Main navigation

พระจันทาภเถระ

เหตุการณ์
บุพกรรมของพระจันทาภเถระผู้มีรัศมีอยู่กลางอก

ในอดีตกาลครั้งศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ กุฎุมพีคนหนึ่งชาวกรุงพาราณสีได้ไปยังปัจจันตชนบทพร้อมด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่มเพื่อหาสินค้า

กุฎุมพีได้ทำความสนิทสนมกับพรานป่า แล้วถามว่าเคยเห็นแก่นจันทน์บ้างไหม พรานป่าตอบว่า เคยเห็น เขาจึงเข้าไปป่าไม้จันทน์กับพรานป่าทันที บรรทุกแก่นจันทน์แดงจนเต็มเกวียนทุกเล่ม แล้วกล่าวกะพรานป่านั้นว่า เมื่อใดท่านมากรุงพาราณสี เมื่อนั้นท่านพึงเอาแก่นจันทน์แดงมาด้วย แล้วก็กลับไปกรุงพาราณสี

ต่อมา พรานป่าก็เอาแก่นจันทน์ไปเรือนกุฎุมพี กุฎุมพีเห็นพรานป่าจึงต้อนรับเป็นอย่างดี ตอนเย็นให้บดแก่นจันทน์ใส่สมุดจนเต็มแล้วให้พรานป่าไปอาบน้ำ

ตอนนั้นที่กรุงพาราณสีกำลังมีมหรสพ ตอนเช้าตรู่ ชาวกรุงพาราณสีถวายทาน ตอนเย็นนุ่งผ้าเนื้อดีถือดอกไม้และของหอม เป็นต้น ไปไหว้พระมหาเจดีย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ

พรานป่าจึงสอบถาม ได้ฟังว่าเขาไปวิหารเพื่อไหว้พระเจดีย์ จึงได้ไปด้วยตนเอง ณ ที่นั้น พรานป่าได้เห็นผู้คนทำการบูชาพระเจดีย์โดยวิธีต่าง ๆ ด้วยหรดาล และมโนศิลา เป็นต้น ตนเองไม่รู้จะทำอะไรให้สวยงามได้ จึงเอาไม้จันทน์นั้นทำเป็นวงกลมประมาณเท่าถาดสำริดไว้ข้างบนอิฐทองในมหาเจดีย์

ครั้งนั้น ได้เวลาพระอาทิตย์ขึ้น รัศมีพระอาทิตย์ส่องแสง เขาเห็นจึงเลื่อมใส ได้ทำความปรารถนาว่า แม้เกิดในที่ใด ขอให้รัศมีเช่นนี้ จงผุดที่อกของตน

เมื่อพรานป่าเสียชีวิต ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ รัศมีได้ผุดขึ้นที่อกของเขาเป็นวงกลมไพโรจน์ดุจวงกลมของพระจันทร์ ชนทั้งหลายจึงเรียกเขาว่า จันทาภเทพบุตร เขายังพุทธันดรหนึ่งให้สิ้นไปโดยกลับไปกลับมาเกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น ด้วยสมบัตินั้น

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติ พรานป่าได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในกรุงสาวัตถี ที่อกของเขามีรัศมีวงกลมเช่นกับวงกลมของพระจันทร์ พวกพราหมณ์เห็นรัศมีวงกลมนั้นจึงคิดว่า กุมารนี้ลักษณะเป็นผู้มีบุญ จึงตั้งชื่อว่า จันทาภะเหมือนกัน

พราหมณ์ทั้งหลายพากุมารผู้เจริญวัยแล้ว ตกเเต่งใส่เสื้ออย่างดีให้ขึ้นรถพากันบูชาว่า “นี้มหาพรหมของเรา” แล้วเที่ยวประกาศไปทั่วตามนิคมราชธานีว่า กุมารชื่อจันทาภะนี้ ผู้ใดเห็น ผู้นั้นจักได้ยศ ทรัพย์และสวรรค์ หวั่นไหวไปทั่วทั้งชมพูทวีป

พวกพราหมณ์แสดงจันทาภกุมารเฉพาะแก่คนที่ถือทรัพย์ ๑๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ มาให้เท่านั้น

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จมาถึงกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร

ครั้งนั้น จันทาภกุมารไปถึงกรุงสาวัตถี มิได้มีผู้พูดถึงเขาเลย ในตอนเย็นเขาเห็นหมู่ชนพากันถือของหอมและดอกไม้ เป็นต้น มุ่งหน้าไปเชตวันมหาวิหาร จึงได้ทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติเเล้วในโลก พระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก มหาชนจึงไปพระวิหารเชตวันเพื่อฟังธรรม จันทาภะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์ได้ฟังคำนั้นก็ได้ไปพระเชตวันมหาวิหาร

ในตอนนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ บวรพุทธอาสน์ในธรรมสภา จันทาภะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิสันถารด้วยคำไพเราะ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ทันใดนั่นเองแสงสว่างของจันทาภะก็หายไป เพราะ ณ ที่ใกล้พระรัศมีของพระพุทธเจ้า รัศมีอื่นจะครอบงำไม่ได้ภายในระยะ ๘๐ ศอก จันทาภะเห็นว่ารัศมีของตนหายไปเสียแล้ว จึงได้ลุกขึ้นเตรียมจะกลับ

บุรุษคนหนึ่งกล่าวกะจันทาภะว่า ท่านกลัวพระสมณะหรือจึงจะกลับ จันทาภะกล่าวว่า ไม่กลัว แล้วกลับไปนั่งข้างหน้าพระผู้มีพระภาคเจ้า จันทาภะได้เห็นความสมบูรณ์ มีพระรูป พระรัศมี และพระลักษณะ ตั้งแต่ฝ่าพระบาทจนถึงปลายพระเกศา มีใจเลื่อมใสอย่างยิ่ง คิดว่า พระสมณโคดมมีศักดิ์มาก รัศมีเพียงเล็กน้อยผุดขึ้นที่อกของเราเพียงเท่านั้น พวกพราหมณ์ยังพาเราเที่ยวไปจนทั่วชมพูทวีป อย่างนี้แล้วพระสมณโคดมผู้ประกอบด้วยความสมบูรณ์แห่งพระลักษณะอันงาม ยังมิได้เกิดความถือพระองค์เลย พระสมณะนี้จักประกอบด้วยคุณสมบัติอันงาม พระองค์จักเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นแน่

จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลขอบวช พระองค์ได้มีพระพุทธดำรัสให้พระเถระรูปหนึ่งบวชให้จันทาภะนี้

พระเถระนั้นครั้นบวชให้จันทาภภิกษุแล้ว ก็บอกตจปัญจกกรรมฐานให้ จันทาภภิกษุได้เริ่มเจริญวิปัสสนา ไม่ช้านักก็บรรลุพระอรหัต ได้ชื่อว่าจันทาภเถระ

ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันปรารภพระจันทาภเถระว่า ผู้ที่เห็นจันทาภะแล้ว จะได้ยศหรือทรัพย์ หรือได้ไปสวรรค์ หรือได้ถึงความบริสุทธิ์ ด้วยเห็นรูปทางจักษุทวารนั้นหรือหนอ

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสุทธัฏฐกสูตรเพราะเกิดเรื่องของพระจันทาภเถระนั้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

คนพาลผู้ประกอบด้วยทิฐิ สำคัญเอาเองว่าเราได้เห็นบุคคลผู้บริสุทธิ์ เป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ ความหมดจดด้วยดี ย่อมมีได้แก่นรชนด้วยการเห็น

เมื่อคนพาลนั้นสำคัญเอาเองอย่างนี้ รู้ว่า ความเห็นนั้นเป็นความเห็นยิ่ง แม้เป็นผู้เห็นบุคคลผู้บริสุทธิ์เนือง ๆ ก็ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นมรรคญาณ

ถ้าว่าความบริสุทธิ์ ย่อมมีได้แก่นรชนด้วยการเห็น หรือนรชนนั้นย่อมละทุกข์ได้ด้วยมรรคอันไม่บริสุทธิ์อย่างอื่นจากอริยมรรค นรชนผู้เป็นอย่างนี้ย่อมบริสุทธิ์ไม่ได้เลย

ก็คนมีทิฐิ ย่อมกล่าวยกย่องความเห็นนั้นของคนผู้กล่าวอย่างนั้น

พราหมณ์ไม่กล่าวความบริสุทธิ์โดยมิจฉาทิฐิญาณอย่างอื่นจากอริยมรรคญาณ ที่เกิดขึ้นในเพราะรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง ศีล พรต และในเพราะอารมณ์ที่ได้ทราบ

พราหมณ์นั้นไม่ติดอยู่ในบุญและบาป ละความเห็นว่าเป็นตนเสียได้ ไม่กระทำในบุญและบาปนี้

ชนผู้ประกอบด้วยทิฐิเป็นผู้กล่าวความบริสุทธิ์โดยทางมรรคอย่างอื่นเหล่านั้น ละศาสดาเบื้องต้นเสีย อาศัยศาสดาอื่น อันตัณหาครอบงำ ย่อมข้ามธรรมเป็นเครื่องข้องไม่ได้ ชื่อว่าถือเอาธรรมนั้นด้วย สละธรรมนั้นด้วย เปรียบเหมือนวานรจับและปล่อยกิ่งไม้ที่ตรงหน้าเสียเพื่อจับกิ่งอื่น ฉะนั้น

สัตว์ผู้ข้องอยู่ในกามสัญญา สมาทานวัตรเองแล้ว ไปเลือกหาศาสดาดีและเลว ส่วนพระขีณาสพผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ผู้มีความรู้แจ้ง ตรัสรู้ธรรมด้วยเวทคือมรรคญาณ ย่อมไม่ไปเลือกหาศาสดาดีและเลว

พระขีณาสพนั้นครอบงำมารและเสนาในธรรมทั้งปวง คืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง หรือได้ทราบ ใคร ๆ จะพึงกำหนดพระขีณาสพผู้บริสุทธิ์ ผู้เห็นความบริสุทธิ์ เป็นผู้มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้ว ผู้เที่ยวไปอยู่ ด้วยการกำหนดด้วยตัณหาและทิฐิอะไรในโลกนี้

พระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนดด้วยตัณหาหรือด้วยทิฐิ ย่อมไม่กระทำตัณหาและทิฐิไว้ในเบื้องหน้า พระขีณาสพเหล่านั้นย่อมไม่กล่าวว่า ความบริสุทธิ์ล่วงส่วนด้วยอกิริยาทิฐิและสัสสตทิฐิ ท่านสละกิเลสเครื่องยึดมั่นและเครื่องร้อยรัดอันเนื่องอยู่ในจิตสันดานได้แล้ว ย่อมไม่กระทำความหวังในโลกไหน ๆ

พราหมณ์ผู้ล่วงแดนกิเลสได้ ไม่มีความยึดถือวัตถุหรืออารมณ์อะไร เพราะได้รู้หรือเพราะได้เห็น เป็นผู้ไม่มีความยินดีด้วยราคะ เป็นผู้ปราศจากราคะไม่กำหนัดแล้ว พราหมณ์นั้นไม่มีความยึดถือวัตถุและอารมณ์อะไร ๆ ว่าสิ่งนี้เป็นของยิ่งในโลกนี้ ฉะนี้แล

 


อ่าน สุทธัฏฐกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๑๑ และอรรถกถา พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๗ หน้าที่ ๗๒๔ ถึงหน้าที่ ๗๓๑

อ้างอิง
สุทธัฏฐกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๑๑ และอรรถกถา
ลำดับที่
15

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ