Main navigation

มหาวิยูหสูตร

ว่าด้วย
การยึดถือทิฏฐิของตน
เหตุการณ์
พระพุทธนิมิตตรัสถามพระพุทธเจ้าเรื่องการยึดมั่นในทิฏฐิ เพื่อเทวดาพวกโมหจริต

การยึดมั่นในทิฏฐิเป็นเหตุให้เกิดการวิวาท บุคคลที่ไม่ยึดมั่นในทิฏฐิย่อมไม่วิวาท

ผลแห่งการยึดมั่นในทิฏฐิ

บุคคลที่ยึดมั่นในทิฏฐิ บางครั้งได้ความสรรเสริญ แต่ความสรรเสริญนั้นน้อยนัก ไม่พอแก่ความสงบ 
การยึดมั่นในทิฏฐิเป็นเหตุให้เกิดความวิวาท ซึ่งให้ผล ๒ อย่างคือความนินทาและความสรรเสริญ
ผู้เห็นโทษแห่งการวิวาท เห็นนิพพานเป็นธรรมเกษมไม่ใช่ภูมิแห่งการวิวาท จะไม่วิวาท

ทิฏฐิที่บัณฑิตไม่เข้าใกล้ ธรรมที่ควรเข้าใกล้เพื่อไม่ทำความชอบใจในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง                       

คนบางพวกยึดถือศีลเท่านั้นว่าเป็นธรรมที่ดี แล้วยึดมั่นในศีล พรต ในศาสดานั้น เท่านั้น ย่อมเข้าสู่ภพ และเมื่อตนเคลื่อนจากศีล พรต ก็หวั่นไหว คร่ำครวญถึงความบริสุทธิ์
อริยสาวกละศีล พรต ธรรมที่มีโทษ และไม่มีโทษ ไม่ปรารถนาธรรมบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ เว้นแล้วจากความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ ไม่ถือมั่นทิฏฐิ

บุคคลที่อาศัยทิฏฐิยังเป็นผู้ไม่ปราศจากตัณหาในภพและมิใช่ภพ ย่อมไม่ถึงความบริสุทธิ์

ความดิ้นรนทั้งหลายย่อมมีแก่บุคคลที่มีความหวั่นไหวในสิ่งที่ตนยึดถือ
การจุติและการอุบัติในภพนี้ไม่มีแก่ผู้ใด ผู้นั้นไม่มีเหตุที่ต้องหวั่นไหว ดิ้นรนในอารมณ์
            
เมื่อมีบุคคลบอกว่าธรรมของตนเองดี ธรรมของคนอื่นเลวทราม ธรรมของใครจริง เพราะต่างอ้างว่าตนเป็นผู้ฉลาด

บุคคลที่ยึดถือทิฏฐิของตนว่าบริบรูณ์ของคนอื่นเลวทราม ต่างก็ยึดถือทิฏฐิ ย่อมวิวาทกัน                                     

ถ้าบุคคลพึงเป็นผู้เลวทรามเพราะการติเตียนของบุคคลอื่น  ก็ไม่มีใครเป็นผู้วิเศษในธรรมทั้งหลาย เพราะคนส่วนใหญ่ ย่อมกล่าวธรรมของบุคคลอื่นเป็นธรรมเลวทราม ธรรมของตนเป็นธรรมมั่นคง

ผู้ที่สรรเสริญทางของตน ก็จะบูชาธรรมของตน หากวาทะทั้งปวงเป็นของแท้ ความบริสุทธิ์ของผู้นั้นก็จะเป็นผลเฉพาะตนเท่านั้น
           
ผู้ที่ไม่ยึดถือทิฏฐิจึงล่วงความวิวาทได้ ผู้นั้นย่อมไม่เห็นธรรมอื่นโดยความเป็นธรรมประเสริฐ

เมื่อบุคคลกล่าวว่าเรารู้ เราเห็น สิ่งที่เรารู้เราเห็นนี้ เป็นอย่างนี้ เป็นการเชื่อความบริสุทธิ์ด้วยทิฐิ จะมีประโยชน์อะไรเพราะความเห็นนั้นเป็นเฉพาะตน เพราะบุคคลนั้นก้าวล่วงอริยมรรคจึงกล่าวความบริสุทธิ์ด้วยธรรมอย่างอื่น
           
บุคคลผู้เห็นนามรูปแล้วเห็นว่านามรูปว่าเป็นของเที่ยงและเป็นสุข ไม่ว่าจะเห็นนามรูปมากหรือน้อยว่าเป็นของเที่ยงและเป็นสุข ผู้ฉลาดย่อมไม่กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นว่านามรูปเที่ยงและเป็นสุขเลย

บุคคลที่ยึดทิฏฐิของตนไว้ มีความมั่นใจ ไม่ใช่ผู้ที่บุคคลอื่นจะแนะนำได้ง่าย
ผู้อาศัยครูคนใดแล้ว เป็นผู้กล่าวความดีงามในครูคนนั้น ผู้นั้นเป็นผู้กล่าวความบริสุทธิ์ ได้เห็นความถ่องแท้ในทิฐิของตน
            
บุคคลผู้รู้แล้ว ย่อมไม่เข้าถึงเครื่องกำหนด คือตัณหาและทิฐิ ไม่แล่นไปด้วยทิฐิ และไม่มีตัณหาทิฐิเครื่องผูกพันด้วยญาณ เป็นรู้ทิฐิทั้งหลายแล้ววางเฉย ในขณะที่บุคคลอื่นจะยึดถือในทิฐิเหล่านั้น    

ผู้ที่สละกิเลสเครื่องร้อยรัดเสียแล้ว เมื่อผู้อื่นวิวาทกัน ก็ไม่ไปเข้าพวกเขา ผู้นั้นเป็นผู้สงบ
เมื่อผู้อื่นไม่สงบ ก็เป็นผู้มีอุเบกขา ไม่ยึดถือสิ่งที่คนอื่นยึดถือ
 
ผู้ละอาสวะเบื้องต้น (คือส่วนที่ล่วงแล้ว) ไม่ทำอาสวะใหม่ (คือส่วนที่เป็นปัจจุบัน) ไม่เป็นผู้ลำเอียงเพราะความพอใจ เป็นผู้ไม่ยึดมั่น เป็นนักปราชญ์ หลุดพ้นแล้วจากทิฐิทั้งหลาย ไม่ติเตียนตน ไม่ติดอยู่ในโลก

ผู้เป็นผู้ไม่มีมารและเสนามารในธรรมทั้งปวง คืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว หรือได้ทราบแล้ว ปลงภาระลงแล้ว หลุดพ้นแล้ว เป็นผู้ไม่มีเครื่องกำหนด ไม่เข้าไปยินดี ไม่มีความปรารถนา

 



อ่าน มหาวิยูหสูตร

อ้างอิง
มหาวิยูหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๒๐ หน้า ๓๗๙-๓๘๓
ลำดับที่
24

สถานที่

ไม่ระบุ

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ