Main navigation

จาตุมสูตร

ว่าด้วย
ภัย ๔ อย่างของบรรพชิต
เหตุการณ์
ภิกษุประมาณห้าร้อยรูป มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นหัวหน้า มาเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่น เสียงดัง พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกมาตำหนิ และไม่ให้อยู่ในสำนัก เจ้าศากยะชาวเมืองจาตุมา และท้าวสหัมบดีพรหมได้มาวิงวอนขอให้พระองค์ยกโทษให้ พระองค์ได้ทรงเทศนาในเรื่องของภัย๔ อย่างของบรรพชิต

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อามลกีวัน ใกล้บ้านจาตุมา ภิกษุประมาณห้าร้อยรูป มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นหัวหน้า มาเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้น ปราศรัยกับภิกษุเจ้าถิ่น จัดเสนาสนะ เก็บบาตร และจีวร เป็นผู้มีเสียงสูง มีเสียงดัง พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ถึงเหตุที่เสียงดัง ทรงให้ภิกษุเหล่านั้นมาเฝ้า แล้วทรงประณามการที่ภิกษุส่งเสียงดังราวกับชาวประมงแย่งปลากันและให้อยู่ในสำนัก

ภิกษุเหล่านั้นจึงหลีกไป เมื่อพวกเจ้าศากยะชาวเมืองจาตุมาที่มาประชุมกันอยู่ที่เรือนรับแขก ได้เห็นภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปถามเมื่อทราบเหตุจึงขอให้ภิกษุเหล่านั้นนั่งรออยู่

เจ้าศากยะชาวเมืองจาตุมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์เหมือนที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ในกาลก่อน ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ มีภิกษุที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัย ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็จะพึงมีความน้อยใจ มีความแปรปรวนไป เปรียบเหมือนเมื่อพืชที่ยังอ่อน ไม่ได้น้ำ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไป เปรียบเหมือนเมื่อลูกโคอ่อนไม่เห็นแม่ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงแปรไป

ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบพระพุทธดำริแห่งพระทัยของพระผู้มีพระภาคด้วยใจของตน จึงมาปรากฏตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลขอวิงวอนพระผู้มีพระภาคในทำนองเดียวกัน

ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงเรียกภิกษุทั้งหลายให้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับถามท่านพระสารีบุตรว่า เมื่อทรงประณามภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของท่านพระสารีบุตรได้มีอย่างไร

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประณามภิกษุสงฆ์แล้ว จิตได้มีอย่างนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงมีความขวนขวายน้อย ประกอบตามธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่ แม้เราทั้งหลายก็จักมีความขวนขวายน้อย ประกอบตามธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่ในบัดนี้

พระพุทธเจ้าตรัสให้ท่านสารีบุตรรอก่อน อย่าพึงให้จิตเห็นปานนี้เกิดขึ้นอีกเลย

พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่าเมื่อทรงประประณามภิกษุสงฆ์แล้ว จิตของท่านพระโมคคัลลานได้มีอย่างไร

ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประณามภิกษุสงฆ์แล้ว จิตได้มีอย่างนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงมีความขวนขวายน้อย ประกอบตามธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่ ตนและท่านพระสารีบุตรจักช่วยกันปกครองภิกษุสงฆ์ในบัดนี้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดีแล้ว ความจริงพระองค์ หรือสารีบุตรและโมคคัลลานะเท่านั้น พึงปกครองภิกษุสงฆ์

ภัยของบรรพชิต

พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อบุคคลกำลังลงน้ำ พึงหวังภัย ๔ อย่างนี้ได้ คือ ภัยเพราะคลื่น ภัยเพราะจระเข้ ภัยเพราะน้ำวน ภัยเพราะปลาร้าย

เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้ พึงหวังได้ ภัย ๔ อย่าง คือ ภัยเพราะคลื่น ภัยเพราะจระเข้ ภัยเพราะน้ำวน ภัยเพราะปลาร้าย

ภัยเพราะคลื่นเป็นไฉน

กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ท่วมทับแล้ว ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏได้

เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายย่อมตักเตือนสั่งสอนกุลบุตรนั้นผู้บวชแล้วอย่างนั้นว่า ท่านพึงก้าวไปอย่างนี้ ท่านพึงถอยกลับอย่างนี้ ท่านพึงแลอย่างนี้ ท่านพึงเหลียวอย่างนี้ ท่านพึงคู้เข้าอย่างนี้ ท่านพึงเหยียดออกอย่างนี้ ท่านพึงทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวรอย่างนี้

กุลบุตรนั้นมีความดำริอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ ย่อมตักเตือคนอื่นนบ้าง สั่งสอนคนอื่นบ้าง ก็ภิกษุเหล่านี้เพียงคราวบุตรคราวหลานของเรา ยังมาสำคัญการที่จะพึงตักเตือนพร่ำสอนเรา เขาจึงบอกคืนสิกขาสึกไป

กุลบุตรผู้นี้เรากล่าวว่ากลัวแต่ภัยเพราะคลื่น แล้วบอกคืนสิกขาสึกไป

คำว่าภัยเพราะคลื่นนี้ เป็นชื่อของความคับใจด้วยสามารถความโกรธ

ภัยเพราะจระเข้เป็นไฉน

กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ท่วมทับแล้ว ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏได้

เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ย่อมตักเตือนสั่งสอนกุลบุตรผู้บวชแล้วอย่างนั้นว่า สิ่งนี้ท่านควรเคี้ยวกิน สิ่งนี้ท่านไม่ควรเคี้ยวกิน สิ่งนี้ท่านควรฉัน สิ่งนี้ท่านไม่ควรฉัน สิ่งนี้ท่านควรลิ้ม สิ่งนี้ท่านไม่ควรลิ้ม สิ่งนี้ท่านควรดื่ม สิ่งนี้ท่านไม่ควรดื่ม สิ่งเป็นกัปปิยะท่านควรเคี้ยวกิน ควรฉัน ควรลิ้ม ควรดื่ม สิ่งเป็นอกัปปิยะท่านไม่ควรเคี้ยวกิน ไม่ควรฉัน ไม่ควรลิ้ม ไม่ควรดื่ม ท่านควรเคี้ยวกิน ควรฉัน ควรลิ้ม ควรดื่มในกาล ท่านไม่ควรเคี้ยวกิน ไม่ควรฉัน ไม่ควรลิ้ม ไม่ควรดื่มในวิกาล (ไม่ใช่กาล)

กุลบุตรนั้นย่อมมีความดำริอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ ปรารถนาจะเคี้ยวกินสิ่งใดก็เคี้ยวกินสิ่งนั้นได้ ไม่ปรารถนาจะเคี้ยวกินสิ่งใด ก็ไม่เคี้ยวกินสิ่งนั้นได้ ปรารถนาจะบริโภคสิ่งใด ก็บริโภคสิ่งนั้นได้ ไม่ปรารถนาจะบริโภคสิ่งใด ก็ไม่บริโภคสิ่งนั้นได้ ปรารถนาจะลิ้มสิ่งใด ก็ลิ้มสิ่งนั้นได้ ไม่ปรารภจะลิ้มสิ่งใด ก็ไม่ลิ้มสิ่งนั้นได้ ปรารถนาจะดื่มสิ่งใด ก็ดื่มสิ่งนั้นได้ ไม่ปรารถนาจะดื่มสิ่งใด ก็ไม่ดื่มสิ่งนั้นได้ จะเคี้ยวกินสิ่งเป็นกัปปิยะก็ได้ จะเคี้ยวกินสิ่งเป็นอกัปปิยะก็ได้ จะบริโภคสิ่งเป็นกัปปิยะก็ได้ จะบริโภคสิ่งเป็นอกัปปิยะก็ได้ จะลิ้มสิ่งเป็นกัปปิยะก็ได้ จะลิ้มสิ่งเป็นอกัปปิยะก็ได้ จะดื่มสิ่งเป็นกัปปิยะก็ได้ จะดื่มสิ่งเป็นอกัปปิยะก็ได้ จะเคี้ยวกินในกาลก็ได้ จะเคี้ยวกินในวิกาลก็ได้ จะบริโภคในกาลก็ได้ จะบริโภคในวิกาลก็ได้ จะลิ้มในกาลก็ได้ จะลิ้มในวิกาลก็ได้ จะดื่มในกาลก็ได้ จะดื่มในวิกาลก็ได้ ก็คฤหบดีทั้งหลาย ผู้มีศรัทธา ย่อมให้ของควรเคี้ยว ของควรบริโภคอันประณีตในวิกาลเวลากลางวัน อันใด แก่เราทั้งหลาย ชะรอยภิกษุเหล่านั้นจะทำการห้ามปากในสิ่งนั้นเสีย ดังนี้ เขาจึงบอกคืนสิกขาสึกไป

กุลบุตรผู้นี้เรากล่าวว่า กลัวแต่ภัยเพราะจระเข้ บอกคืนสิกขาสึกไป

คำว่าภัยเพราะจระเข้นี้ เป็นชื่อของความเป็นผู้เห็นแก่ท้อง

ภัยเพราะน้ำวนเป็นไฉน

กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ ท่วมทับแล้ว ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงปรากฏได้

เขาบวชแล้วอย่างนี้ เวลาเช้านุ่งสบงแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่ดำรงสติ ไม่สำรวมอินทรีย์เลย เขาเห็นคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี ผู้เอิบอิ่มพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยกามคุณห้าในบ้านหรือนิคม เขามีความคิดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้เอิบอิ่มพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยกามคุณห้า สมบัติก็มีอยู่ในสกุล เราสามารถจะบริโภคสมบัติและทำบุญได้ ดังนี้ เขาจึงบอกคืนสิกขาสึกไป

กุลบุตรผู้นี้เรากล่าวว่า ผู้กลัวต่อภัยเพราะน้ำวน บอกคืนสิกขาสึกไป

คำว่าภัยเพราะน้ำวนนี้ เป็นชื่อแห่งกามคุณห้า

ภัยเพราะปลาร้ายเป็นไฉน

กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ครอบงำแล้ว เป็นผู้อันทุกข์ท่วมทับแล้ว ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏได้

เขาบวชแล้วอย่างนี้ เวลาเช้านุ่งสบงแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่ดำรงสติ ไม่สำรวมอินทรีย์เลย เขาย่อมเห็นมาตุคามผู้นุ่งผ้าไม่ดี หรือห่มผ้าไม่ดีในบ้านหรือนิคมนั้น เพราะเหตุมาตุคามผู้นุ่งผ้าไม่ดี หรือห่มผ้าไม่ดี ความกำหนัดย่อมตามกำจัดจิตของกุลบุตรนั้น เขามีจิตอันความกำหนัดตามกำจัดแล้ว จึงบอกคืนสิกขาสึกไป

กุลบุตรผู้นี้เรากล่าวว่า กลัวแต่ภัยเพราะปลาร้าย บอกคืนสิกขาสึกไป

คำว่าภัยเพราะปลาร้ายนี้ เป็นชื่อแห่งมาตุคาม

ภัย ๔ อย่างนี้แล เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้ พึงหวังได้

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชม ยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

 

อ้างอิง
จาตุมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๘๖-๑๙๔ หน้า ๑๕๒-๑๕๘
ลำดับที่
18

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย