โจทด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล
พระเมตติยะและพระภุมมชกะ เป็นพระบวชใหม่ และมีบุญน้อย ได้แต่เสนาสนะและอาหารอย่างเลว ในขณะที่ชาวบ้านในพระนครราชคฤห์ชอบถวายเนยใสบ้าง น้ำมันบ้าง แกงที่มีรสดี ๆ บ้าง แก่พระเถระทั้งหลาย ส่วนพระเมตติยะและพระภุมมชกะ เขาถวายอาหารอย่างธรรมดาตามแต่จะหาได้ เป็นปลายข้าว มีน้ำส้มเป็นกับ
ในเวลาหลังอาหาร ทั้งสองกลับจากบิณฑบาตแล้ว เที่ยวถามพวกภิกษุผู้เถระว่าพวกท่านมีอาหารอะไรบ้าง ก็ทราบว่ามีเนยใส น้ำมัน แกงที่มีรสอร่อย
สมัยต่อมา ภัตตุเทสก์ได้ถวายภัตตาหารของคหบดีผู้ชอบถวายอาหารที่ดีเป็นนิจภัตรแก่สงฆ์ แก่พระเมตติยะและพระภุมมชกะเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น ขณะนั้นท่านคหบดีไปสู่อารามด้วยกิจบางอย่าง แล้วเข้าไปหาท่านพระทัพพมัลลบุตร แล้วเรียนถามว่าภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ที่เรือนของตน พระทัพพมัลลบุตรจัดถวายแก่ภิกษุรูปใด
เมื่อทราบว่าจัดไว้ให้แก่พระเมตติยะกับพระภุมมชกะ ท่านคหบดีเกิดความน้อยใจว่า เหตุใดภิกษุผู้ลามกจักฉันภัตตาหารในเรือนของตน จึงสั่งหญิงคนใช้ให้จัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาสภิกษุผู้จะมาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ด้วยปลายข้าว มีน้ำส้มเป็นกับ
ครั้งนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะกล่าวแก่กันว่า เมื่อวานนี้ ท่านภัตตุเทสก์จัดภัตตาหารในเรือนท่านกัลยาณถัตติกคหบดีให้พวกตน พรุ่งนี้ท่านคหบดีพร้อมด้วยบุตรภรรยา จักอังคาสตน คนอื่น ๆ จักถามด้วยข้าวสุก กับข้าว น้ำมัน แกงที่มีรสอร่อย ๆ
ด้วยความดีใจนั้น ตกกลางคืนทั้งสองจำวัดหลับไม่เต็มตื่น ครั้นเวลาเช้า พระเมตติยะและพระภุมมชกะ ครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวรเดินเข้าไปยังนิเวศน์ของกัลยาณภัตติกคหบดี
หญิงรับใช้นั้นได้เห็นพระเมตติยะและพระภุมมชกะกำลังเดินมาแต่ไกล จึงปูอาสนะถวายที่ซุ้มประตู แล้วนิมนต์นั่ง พระเมตติยะและพระภุมมชกะนึกว่าภัตตาหารจะยังไม่เสร็จเป็นแน่ จึงให้พวกตนนั่งพักที่ซุ้มประตูก่อน
หญิงคนใช้นำอาหารปลายข้าว ซึ่งมีน้ำผักดองเป็นกับเข้าไปถวาย กล่าวอาราธนาให้ฉัน พระเมตติยะจึงกล่าวว่าพวกตนเป็นพระรับฉันนิจภัต
หญิงรับใช้จึงบอกว่าทราบแล้วว่าทั้งสองเป็นพระรับฉันนิจภัต แต่เมื่อวานนี้ ท่านคหบดีได้สั่งไว้ว่าให้จัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาสภิกษุผู้จะมาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ด้วยปลายข้าว มีน้ำส้มเป็นกับ
พระเมตติยะและพระภุมมชกะจึงปรึกษากันว่า เมื่อวานนี้เอง ท่านคหบดีไปสู่อารามในสำนักพระทัพพมัลลบุตร ท่านคหบดีคงถูกพระทัพพมัลลบุตรยุยงเป็นแน่นอน
ทั้งสองรูปนั้นฉันไม่ได้ดังใจนึก เพราะความเสียใจนั้น ครั้นกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งรัดเข่าด้วยผ้าสังฆาฏิอยู่ภายนอกซุ้มประตูอาราม นิ่งอั้น เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่พูดจา
ครั้งนั้น ภิกษุณีเมตติยาเข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะถึงสำนัก แล้วไหว้ พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็มิได้ทักทายปราศรัย นางกล่าวทักทายถึง ๓ ครั้ง พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็มีได้ทักทายปราศัยตอบ ภิกษุณีเมตติยาจึงถามว่าตนผิดอย่างไร ไม่ทักทายปราศรัยกับตนเพื่อประสงค์อะไร
ภิกษุทั้งสองจึงตอบว่าพวกตนถูกพระทัพพมัลลบุตรเบียดเบียนอยู่ ภิกษุณีเมตติยายังเพิกเฉย แล้วกล่าวต่อไปว่า ถ้านางเต็มใจช่วย วันนี้พระผู้มีพระภาคต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก โดยให้เข้าไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าตนถูกพรทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์ แล้วทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่าระลึกได้หรือไม่ว่า เป็นผู้ทำกรรมดังนางภิกษุณีนี้กล่าวหา
ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่าตนเป็นฉันใด
พระผู้มีพระภาคตรัสถามถึงสามครั้ง พระทัพมัลลบุตรก็ตอบเช่นเดิม
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าบัณฑิตย่อมไม่กล่าวแก้คำกล่าวหาเช่นนี้ ถ้าทำ ก็จงบอกว่าทำ ถ้าไม่ได้ทำ ก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ
พระทัพพมัลลบุตรจึงกราบทูลว่า ตั้งแต่ตนเกิดมา แม้โดยความฝันก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตอนตื่นอยู่
พระผู้มีพระภาคจึงทรงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่าให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสีย และให้สอบสวนภิกษุเหล่านี้
เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ให้ภิกษุณีเมตติยาสึก พระเมตติยะและพระภุมมชกะจึงได้แถลงเรื่องนี้กะภิกษุทั้งหลายว่า อย่าให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเลย นางไม่ผิดอะไร พวกตนแค้นเคือง ไม่พอใจ มีความประสงค์จะให้ท่านพระทัพพมัลลบุตรเคลื่อนจากพรหมจรรย์ จึงได้ให้นางใส่ไคล้
เมื่อภิกษุทั้งหลายทราบว่าพวกพระเมตติยะโจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกโดยไม่มีมูล บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่สิกขา ต่างพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหตุไรพระเมตติยะและพระภุมมชกะจึงได้โจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกโดยไม่มีมูล
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ทรงเรียกประชุมสงฆ์แล้วทรงสอบถามพระเมตติยะและพระภุมมชกะ เมื่อทรงทราบว่าจริง ทรงติเตึยนว่า
การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใสและเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยเอนกปริยาย
แล้วทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งว่า
เพราะเหตุนั้น เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
เพื่อถือตามพระวินัย ๑
พระบัญญัติ
อนึ่ง ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ตามกำจัดภิกษุด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิกอันหามูลมิได้ ด้วยหมายว่า จะยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น อันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ถือเอาตามก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้น เป็นเรื่องหามูลมิได้ และภิกษุยอมรับผิด เป็นสังฆาทิเสส