Main navigation

อนาถบิณฑิกเศรษฐีเสียชีวิต แล้วเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วิหารเชตวัน นครสาวิตถี อนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งเป็นไข้อยู่นิมนต์พระสารีบุตรไปยังบ้านของตน พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี หลังจากนั้นไม่นานอนาถบิณฑิกเศรษฐีเสียชีวิต

 

พระสารีบุตรให้โอวาทแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีให้คลายความยึดมั่นใน

(๑) อายตนะภายใน และวิญญาณที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จักไม่มีแก่ท่าน

(๒) อายตนะภายนอก และวิญญาณที่อาศัยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ จักไม่มีแก่ท่าน

(๓) ในวิญญาณทั้งหก และวิญญาณที่อาศัยจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ จักไม่มีแก่ท่าน

(๔) ในผัสสะ และวิญญาณที่อาศัยจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส จักไม่มีแก่ท่าน

(๕) ในเวทนาที่เกิดจากสัมผัสทั้งหก และวิญญาณที่อาศัยเวทนาเกิดแต่จักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส จักไม่มีแก่ท่าน

(๖) เวทนาที่เกิดจากธาตุ และวิญญาณที่อาศัยปฐวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ เตโชธาตุ อากาศธาตุ จักไม่มีแก่ท่าน

(๗) ในขันท์ห้า และวิญญาณที่อาศัยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักไม่มีแก่ท่าน

(๘) ในอรูปฌาณสี่ และวิญญาณที่อาศัยอากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จักไม่มีแก่ท่าน

(๙) ในโลกนี้ โลกหน้า และวิญญาณที่อาศัยโลกนี้ โลกหน้า จักไม่มีแก่ท่าน

(๑๐)ในอารมณ์ที่ได้เห็น ได้ฟัง ได้ทราบ ได้รู้แจ้ง ได้แสวงหา ได้พิจารณาด้วยใจแล้ว และวิญญาณที่อาศัยอารมณ์นั้นจักไม่มีแก่ท่าน

อนาถบิณฑิกเศรษฐีปีติในธรรมนัก และกล่าวว่ายังไม่เคยได้ฟังธรรมมีกถาเห็นปานนี้ พระสารีบุตรกล่าวว่าธรรมมีกถานี้เป็นธรรมที่แจ่มแจ้งแก่บรรพชิต มิได้แจ่มแจ้งแก่คฤหัสน์ผู้นุ่งผ้าขาว

เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีเสียชีวิตแล้ว ได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต อนาถบิณฑิกเทพบุตรเสด็จไปเวหารเชตุวันแล้วตรัสกับพระพุทธเจ้าว่า พระวิหารเชตวันนี้มีประโยชน์เพราะได้เป็นที่พักอาศัยให้แก่สงฆ์ และมีพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ยังให้เกิดปีติแก่ตัวท่านอนาถบิณฑิก

และกล่าวว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยธรรม ๕ อย่างนี้ คือ กรรม วิชชา ธรรม ศีล ชีวิตอุดม ไม่ใช่ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ เมื่อบัณฑิตเห็นประโยชน์เช่นนี้แล้วจะเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย จะบริสุทธิ์ในธรรมได้ด้วยประการนี้

อนาถบิณฑิกเทพบุตรได้กล่าวสรรเสริญพระสารีบุตรว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยปัญญา ด้วยศีล และด้วยความสงบ ภิกษุผู้ถึงความบริสุทธิ์แล้วจะดียิ่งก็ต้องเป็นเช่นพระสารีบุตร

 

อ่าน อนาถปิณฑิโกวาทสูตร

 

 

 

อ้างอิง
อนาถปิณฑิโกวาทสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๗๒๐-๗๔๐ หน้าที่ ๓๔๘-๓๕๕
ลำดับที่
3

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ