Main navigation

พระนางรูปนันทาเถรี

เหตุการณ์
บุพกรรมและการบรรลุธรรมของพระนางรูปนันทาเถรี

ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ ก่อนภัทรกัปนี้ พระนางรูปนันทาเถรีได้ฟังพระพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าปทุมุตตระแล้วมีใจยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตาบำรุงพระพุทธองค์ด้วยปัจจัยทั้งหลายตลอดชีวิต

ด้วยกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ดีนั้น ด้วยการตั้งเจตจำนงไว้ เมื่อละร่างกายมนุษย์ได้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จุติจากสวรรค์ชั้นนั้น แล้วไปสู่สวรรค์ชั้นยามา จุติจากนั้นแล้วไปสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากนั้นแล้วไปสวรรค์ชั้นนิมมานรดี จุติจากนั้นแล้วไปสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี 

นางเกิดในภพใด ๆ ก็ได้ครองตำแหน่งราชมเหสีในภพนั้น ๆ จุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี แล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ และพระเจ้าเอกราช เป็นผู้มีความสุขในที่ทุกสถาน 

ในภพนี้ นางเป็นพระธิดาแห่งพระเจ้าสุทโธทนะในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นผู้มีรูปงามเป็นสิริ มีนามว่านันทา ในพระนครกบิลพัสดุ์นอกจากพระนางยโสธราแล้ว นางงามกว่านารีทั้งปวง

พระนางรูปนันทาทรงผนวช

พระนางทรงดำริว่าพระผู้มีพระภาคได้สละราชสมบัติออกผนวชเป็นพระพุทธเจ้า แม้โอรสของพระผู้พระภาค พระนันทะ เจ้าพี่รอง พระมารดาก็ทรงผนวชแล้ว จึงเสด็จเข้าไปสู่สำนักภิกษุณีทั้งหลาย แล้วทรงผนวชเพราะสิเนหาในพระญาติเท่านั้น หาใช่เพราะศรัทธาไม่ ได้มีพระนามว่า รูปนันทา เพราะเป็นผู้มีพระโฉมอันวิไล 

พระนางได้ยินว่าพระศาสดาตรัสว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงไม่เสด็จไปเข้าเฝ้าพระศาสดา ด้วยเกรงว่าพระองค์จะพึงตรัสโทษในรูปของพระนาง

ชาวพระนครสาวัตถีนิยมประชุมฟังธรรมในพระเชตวันในเวลาเย็น เเม้ภิกษุณีสงฆ์ก็ไปวิหารฟังธรรม ครั้นฟังธรรมแล้วก็กล่าวแต่คุณกถาของพระศาสดา

สัตว์โลกมีประมาณ ๔ จำพวก เห็นพระตถาคตอยู่ ไม่เกิดความเลื่อมใส มีจำนวนน้อยนัก

๑. รูปัปปมาณิกา (ถือรูปเป็นประมาณ) - เห็นพระสรีระของพระตถาคต ย่อมเลื่อมใส

๒. โฆสัปปมาณิกา (ถือเสียงเป็นประมาณ) - ฟังเสียงประกาศพระคุณของพระศาสดาและเสียงประกาศพระธรรมเทศนา อันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ แจ่มใส ๑ ชัดเจน ๑ นุ่มนวล ๑ น่าฟัง ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ ลึก ๑ มีกังวาน ๑ ย่อมเลื่อมใส

๓. ลูขัปปมาณิกา (ถือการปฏิบัติเศร้าหมองเป็นประมาณ) - อาศัยความที่พระองค์เป็นผู้เศร้าหมองด้วยปัจจัยทั้งหลาย เช่น จีวร เป็นต้น ย่อมเลื่อมใส

๔ . ธัมมัปปมาณิกา (ถือธรรมเป็นประมาณ) - ย่อมเลื่อมใสว่าพระผู้มีพระภาคมีศีลเห็นปานนี้ มีสมาธิเห็นปานนี้ มีปัญญาเห็นปานนี้ หาผู้เสมอมิได้ ไม่มีผู้ทัดเทียม ด้วยคุณทั้งหลายมีศีล เป็นต้น 

พระนางรูปนันทาได้สดับคำพรรณนาคุณของพระตถาคตจากสำนักพวกภิกษุณีและพวกอุบาสิกา จึงทรงดำริว่าพระนางจะไปกับพวกภิกษุณีเพื่อเฝ้าพระตถาคตฟังธรรม จักไม่แสดงตนเลย

พระนางรูปนันทาเถรีบรรลุธรรม

พระผู้มีพระภาคทรงรู้ว่าพระนางรูปนันทาจักมา ได้ทรงดำริถึงธรรมเพื่อเป็นที่สบายของพระนาง ทรงตกลงพระหฤทัยว่า พระนางรูปนันทา ยึดติดในรูป มีความเยื่อใยในอัตภาพอย่างรุนแรง การบรรเทาความเมาในรูปด้วยรูปนั่นแล เป็นที่สบายของพระนาง ดุจการบ่งหนามด้วยหนาม 

ทรงนิรมิตหญิงด้วยกำลังพระฤทธิ์ มีรูปสวยพริ้ง อายุราว ๑๖ ปี ประดับด้วยอาภรณ์ทุกอย่าง ยืนถวายงานพัดในที่ใกล้พระองค์ มีพระศาสดาและพระนางเท่านั้นทรงเห็นรูปหญิงนั้น 

พระนางแลดูหญิงนั้นแล้ว ทรงแลดูอัตภาพของตน รู้สึกว่าตนเหมือนนางกาซึ่งอยู่ข้างหน้านางพระยาหงส์ทอง ได้มีสิเนหาในรูปนั้นอย่างรุนแรง

พระผู้มีพระภาคทรงทราบความยินดีอย่างสุดซึ้งในรูปนั้นของพระนาง จึงทรงแสดงรูปนั้นให้ล่วงภาวะของผู้มีอายุ ๑๖ ปี มีอายุราว ๒๐ ปี และแสดงความแปรเปลี่ยนของหญิงนั้นไปโดยลำดับ คือ เพศหญิงคลอดบุตรครั้งเดียว เพศหญิงกลางคน เพศหญิงแก่ เพศหญิงแก่คร่ำคร่าแล้วเพราะชรา มีฟันหัก ผมหงอก หลังโกง มีซี่โครงขึ้นดุจกลอน มีไม้เท้ายันข้างหน้างกงันอยู่ แล้วทรงแสดงรูปหญิงนั้นอันโรคครอบงำ ทิ้งไม้เท้าและพัดใบตาล ร้องเสียงขรม ล้มลงที่ภาคพื้น จมลงในปัสสาวะและอุจจาระของตน กลิ้งเกลือกไปมา 

พระนางเห็นรูปหญิงนั้นแปรเปลี่ยนโดยลำดับ ก็ทรงเบื่อหน่ายรูปนั้นโดยลำดับ เมื่อทรงเห็นหญิงนั้นจมลงในปัสสาวะและอุจจาระของตนก็ทรงเบื่อหน่ายเต็มที

เมื่อหญิงนั้นเป็นศพพองขึ้น มีหนอนไหลออกจากปากแผลทั้ง ๙ และฝูงสัตว์รุมแย่งกันกิน พระนางพิจารณาซากศพนั้นแล้ว ทรงเห็นอัตภาพโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ความแก่ ความเจ็บ และความตายจักมาถึงแก่อัตภาพของพระนางอย่างนั้นเหมือนกัน

เพราะความที่พระนางทรงเห็นโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงนั่นเอง จึงทรงเห็นแล้วโดยความเป็นทุกข์ และโดยความเป็นอนัตตา จิตมุ่งตรงต่อกรรมฐาน

พระผู้มีพระภาคทรงเห็นว่าพระนางไม่อาจทำที่พึ่งแก่ตนได้เอง จึงทรงแสดงธรรมด้วยอำนาจธรรมเป็นที่สบายของพระนาง ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

เธอจงดูกายอันกรรมยกขึ้น อันอาดูรไม่สะอาด เปื่อยเน่า ไหลออกอยู่ข้างบน ไหลออกอยู่ข้างล่าง ที่พาลชนทั้งหลายปรารถนากันนัก

สรีระของเธอนี้ ฉันใด สรีระของหญิงนั่น ก็ฉันนั้น สรีระของหญิงนั่นฉันใด สรีระของเธอนี้ ก็ฉันนั้น

เธอจงเห็นธาตุทั้งหลายโดยความเป็นของสูญ อย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก เธอคลี่คลายความพอใจในภพเสียแล้ว จักเป็นบุคคลผู้สงบเที่ยวไปในโลก

พระนางนันทาทรงส่งญาณไปตามกระแสเทศนา บรรลุโสดาปัตติผล

เพื่ออบรมวิปัสสนาเพื่อมรรคผลทั้งสามให้ยิ่งขึ้นไป พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้พระนางอย่าทำความเข้าใจว่า สาระในสรีระนี้ มีอยู่ เพราะสาระในสรีระนี้แม้เพียงเล็กน้อย ก็ไม่มี สรีระนี้อันกรรมยกกระดูก ๓๐๐ ท่อน ขึ้นสร้างให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย

แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า

สรีระอันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มรณะ มานะ และมักขะ

ในกาลจบเทศนา พระนางรูปนันทาเถรีได้บรรลุพระอรหัตตผล

 

 

อ่าน นันทาเถริยาปทาน
      อรรถกถา เรื่อง พระนางรูปนันทาเถรี คาถาธรรมบท ชราวรรค

อ้างอิง
นันทาเถริยาปทาน พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๓ ข้อที่ ๑๖๕ พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๒ หน้าที่ ๑๕๘ – ๑๖๕
ลำดับที่
3

อารมณ์

กามกำเริบ

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ