จุนทกัมมารบุตร
พระผู้มีพระภาคตรัสถามนายจุนทกัมมารบุตรว่าชอบใจความสะอาดของใคร
นายจุนทกัมมารบุตรกราบทูลว่าตนชอบใจความสะอาดที่พราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือเต้าน้ำ สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติไว้
ความสะอาดของพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ
พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิบัญญัติความสะอาดอย่างนี้ว่า
สาวกทั้งหลายให้ลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่ พึงจับต้องแผ่นดิน ถ้าไม่จับต้องแผ่นดิน พึงจับต้องโคมัยสด (ขี้วัวสด) ถ้าไม่จับต้องโคมัยสดพึงจับต้องหญ้าเขียวสด ถ้าไม่จับต้องหญ้าเขียวสด พึงบำเรอไฟ ถ้าไม่บำเรอไฟพึงประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ ถ้าไม่ประนมอัญชลีนอบน้อมพระอาทิตย์ พึงลงน้ำ ๓ ครั้ง ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า
ความไม่สะอาดในวินัยของพระอริยะ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าในวินัยของพระอริยะ ความไม่สะอาดทางกายมี ๓ อย่าง ความไม่สะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง ความไม่สะอาดทางใจมี ๓ อย่าง
ความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีปรกติฆ่าสัตว์ เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นขโมย เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม
ความไม่สะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีปรกติพูดเท็จ คือ เมื่อไม่รู้กล่าวว่ารู้ หรือเมื่อรู้กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อไม่เห็นกล่าวว่าเห็น หรือเมื่อเห็นกล่าวว่าไม่เห็น เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งผู้อื่น หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อย
เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้เพื่อทำลายคนหมู่โน้น ยุยงคนผู้สามัคคีกันให้แตกกัน หรือส่งเสริมชนผู้แตกกันแล้ว ชอบความแยกกัน ยินดีความแยกกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้แยกกัน
เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ กล่าววาจาที่หยาบคาย ทำให้ผู้อื่นข้องใจ เดือดร้อนแก่ผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ
เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ กล่าวไม่ถูกกาล กล่าวไม่จริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน
ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่ควร
ความไม่สะอาดทางใจมี ๓ อย่าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้อยากได้ของผู้อื่น เป็นผู้มีจิตปองร้าย เป็นผู้มีความเห็นผิด
บุคคลผู้ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เมื่อลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่ ถึงแม้จับต้องแผ่นดิน ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้ไม่จับต้องแผ่นดิน ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จับต้องโคมัยสด ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้ไม่จับต้องโคมัยสด ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง หรือถึงแม้จะลงน้ำ ๓ ครั้งทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จะไม่ลงน้ำ ๓ ครั้ง ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ก็เป็นผู้ไม่สะอาดอยู่นั่นเอง
ข้อนั้นเพราะว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เป็นความไม่สะอาดด้วย เป็นตัวกระทำไม่สะอาดด้วย
เพราะเหตุแห่งการประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปรตวิสัยจึงปรากฏ หรือว่าทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่นจึงมี
ความสะอาดในวินัยของพระอริยะ
ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง
ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ ทั้งปวงอยู่
ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เมื่อไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ หรือเมื่อรู้ก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็บอกว่าไม่เห็น หรือเมื่อเห็นก็บอกว่าเห็น ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้ เพราะเหตุแห่งตน เพราะเหตุแห่งผู้อื่นบ้าง หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อย
ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ยินดีคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าววาจาที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกัน
ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าววาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก คนส่วนมากพอใจ
ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์
ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่อยากได้ของผู้อื่น ไม่มีจิตปองร้าย มีความเห็นชอบ
บุคคลผู้ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้าตรู่ ถึงแม้จับต้องแผ่นดิน ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้ไม่จับต้องแผ่นดิน ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้จับต้องโคมัยสด ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้ไม่จับต้องโคมัยสด ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง หรือถึงแม้ลงน้ำ ๓ ครั้งทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ถึงแม้ไม่ลงน้ำ ๓ ครั้งทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
ข้อนั้นเพราะว่ากุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เป็นความสะอาดด้วย เป็นตัวทำให้สะอาดด้วย
เพราะเหตุแห่งการประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ เทวดา มนุษย์ ย่อมปรากฏ หรือว่าสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่นจึงมี
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว นายจุนทกัมมารบุตรทูลขอเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต
สมณะ ๔ ในโลก
ต่อมาในเวลาบ่าย นายจุนทกัมมารบุตรได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลถามว่าสมณะในโลกมีเท่าไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สมณะมี ๔ สมณะที่ ๕ ไม่มี คือ
สมณะผู้ชนะสรรพกิเลสด้วยมรรค ๑
สมณะผู้แสดงมรรค (แก่ชนเหล่าอื่น) ๑
สมณะเป็นอยู่ในมรรค ๑
สมณะผู้ประทุษร้ายมรรค ๑
สมณะผู้ชนะสรรพกิเลสด้วยมรรค คือ
สมณะผู้ข้ามความสงสัยได้แล้ว ผู้ไม่มีกิเลสดุจลูกศร ผู้ยินดียิ่งแล้วในนิพพาน ผู้ไม่มีความกำหนัด ผู้คงที่ เป็นผู้นำโลกพร้อมด้วยเทวโลก
สมณะผู้แสดงมรรค คือ
ภิกษุใดในศาสนานี้ ผู้ตัดความสงสัย ผู้เป็นมุนี ผู้ไม่หวั่นไหว รู้ว่านิพพานเป็นธรรมยิ่ง ย่อมบอก ย่อมจำแนกธรรมในธรรมวินัยนี้
สมณะเป็นอยู่ในมรรค คือ
ภิกษุใดเมื่อบทธรรมอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงแสดงไว้ดีแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้ว มีสติ เสพบทอันไม่มีโทษอยู่ ชื่อว่าเป็นอยู่ในมรรค
สมณะผู้ประทุษร้ายมรรค คือ
บุคคลกระทำเพศแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกผู้มีวัตรอันงามให้เป็นเครื่องปกปิดแล้ว มักประพฤติแล่นไป ประทุษร้ายตระกูล เป็นผู้คะนอง มีมายา ไม่สำรวม เป็นคนแกลบ ชื่อว่าเป็นสมณะผู้ประทุษร้ายมรรคอย่างยิ่งด้วยวัตตปฏิรูป
พระอริยสาวกผู้ได้สดับ มีปัญญา ทราบสมณะว่าเป็นเช่นนั้น เห็นแล้วอย่างนี้ ย่อมไม่ยังศรัทธาของคฤหัสถ์ผู้ทราบชัดสมณะเปล่านี้ให้เสื่อม
จะพึงกระทำสมณะผู้ไม่ถูกโทษประทุษร้ายให้เสมอด้วยสมณะผู้ถูกโทษประทุษร้าย จะพึงกระทำสมณะผู้บริสุทธิ์ให้เสมอด้วยสมณะผู้ไม่บริสุทธิ์ อย่างไรได้
อ่าน
จุนทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๑๖๕
จุนทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๐๒