Main navigation

พระพุทธานุญาตต่าง ๆ

เหตุการณ์
เหตุแรกเกิดให้พระผู้มีพระภาคทรงให้พุทธานุญาตต่าง ๆ

พระพุทธานุญาตผลไม้

ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ประทับอยู่ที่พระเชตวัน เวลานั้นของขบฉันคือผลไม้ในนครสาวัตถีมีดาดดื่นมาก ภิกษุทั้งหลายมีความสงสัยว่าของขบฉันคือผลไม้ พระองค์ทรงอนุญาตไว้แล้วหรือมิได้ทรงอนุญาต จึงได้กราบทูลถาม

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราอนุญาตผลไม้ทุกชนิด

พืชของสงฆ์และของบุคคล

ก็โดยสมัยนั้น พืชของสงฆ์เพาะปลูกในที่ของบุคคล พืชของบุคคลเพาะปลูกในที่ของสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พืชของสงฆ์ที่เพาะปลูกในที่ของบุคคล พึงให้ส่วนแบ่ง แล้วบริโภค พืชของบุคคลที่เพาะปลูกในที่ของสงฆ์ พึงให้ส่วนแบ่งแล้วบริโภค

พระพุทธานุญาตมหาประเทศ ๔

ก็โดยสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเกิดความรังเกียจในพระบัญญัติบางสิ่งบางอย่างว่าสิ่งใดพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ สิ่งไรไม่ได้ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้น

วัตถุเป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประทานสำหรับอ้าง ๔ ข้อ ดังต่อไปนี้

๑. สิ่งใดที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย

๒. สิ่งที่เราไม่ได้ห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควรขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย

๓. สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควรแก่เธอทั้งหลาย

๔. สิ่งใดที่เราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า สิ่งนี้ควร หากสิ่งนั้นเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควรแก่เธอทั้งหลาย

พระพุทธานุญาตกาลิกระคน

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า ยามกาลิก ระคนกับ ยาวกาลิก ควรหรือไม่
สัตตาหกาลิก ระคนกับ ยาวกาลิก ควรหรือไม่
ยาวชีวิก ระคนกับ ยาวกาลิก ควรหรือไม่
สัตตาหกาลิก ระคนกับ ยามกาลิก ควรหรือไม่
ยาวชีวิก ระคนกับ ยามกาลิก ควรหรือไม่
ยาวชีวิก ระคนกับ สัตตาหกาลิก ควรหรือไม่

แล้วกราบทูลเรื่องนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดังนี้

๑. ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาลไม่ควรในวิกาล
๒. สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล    
๓. ยาวชีวิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในวิกาล
๔. สัตตาหกาลิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม ล่วงยามแล้วไม่ควร
๕. ยาวชีวิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม ล่วงยามแล้วไม่ควร    
๖. ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรตลอด ๗ วัน ล่วง ๗ วัน แล้วไม่ควร

 

กาลิก แปลว่า เนื่องด้วยกาล ขึ้นกับกาล เป็นชื่อของสิ่งที่จะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับประเคนเก็บไว้ และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด แบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ

๑. ยาวกาลิก ของรับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ

๒. ยามกาลิก ของรับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือ ปานะ ๘ ชนิด หรือน้ำอัฏฐบาน ได้แก่ (๑) น้ำมะม่วง (๒) น้ำหว้า (๓) น้ำกล้วยมีเมล็ด (๔) น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด (๕) น้ำมะซาง (๖) น้ำลูกจันทน์ (หรือองุ่น) (๗) น้ำเหง้าอุบล (๘) น้ำมะปราง (หรือลิ้นจี่)

๓. สัตตาหกาลิก ของรับประเคนไว้แล้ว ฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน คือ เภสัชทั้ง ๕ ได้แก่ (๑) เนยใส (๒) เนยข้น (๓) น้ำมัน (๔) น้ำผึ้ง (๕) น้ำอ้อย

๔. ยาวชีวิก ของรับประเคนแล้วฉันได้ตลอด ไม่จำกัดเวลา คือ สิ่งของที่เป็นยารักษาโรค

 

 

อ่าน พระพุทธานุญาตต่างๆ

อ้างอิง
พระพุทธานุญาตต่าง ๆ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕ ข้อที่ ๙๐-๙๓
ลำดับที่
14

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ