Main navigation

จูฬวิยูหสูตร

ว่าด้วย
ผู้ยินดีในทิฏฐิของตน
เหตุการณ์
ในมหาสมัย พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนี้เพื่อประกาศแก่เทวดาบางพวกผู้มีจิตเกิดขึ้นแล้วว่า ผู้ถือทิฎฐิว่าเราดี ตั้งอยู่ในทิฏฐิของตน หรือยอมรับทิฏฐิอื่นด้วย

พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า

บุคคลทั้งหลายผู้ยึดมั่นอยู่ในทิฐิของตน ปฏิภาณว่าตนเป็นผู้ฉลาด ย่อมกล่าวว่าผู้ใดรู้อย่างนี้ ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรม(คือทิฐิ) ผู้คัดค้านทิฐินี้อยู่ ชื่อว่าเป็นผู้เลวทราม ผู้ถือมั่นทิฐิด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมโต้เถียงกัน และกล่าวว่าผู้อื่นเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด

วาทะของบุคคลสองพวกนี้วาทะไหนเป็นวาทะจริง เพราะทั้งหมดต่างก็กล่าวว่าตนเป็นคนฉลาด

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

หากผู้ใดไม่ยินยอมตามความเห็นของผู้อื่นจะเป็นคนเขลา มีปัญญาทราม คนทั้งหมดก็เป็นคนมีปัญญาทราม เพราะว่าคนหล่านี้ทั้งหมดต่างถือมั่นอยู่ในทิฐิของตน

หากคนผ่องใสในทิฐิของตนจัดเป็นคนมีปัญญาบริสุทธิ์ เป็นคนฉลาด มีความคิด ก็จะไม่มีใครเป็นผู้มีปัญญาต่ำทราม เพราะว่าทิฐิของคนเหล่านั้นล้วนเป็นทิฐิเสมอกัน

คนทั้งสองพวกกล่าวกันและกันว่าเป็นผู้เขลาเพราะความเห็นใด เราไม่กล่าวความเห็นนั้นว่าแท้ เพราะคนเหล่านั้นได้กระทำความเห็นว่าสิ่งนี้เท่านั้นจริง(สิ่งอื่นเปล่า)  คนเหล่านั้นจึงตั้งคนอื่นว่าเป็นผู้เขลา

พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวทิฐิใดว่าเป็นความจริง สมณพราหมณ์พวกอื่นก็กล่าวทิฐินั้นว่าเป็นความเท็จ สมณพราหมณ์ทั้งหลายถือมั่นความจริงต่างกันแล้ว ก็วิวาทกัน

เพราะอะไรสมณพราหมณ์ทั้งหลายจึงไม่สามารถกล่าวสัจจะให้เป็นหนึ่งลงไปได้

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า   

สัจจะมีอย่างเดียวเท่านั้น สัจจะที่สองไม่มี ผู้ที่ทราบชัดอยู่จะต้องวิวาทกันทำไม

สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวสัจจะทั้งหลายให้ต่างกันออกไปด้วยตนเอง เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหลายจึงไม่กล่าวสัจจะให้เป็นหนึ่งลงไปได้

พระพุทธนิมิตตรัสถามว่า

เพราะเหตุไรสมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิทั้งหลาย กล่าวยกตนว่าเป็นคนฉลาด จึงกล่าวสัจจะให้ต่างกันไป

สัจจะที่ต่างกันนั้น สมณพราหม์ต่างได้ฟังกันมา หรือว่าต่างระลึกตามความคิดไปเองของตน

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า   

สัจจะมากหลายต่าง ๆ กัน เว้นจากสัญญาว่าเที่ยง ไม่มีในโลกเลย

สมณพราหมณ์ทั้งหลายกำหนดความคาดคะเนในทิฐิทั้งหลาย(ของตน)แล้ว จึงกล่าวทิฐิธรรมอันเป็นคู่กันว่า จริง ๆ เท็จ ๆ 

บุคคลเจ้าทิฐิ อาศัยทิฐิธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่ได้เห็นบ้าง เสียงที่ได้ฟังบ้าง อารมณ์ที่ได้ทราบบ้าง ศีลและพรตบ้าง จึงเป็นผู้เห็นความบริสุทธิ์ และตั้งอยู่ในการวินิจฉัยทิฐิแล้วร่าเริงอยู่ ย่อมติเตียนผู้อื่นว่าเป็นคนเขลาไม่ฉลาด

บุคคลเจ้าทิฐิติเตียนบุคคลอื่นว่าเป็นผู้เขลาด้วยทิฐิใด กล่าวยกตนว่าเป็นผู้ฉลาดด้วยตน ย่อมติเตียนผู้อื่นด้วยทิฐินั้นเอง

บุคคลผู้ยกตนว่าเป็นคนฉลาดด้วยทิฐินั้น ชื่อว่าเจ้าทิฐิเต็มไปด้วยความเห็นว่าเป็นสาระยิ่ง และมัวเมาเพราะมานะ มีมานะบริบูรณ์ อภิเษกตนเองด้วยใจว่า เราเป็นบัณฑิตเพราะทิฐิของเขาบริบูรณ์แล้ว

ถ้าบุคคลที่ถูกเขาว่าอยู่ จะเป็นคนเลวทรามด้วยถ้อยคำของเขา เขาซึ่งกล่าวถ้อยคำนั้นก็จะเป็นผู้มีปัญญาต่ำทรามไปด้วย

ถ้าบุคคลจะเป็นผู้ถึงเวท เป็นนักปราชญ์ด้วยตนเองแล้ว ทั้งหมดก็ไม่มีใครเป็นผู้เขลา

ผู้ที่ยินดีเฉพาะทิฐิของตน กล่าวแต่ความบริสุทธิ์ในธรรมตามทิฐิของตนเท่านั้น ไม่กล่าวความบริสุทธิ์ในธรรมอื่น ชนเหล่าใดกล่าวยกย่องทิฐิอื่น ชนเหล่านั้นผิดพลาด และไม่บริบูรณ์ด้วยความหมดจด และไม่ตั้งใครอื่นในทิฏฐิของตนว่าเป็นผู้เขลา เมื่อเขากล่าวผู้อื่นเป็นผู้เขลา เป็นผู้มีธรรมไม่บริสุทธิ์ ย่อมนำมาซึ่งความทะเลาะวิวาท

ผู้ตั้งอยู่ในการวินิจฉัยทิฐิแล้ว นิรมิตศาสดาขึ้นด้วยตนเอง ก็ต้องวิวาทกันในโลกยิ่งขึ้นไป 

บุคคลละการวินิจฉัยทิฐิทั้งหมดแล้ว ย่อมไม่กระทำความทะเลาะวิวาทในโลก

 

 

อ่าน จูฬหวิยูหสูตร

อ้างอิง
จูฬวิยูหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๑๙ หน้า ๓๗๖-๓๗๙
ลำดับที่
25

สถานที่

ไม่ระบุ

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ