Main navigation

อามคันธพราหมณ์

เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงตอบคำถามอามคันธพราหมณ์ผู้ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ว่าอะไรคือกลิ่นดิบ

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น พราหมณ์ชื่อว่าอามคันธะบรรพชาเป็นดาบสพร้อมมาณพ ๕๐๐ คน สร้างอาศรมอยู่ในหุบเขา มีเผือก มัน ผลไม้ในป่าเป็นอาหาร ไม่บริโภคปลาและเนื้อเลย

ครั้งนั้น โรคผอมเหลืองเกิดขึ้นแก่ดาบสเหล่านั้น ผู้ไม่บริโภคของเค็ม ของเปรี้ยว เป็นต้น ดาบสจึงตกลงกันว่า จะไปยังถิ่นมนุษย์เพื่อเสพของเค็มและของเปรี้ยว แล้วได้เดินทางไปถึงปัจจันตคาม

ในปัจจันตคามนั้น ชาวบ้านทั้งหลายเห็นดาบสเหล่านั้น ก็เลื่อมใส ได้นิมนต์ให้ฉันอาหาร ได้น้อมเตียง ตั่ง ภาชนะสำหรับบริโภค และน้ำมันทาเท้า เป็นต้น แก่ดาบสเหล่านั้น และขอดาบสทั้งหลายอยู่ในที่นี้

ชนเหล่านั้นได้ถวายทานแก่ดาบสทั้งหลาย วันละ ๑ บ้าน ตามลำดับเรือน จนได้ ๔ เดือน พวกดาบสได้มีร่างกายแข็งแรงขึ้น พวกดาบสจึงจะขอละไป ชนเหล่านั้นจึงได้ถวายน้ำมันและข้าวสารให้ดาบสทั้งหลายถือเอากลับไปยังอาศรม

ดาบสเหล่านั้นได้มาสู่หมู่บ้านนั้นทุก ๆ ปีเหมือนอย่างเคยปฏิบัติมา แม้พวกชาวบ้านก็พากันมา พากันตระเตรียมข้าวสาร เป็นต้น เพื่อถวายทานแก่ดาบสเหล่านั้น เหมือนเช่นทุกครั้ง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงแสดงธรรมจักรแล้ว ได้ประทับอยู่เมืองสาวัตถี ทรงเห็นอุปนิสสัยสมบัติของดาบสเหล่านั้น ได้เสด็จออกจากเมืองสาวัตถี มีหมู่ภิกษุแวดล้อม เสด็จจาริกไปถึงบ้านนั้น

ชาวบ้านทั้งหลายเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้ถวายมหาทาน พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่ชาวบ้านเหล่านั้น ด้วยพระธรรมเทศนานั้น ชาวบ้านบางพวกสำเร็จเป็นพระโสดาบัน บางพวกสำเร็จเป็นพระสกทาคามี และพระอนาคามี บางพวกบรรพชา แล้วบรรลุพระอรหัต และพระองค์ได้เสด็จกลับมายังกรุงสาวัตถีอีก

ครั้งนั้น พวกดาบสได้มาสู่บ้านนั้น ชาวบ้านทั้งหลายเห็นพวกดาบสแล้ว ก็ไม่ได้ทำการโกลาหลเช่นกับคราวก่อน ดาบสทั้งหลายถามพวกชาวบ้านเหล่านั้นว่า เพราะเหตุไร จึงไม่เป็นเช่นกับคราวก่อน หมู่บ้านนี้ถูกลงราชอาชญาหรือ หรือว่าถูกประทุษร้ายด้วยทุพภิกขภัย หรือว่ามีบรรพชิตบางรูปซึ่งสมบูรณ์ด้วยคุณ มี ศีล เป็นต้น มากกว่าพวกเราได้มาถึงหมู่บ้านแห่งนี้

ชนเหล่านั้นกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก ได้เสด็จมา ณ หมู่บ้านแห่งนี้

อามคันธดาบสได้ถามว่าพวกท่านพูดว่า พุทฺโธ ดังนี้หรือ ชนทั้งหลายกล่าวขึ้นสิ้น ๓ ครั้งว่า พุทฺโธ

อามคันธดาบสยินดี แล้วเปล่งวาจาแสดงความยินดีว่า แม้เสียงว่า พุทฺโธ นี้แล เป็นเสียงที่หาได้ยากในโลก พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเสวยกลิ่นดิบหรือหนอแล หรือว่าไม่เสวยกลิ่นดิบ

ชนเหล่านั้นถามว่า อะไรคือกลิ่นดิบ อามคันธดาบสกล่าวว่า ปลาและเนื้อชื่อว่ากลิ่นดิบ ชนทั้งหลายจึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยปลาและเนื้อ

ดาบสฟังคำนั้นแล้วก็เกิดความเดือดร้อนใจว่า บุคคลผู้นั้นจะพึงเป็นพระพุทธเจ้าหรือ หรือว่าไม่พึงเป็นพระพุทธเจ้า ชื่อว่าการปรากฏขึ้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย บุคคลได้โดยยาก เราไปเฝ้าพระองค์แล้วถาม จักทราบได้ แล้วไปยังพระเชตวันพร้อมกับบริษัทของตน

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับนั่งบนอาสนะเพื่อแสดงธรรมอยู่ ดาบสทั้งหลายเข้าไปเฝ้าโดยไม่ถวายบังคม ได้นั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง พระองค์ได้ตรัสปราศรัยแสดงความชื่นชมกับดาบสเหล่านั้น

อามคันธดาบสได้กราบทูลถามว่าพระองค์เสวยกลิ่นดิบหรือไม่เสวย พระผู้มีพระภาคทรงตรัสถามกลับว่า ชื่อว่ากลิ่นดิบนั้นคืออะไร อามคันธดาบสกราบทูลว่า ปลาและเนื้อชื่อว่ากลิ่นดิบ

พระองค์ทรงตรัสว่า ปลาและเนื้อไม่ใช่กลิ่นดิบ กิเลสทั้งปวงที่เป็นบาป เป็นอกุศลธรรม ชื่อว่ากลิ่นดิบ แล้วตรัสว่าอามคันธดาบสได้ถามถึงกลิ่นดิบในกาลบัดนี้ ก็หามิได้ แม้ในอดีต พราหมณ์ชื่อว่าติสสะก็ได้ถามถึงกลิ่นดิบกะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะแล้ว

เพื่อจะให้อามคันธพราหมณ์ทราบพระคาถาที่ติสสพราหมณ์และพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะตรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอามคันธสูตร

อามคันธสูตร

ติสสดาบสทูลถามพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปว่า

สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว ใบไม้ เหง้ามัน และผลไม้ที่ได้แล้วโดยธรรม หาปรารถนากาม กล่าวคำเหลาะแหละไม่

พระองค์เมื่อเสวยเนื้อชนิดใดที่ผู้อื่นทำสำเร็จดีแล้ว ตบแต่งไว้ถวายอย่างประณีต เมื่อเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ก็ชื่อว่าย่อมเสวยกลิ่นดิบ พระองค์ตรัสว่ากลิ่นดิบไม่ควรแก่เรา แต่ยังเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีกับเนื้อนกที่บุคคลปรุงดีแล้ว แล้วได้ทูลถามว่า กลิ่นดิบของพระองค์มีประการอย่างไร

พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปตรัสตอบว่า การฆ่าสัตว์ การทุบตี การตัด การจองจำ การลัก การพูดเท็จ การกระทำด้วยความหวัง การหลอกลวง การเรียนคัมภีร์ที่ไร้ประโยชน์ และการคบหาภรรยาผู้อื่น นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

ชนเหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย ยินดีในรสทั้งหลาย เจือปนไปด้วยของไม่สะอาด มีความเห็นว่าทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล มีการงานไม่เสมอ บุคคลพึงแนะนำได้โดยยาก นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่าเป็นกลิ่นดิบเลย

ชนเหล่าใดผู้เศร้าหมอง หยาบช้า หน้าไหว้หลังหลอก ประทุษร้ายมิตร ไม่มีความกรุณา มีมานะจัด มีปกติไม่ให้ และไม่ให้อะไร ๆ แก่ใคร ๆ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

ความโกรธ ความมัวเมา ความเป็นคนหัวดื้อ ความตั้งอยู่ผิด มายา ริษยา ความยกตน ความถือตัว ความดูหมิ่น และความสนิทสนมด้วยอสัตบุรุษทั้งหลาย นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

ชนเหล่าใดในโลกนี้มีปรกติประพฤติลามก กู้หนี้มาแล้วไม่ใช้ พูดเสียดสี พูดโกง เป็นคนเทียม เป็นคนต่ำทราม กระทำกรรมหยาบช้า นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

ชนเหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย ชักชวนผู้อื่นประกอบการเบียดเบียน ทุศีล ร้ายกาจ หยาบคาย ไม่เอื้อเฟื้อ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

สัตว์เหล่าใดกำหนัดแล้วในสัตว์เหล่านี้ โกรธเคือง ฆ่าสัตว์ ขวนขวายในอกุศลเป็นนิตย์ ตายไปแล้วย่อมถึงที่มืด มีหัวลงตกไปสู่นรก นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย

การไม่กินปลาและเนื้อ ความเป็นคนประพฤติเปลือย ความเป็นคนโล้น การเกล้าชฎา ความเป็นผู้หมักหมมด้วยธุลี การครองหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ การบำเรอไฟ หรือแม้ว่าความเศร้าหมองในกายที่เป็นไปด้วยความปรารถนาความเป็นเทวดา การย่างกิเลสเป็นอันมากในโลก มนต์และการเซ่นสรวง ยัญและการซ่องเสพฤดู ย่อมไม่ยังสัตว์ผู้ไม่ข้ามพ้นความสงสัยให้หมดจดได้

ผู้ใดคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหก รู้แจ้งอินทรีย์แล้ว ตั้งอยู่ในธรรม ยินดีในความเป็นคนตรง และอ่อนโยน ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องเสียได้ ละทุกข์ได้ทั้งหมด ผู้นั้นเป็นนักปราชญ์ ไม่ติดอยู่ในธรรมที่เห็นแล้ว และฟังแล้ว

แล้วทรงประกาศพระคาถาอันวิจิตรว่า

บุคคลผู้ที่ไม่มีกลิ่นดิบ ผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว ตามรู้ได้ยาก

ติสสดาบสฟังบทสุภาษิตซึ่งไม่มีกลิ่นดิบอันเป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวง เป็นผู้มีใจนอบน้อม ถวายบังคมพระบาทของพระตถาคต ได้ทูลขอบรรพชาที่อาสนะนั่นแล

พราหมณ์อามคันธะนั้น ครั้นฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ก็มีใจอ่อนน้อม ถวายบังคมที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอบวชพร้อมกับบริษัทของตน

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด

ดาบสเหล่านั้นถึงความเป็นเอหิภิกขุอย่างนั้นนั่นแหละ เป็นดุจพระเถระมีพรรษาตั้งร้อยมาทางอากาศ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยเวลา ๒-๓ วัน เท่านั้น ทุกท่านก็ได้ประดิษฐานอยู่ในพระอรหัต

 

 

อ่าน อามคันธสูตร และ อรรถกถา พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๗ หน้าที่ ๘๕ ถึงหน้าที่ ๑๑๒

 

อ้างอิง
อามคันธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๑๕ และอรรถกถา
ลำดับที่
16

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ