นิสสัคคิยปาจิตตีย์ สิกขาบทที่ ๑
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โคตมกเจดีย์ เขตพระนครเวสาลี พระองค์ทรงอนุญาตไตรจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระฉัพพัคคีย์ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไตรจีวรแล้ว จึงครองไตรจีวรเข้าบ้านสำรับหนึ่ง อยู่ในอารามอีกสำรับหนึ่ง สรงน้ำอีกสำรับหนึ่ง
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ทรงจีวรเกินหนึ่งสำรับ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ เมื่อทรงทราบว่าเป็นเรื่องจริงพระองค์ทรงติเตียนว่า
การกระทำของพระฉัพพัคคีย์นั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ทรงจีวรเกินหนึ่งสำรับ
การกระทำนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์ดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความจำกัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
เพราะเหตุนั้นแล พระองค์จักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑
แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้
ภิกษุใดทรงอติเรกจีวร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
สมัยนั้น อติเรกจีวรที่เกิดแก่ท่านพระอานนท์ และท่านประสงค์จะถวายจีวรนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่ถึงเมืองสาเกต ท่านพระอานนท์จึงมีความปริวิตกว่าจะพึงปฏิบัติอย่างไร ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่าอีกนานเท่าไรท่านพระสารีบุตรจึงจักกลับมา พระอานนท์กราบทูลว่าจักกลับมาในวันที่ ๙ หรือวันที่ ๑๐
พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา และทรงมีพระอนุบัญญัติ ดังนี้
จีวรสำเร็จแล้ว กฐินอันภิกษุเดาะเสียแล้ว พึงทรงอติเรกจีวรได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์
ในสมัยนั้น พระฉัพพัคคีย์ไม่ให้คืนจีวรที่เสียสละ บรรดาภิกษุนำกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์และทรงทราบว่าเป็นเรื่องจริงจึงได้กล่าวว่า
การกระทำของพระฉัพพัคคีย์นั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ฯลฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย
พระองค์ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
จีวรที่ภิกษุเสียสละแล้ว สงฆ์ คณะ หรือบุคคล จะไม่คืนให้ไม่ได้ ภิกษุใดไม่คืนให้ ต้องอาบัติทุกกฏ