Main navigation

ตุวฏกสูตร

ว่าด้วย
มีความเห็นแล้วถือมั่น
เหตุการณ์
พระพุทธนิมิตตรัสถามพระพุทธเจ้าว่าภิกษุเห็นอย่างไรจึงไม่ถือมั่น ธรรมอะไร ๆ ในโลก ย่อมดับ และถามต่อว่าอะไรคือข้อปฏิบัติและศีลที่ทำให้ผู้รักษาข้อปฏิบัติและศีลนั้นพ้นจากทุกข์

ภิกษุเห็นอย่างไรจึงไม่ถือมั่น ธรรมอะไร ๆ ในโลก ย่อมดับ

ภิกษุพึงปิดกั้นเสียซึ่งธรรมทั้งปวง ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งบังเกิดขึ้น ณ ภายใน พึงเป็นผู้มีสติศึกษาทุกเมื่อ เพื่อปราบตัณหาเหล่านั้น

ภิกษุพึงรู้ยิ่งธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ ภายในหรือภายนอก ไม่พึงกระทำความถือตัวด้วยธรรมนั้น ไม่พึงสำคัญว่า เราเป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือเลวกว่าเขาด้วยความถือตัวนั้น

ภิกษุพึงสงบระงับภายใน ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยอุบายอย่างอื่น

ความเห็นว่าตัวตนย่อมไม่มีแก่ผู้สงบแล้ว ณ ภายใน

ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหวในอิฐผลมีลาภเป็นต้น

ภิกษุไม่พึงกระทำกิเลสที่มีราคะเป็นเหตุให้ฟูขึ้นในอารมณ์ไหน ๆ

 

ข้อปฏิบัติและศีลให้ผู้รักษาพ้นจากทุกข์ (ปฏิปทาบริบูรณ์ มีพระอรหัตเป็นยอด)

ภิกษุไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ ปิดกั้นโสตเสียจากถ้อยคำของชาวบ้าน ไม่พึงกำหนัดยินดีในรส

ไม่พึงถือสิ่งอะไร ๆ ในโลกว่าเป็นของเรา

เมื่อตนอันผัสสะถูกต้องแล้ว ไม่พึงกระทำความร่ำไร

ไม่พึงปรารถนาภพในที่ไหน ๆ

ไม่พึงหวั่นไหวเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว

ไม่พึงกระทำการสั่งสมข้าว น้ำ ของเคี้ยว หรือแม้ผ้าที่ได้รับไว้ และเมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านั้น ก็ไม่พึงสะดุ้งดิ้นรน

พึงเป็นผู้เพ่งฌาน

ไม่พึงโลเลด้วยการเที่ยว

พึงเว้นจากความคะนอง

ไม่พึงประมาท

พึงอยู่ในที่นั่งและที่นอนอันเงียบเสียง

ไม่พึงนอนมาก

พึงมีความเพียร เสพความเป็นผู้ตื่นอยู่

พึงละเสียให้เด็ดขาดซึ่งความเกียจคร้าน ความล่อลวง ความร่าเริง การเล่นเมถุนธรรม และการประดับ

ไม่พึงประกอบอาถรรพ์ ตำราทำนายฝัน ทำนายลักษณะนักขัตฤกษ์ การทำนายเสียงสัตว์ร้อง การทำยาให้หญิงมีครรภ์ และการเยียวยารักษา

ไม่พึงหวั่นไหวเพราะนินทา เมื่อเขาสรรเสริญก็ไม่พึงเห่อเหิม

พึงบรรเทาความโลภ ความตระหนี่ ความโกรธและคำส่อเสียด

ไม่พึงขวนขวายในการซื้อการขาย

ไม่พึงกระทำการกล่าวติเตียนในที่ไหน ๆ

ไม่พึงคลุกคลีในชาวบ้าน

ไม่พึงเจรจากะชนเพราะความใคร่ลาภ

ไม่พึงเป็นผู้พูดโอ้อวด

ไม่พึงกล่าววาจาประกอบปัจจัย

ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง 

ไม่พึงกล่าวถ้อยคำเถียงกัน

พึงเป็นผู้มีสัมปชัญญะ

ไม่พึงนิยมในการกล่าวมุสา

ไม่พึงกระทำความโอ้อวด

ไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่ ปัญญา ศีลและพรต

ถูกผู้อื่นเสียดสีแล้ว ได้ฟังวาจามากของผู้พูดมาก ไม่พึงโต้ตอบด้วยคำหยาบ เพราะสัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กระทำความเป็นข้าศึก

ภิกษุรู้ทั่วถึงธรรมนี้แล้ว รู้ความดับกิเลสว่าเป็นความสงบดังนี้แล้ว พึงเป็นผู้มีสติศึกษาทุกเมื่อ ไม่พึงประมาท พึงเป็นผู้ครอบงำอารมณ์มีรูปเป็นต้น อันอารมณ์มีรูปเป็นต้นครอบงำไม่ได้ เป็นผู้เห็นธรรมที่ตนเห็นเอง พึงนอบน้อมศึกษาไตรสิกขาอยู่เนือง ๆ

 

 

อ่าน ตุวฏกสูตร

อ้างอิง
ตุวฏกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๒๑ หน้า ๓๘๓-๓๘๕
ลำดับที่
26

สถานที่

ไม่ระบุ

อารมณ์

สงบ มั่นคง

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ