต่าง ๆ

เหตุการณ์
เหตุแรกเกิดให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติการห้ามฉันเนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว

สมัยหนึ่ง อัตคัตอาหาร ช้างหลวงล้มลงหลายเชือก ม้าหลวงตายมาก ประชาชนพากันบริโภคเนื้อช้าง เนื้อม้า และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อช้าง เนื้อม้า

ประชาชน จึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ช้างและม้าเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ คงไม่ทรงเลื่อมใสต่อพระสมณะเหล่านั้นเป็นแน่

พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า

ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อช้าง เนื้อม้า รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
 
สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อสุนัข เนื้องู และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อสุนัข เนื้องูนั้น

ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อสุนัข เนื้องู เพราะสุนัข งู เป็นสัตว์น่าเกลียด น่าชัง แม้พระยานาคชื่อสุปัสสะก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคว่า ขอภิกษุทั้งหลายอย่าฉันเนื้องู

พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระยานาคสุปัสสะเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า 

ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสุนัข เนื้องู รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
 
สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว แล้วบริโภคเนื้อสัตว์นั้น​​และถวายแก่พวกภิกษุ พวกภิกษุฉันเนื้อแล้วอยู่ในป่า ฝูงสัตว์ฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่นเนื้อตน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า

ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
 


อ่าน เภสัชชขันธกะ

อ้างอิง
เภสัชชขันธกะ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ ข้อที่ ๖๐ หน้า ๕๘-๖๑
ลำดับที่
8

สถานที่

นครราชคฤห์

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ