ตระกูลที่ภิกษุควรเข้าไปและไม่ควรเข้าไป
สมัยหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งพระนครสาวัตถี ประทับยืนอยู่ปราสาทชั้นบน ทอดพระเนตรไปยังถนน เห็นภิกษุหลายพันรูป กำลังไปทำภัตกิจในเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จูฬอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา นางสุปปวาสา จึงตรัสถามว่าภิกษุทั้งหลายจะไปไหน
พวกราชบุรุษทูลว่าภิกษุสองพันรูปไปเพื่อภัตทั้งหลาย มีนิตยภัต สลากภัต และคิลานภัต เป็นต้น ในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีทุก ๆ วัน ภิกษุ ๕๐๐ รูป ไปเรือนของจูฬอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นนิตย์ ของนางวิสาขา และนางสัปปวาสา ก็เช่นเดียวกัน
พระเจ้าปเสนทิโกศลมีพระประสงค์จะบำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยพระองค์เองบ้าง จึงเสด็จไปวิหาร ทรงนิมนต์พระศาสดาพร้อมกับภิกษุพันรูป ถวายทานด้วยพระหัตถ์เองสิ้น ๗ วัน ในวันที่ ๗ ถวายบังคมพระศาสดาแล้วทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงรับภิกษาของตนพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป เป็นนิตย์
พระศาสดาตรัสว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่รับภิกษาประจำในที่แห่งเดียว ประชาชนเป็นจำนวนมาก ย่อมหวังการมาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลขอให้ส่งภิกษุรูปหนึ่งไปประจำ พระศาสดาทรงให้พระอานนทเถระจัดการ
พระราชาทรงอังคาสด้วยพระองค์เองเท่านั้นตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๘, ๙, ๑๐ ทรงลืม ภิกษุหลายรูปจึงพากันหลีกไป เหลือเพียงพระอานนทเถระองค์เดียวเท่านั้น
พวกราชบุรุษนิมนต์พระอานนท์ให้นั่งแล้วอังคาส พระราชาเสด็จมาในเวลาที่พวกภิกษุไปแล้ว ทอดพระเนตรเห็นขาทนียะและโภชนียะตั้งอยู่อย่างนั้นแหละ จึงตรัสถามว่าภิกษุทั้งหลายมิได้มาหรือ
พวกราชบุรุษทูลว่าพระอานนทเถระมารูปเดียวเท่านั้น
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพิโรธภิกษุทั้งหลาย ดำริว่าภิกษุทั้งหลายได้ทำการตัดขาดต่อตน แล้วเสด็จไปสำนักพระศาสดา กราบทูลว่า ตนจัดแจงภิกษาไว้เพื่อภิกษุ ๕๐๐ รูป แต่พระอานนทเถระมารูปเดียวเท่านั้น เหตุไหรภิกษุ ๕๐๐ รูป ไม่ให้ความสำคัญในพระราชวังของตนเลย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะสาวกทั้งหลายไม่มีความคุ้นเคยกับพระเจ้าปเสนทิโกศล แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า
ตระกูลที่ภิกษุควรเข้าไป ไม่เข้าไป
ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ ภิกษุยังไม่เข้าไปแล้ว ก็ไม่ควรเข้าไป และครั้นเข้าไปแล้ว ก็ไม่ควรนั่งใกล้
ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ เหล่านี้ คือ
เขาไม่ต้อนรับด้วยความพอใจ
ไม่อภิวาทด้วยความพอใจ
ไม่ให้อาสนะด้วยความพอใจ
ซ่อนของที่มีอยู่ของเขาไว้
เมื่อของมีอยู่มาก ก็ให้แต่น้อย
เมื่อมีของประณีต ก็ให้ของเศร้าหมอง
ให้โดยไม่เคารพ ไม่ให้โดยความเคารพ
ไม่นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม
เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวธรรมอยู่ เขาก็ไม่ยินดี
ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ ภิกษุยังไม่เข้าไป ก็ควรเข้าไป และเมื่อเข้าไปแล้ว ก็ควรนั่งใกล้
ตระกูลที่ประกอบด้วยองค์ ๙ เหล่านี้ คือ
เขาต้อนรับด้วยความพอใจ
อภิวาทด้วยความพอใจ
ให้อาสนะด้วยความพอใจ
ไม่ซ่อนของที่มีอยู่ของเขาไว้
เมื่อของมีมาก ก็ให้มาก
เมื่อมีของประณีต ก็ให้ของประณีต
ให้โดยเคารพ ไม่ให้โดยไม่เคารพ
เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม
เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวธรรมอยู่ เขาก็ยินดี
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า สาวกของพระองค์เมื่อไม่ได้ความคุ้นเคยจากพระราชวังพระเจ้าปเสนทิโกศล จึงไม่ไป ด้วยประการนี้ แท้จริง โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย แม้เขาบำรุงอยู่ด้วยความเคารพในที่ ๆ ไม่คุ้นเคย ถึงเวทนาแทบปางตาย ก็ไปสู่ที่ของผู้คุ้นเคยกันเหมือนกัน
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามว่าในการใด พระผู้มีพระภาคทรงนำอดีตมาสาธกดังนี้
เกสวชาดก ว่าด้วย ความคุ้นเคยเป็นรสอันยอดเยี่ยม
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี พระราชาทรงพระนามว่าเกสวะ ทรงสละราชสมบัติผนวชเป็นฤาษี บุรุษ ๕๐๐ คน ออกบวชตามพระราชานั้น ท้าวเธอได้พระนามว่าเกสวดาบส อนึ่ง นายภูษามาลาของพระองค์ก็ได้ตามบวชเป็นอันเตวาสิกนามว่ากัปปกะ เกสวดาบสกับบริษัทอาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศในฤดูฝน ตลอด ๘ เดือน และมาสู่กรุงพาราณสีเพื่อต้องการเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว
พระราชาทอดพระเนตรเห็นดาบสนั้นแล้ว ทรงเลื่อมใส ทรงรับปฏิญญาเพื่อประโยชน์แก่การอยู่ในสำนักของพระองค์ตลอด ๔ เดือน นิมนต์ให้พักอยู่ในพระราชอุทยาน ท้าวเธอเสด็จไปสู่ที่บำรุงพระดาบสนั้น ทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า
พวกดาบสพักอยู่ได้เพียง ๒-๓ วันเท่านั้น ก็รำคาญเสียงอึงคะนึงต่าง ๆ จึงกล่าวกับเกสวดาบสผู้เป็นอาจารย์ว่าพวกตนรำคาญใจ ไม่อาจอยู่ที่นี่ได้ จะไปหิมวันตประเทศ
เกสวดาบสกล่าวว่าพระราชาทรงรับปฏิญญาการอยู่ในที่นี้ตลอด ๔ เดือน จักไปได้อย่างไรเล่า
อันเตวาสิกจึงกล่าวว่าอาจารย์ไม่ปรึกษาพวกตนเสียก่อนที่จะถวายปฏิญญา พวกตนไม่อาจอยู่ที่นี่ได้ แล้วพากันหลีกไป เกสวดาบสคงอยู่กับอันเตวาสิกชื่อกัปปกะ เท่านั้น
เมื่อพระราชาเสด็จมาสู่ที่บำรุง ตรัสถามว่าดาบสทั้งหลายไปไหน
เกสวดาบสทูลว่าพวกดาบสเหล่านั้นรำคาญใจ จึงไปหิมวันตประเทศ
ต่อมาไม่นานนัก กัปปกดาบสก็รำคาญ แม้ถูกอาจารย์ห้าม ก็ไม่อาจทนได้ แล้วก็หลีกไปอยู่ในที่ไม่ไกลนัก คอยฟังข่าวของอาจารย์
ในกาลต่อมา โรคในท้องของเกสวดาบสก็เกิดขึ้น พระราชารับสั่งให้แพทย์เยียวยา แต่ไม่อาจทำให้โรคสงบได้ พระดาบสจึงทูลพระราชาว่า หากพระราชาทรงปรารถนาความสุขแก่ตนโปรดส่งตนไปสำนักพวกอันเตวาสิก
พระราชาทรงส่งดาบสนั้นไปพร้อมกับอำมาตย์ ๔ คน มีนารทอำมาตย์เป็นหัวหน้า กัปปกอันเตวาสิกทราบว่าอาจารย์มา ก็ทำการต้อนรับ
กัปปกดาบสเรียนอาจารย์ถึงที่อยู่ของอันเตวาสิกที่เหลือ เมื่ออันเตวาสิกเหล่านั้นทราบว่าอาจารย์มาแล้ว ต่างเข้ามาหาอาจารย์ ถวายน้ำร้อน ถวายผลาผลแก่อาจารย์ โรคของพระดาบสได้สงบโดย ๒-๓ วันเท่านั้น
นารทอำมาตย์ได้ถามว่าเหตุไรเกสวดาบสจึงละพระเจ้าพาราณสี ซึ่งสามารถให้สำเร็จประสงค์ทุกประการ แล้วมายินดีอยู่ในอาศรมของกัปปกดาบส
เกสวดาบสตอบว่า สิ่งอันน่ารื่นรมย์ใจซึ่งยังประโยชน์ให้สำเร็จมีอยู่ หมู่ไม้อันน่ารื่นรมย์ใจมีอยู่ ถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตของกัปปกดาบส ยังตนให้ยินดี
นารทอำมาตย์ถามต่อไปว่าเกสวดาบสบริโภคข้าวสาลีสุกที่ปรุงด้วยเนื้อสะอาด ไฉนข้าวฟ่างและลูกเดือยอันหารสมิได้ จึงทำให้เกสวดาบสยินดีได้
เกสวดาบสตอบว่าของบริโภคจะดีหรือไม่ดีก็ตาม จะน้อยหรือมากก็ตาม บุคคลใดคุ้นเคยกันแล้ว จะพึงบริโภค ณ ที่ใด การบริโภค ณ ที่นั้นแหละดี เพราะรสทั้งหลาย มีความคุ้นเคยกันเป็นยอดเยี่ยม
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประมวลชาดก ตรัสว่า
พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็นโมคคัลลานะ นารทอำมาตย์ ได้เป็นสารีบุตร อันเตวาสิกชื่อกัปปกะ ได้เป็นอานนท์ เกสวดาบสเป็นตถาคต
ดังนี้แล้ว ตรัสกะพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า บัณฑิตในปางก่อน ถึงเวทนาปางตาย ได้ไปสู่ที่คนมีความคุ้นเคยกันแล้ว สาวกทั้งหลายของพระองค์ ชะรอยจะไม่ได้ความคุ้นเคยในสำนักของพระเจ้าปเสนทิโกศล
อ่าน กุลสูตร