พระพุทธานุญาตให้ทำสังฆสามัคคี
ภิกษุที่ยกอาบัติปรึกษาพระพุทธเจ้าว่าควรทำอย่างไร พระพุทธเจ้ารับสั่งให้รับภิกษุนั้นเข้าหมู่
เมื่อสงฆ์รับภิกษุผู้ต้องอาบัติเข้าหมู่แล้ว พระพุทธเจ้าสงฆ์ก็รับสั่งอนุญาติให้ทำสังฆสามัคคี เพื่อระงับเรื่องนั้น.
วิธีการทำสังฆสามัคคีมี สองอย่าง คือ
สังฆสามัคคีเสียอรรถ แต่ได้พยัญชนะ
คือสงฆ์ยังไม่ทันวินิจฉัยเรื่องที่ทำให้วิวาท แตกแยก ยังไม่ทันสาวเข้าไปถึงมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้นไม่เป็นธรรม
สังฆสามัคคีได้ทั้งอรรถได้ทั้งพยัญชนะ
คือสงฆ์วินิจฉัยเรื่องที่ทำให้วิวาท แตกแยก สาวเข้าไปถึงมูลเหตุ แล้วทำสังฆสามัคคี สังฆสามัคคีนั้นเป็นธรรม.
พระพุทธเจ้ากล่าวว่าภิกษุที่มีอุปการะมาก ควรยกย่อง ในเรื่องกิจของสงฆ์ การปรึกษาวินัย การตีความวินัย การวินิจฉัยวินัย คือ ภิกษุที่
- ตั้งอยู่ในศีลวิสุทธิ ไม่ถูกตำหนิโดยศีล หมั่นตรวจตรามารยาท และสำรวมอินทรีย์เรียบร้อย ศัตรูติเตียนไม่ได้โดยธรรม เพราะไม่มีความผิดที่ฝ่ายศัตรูจะพึงกล่าวถึง
- เป็นผู้แกล้วกล้า พูดจาฉาดฉาน เข้าที่ประชุมไม่สะดุ้ง ไม่ประหม่า กล่าวถ้อยคำมีเหตุ ไม่ให้เสียความ ถึงถูกถามปัญหาในที่ประชุม ก็เช่นนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่นิ่งอั้น ไม่เก้อ
- เป็นผู้เชี่ยวชาญ กล่าวถ้อยคำถูกกาล เหมาะแก่การพยากรณ์ ย่อมยังหมู่วิญญูชนให้พอใจ
- มีความเคารพในภิกษุทั้งหลายที่แก่พรรษากว่า
- เป็นผู้แกล้วกล้าในอาจริยวาทของตน
- สามารถเพื่อจะวิจารณ์ ชำนาญในถ้อยคำที่จะพึงกล่าว ฉลาด จับข้อพิรุธของฝ่ายศัตรู เป็นเหตุให้ฝ่ายศัตรูถึงความถูกปราบ และมหาชนก็ยินยอม
- ไม่ลบล้างอาจริยวาทของตน แก้ปัญหาได้ ไม่ติดขัด
- สามารถในหน้าที่ทูต และยอมรับทำกิจของสงฆ์ ดุจรับบิณฑบาตของที่เขานำมาบูชาฉะนั้น
- ถูกคณะภิกษุส่งไปให้ทำหน้าที่เจรจา ก็ไม่ทะนงตัวว่า ตนทำได้ เพราะการทำหน้าที่เจรจานั้น ภิกษุต้องอาบัติเพราะวัตถุมีประมาณเท่าใด และการออกจากอาบัติย่อมมีด้วยวิธีใด วิภังค์ทั้งสองนั้นมาแล้วด้วยดีแก่ภิกษุนั้น
- ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาดในวิธีการออกจากอาบัติ
- ภิกษุทำกรรมมีก่อความบาดหมางเป็นต้นเหล่าใด ย่อมถึงการขับออก และถูกขับออก ด้วยเรื่องเช่นใด ฉลาดในวิภังค์ ย่อมเข้าใจวิธีการรับเข้าหมู่ที่ควรทำแก่ภิกษุผู้ประพฤติวัตรนั้นเสร็จแล้ว
- มีความเคารพในพระผู้เจริญกว่า คือที่เป็นผู้ใหญ่ ปานกลาง และผู้ใหม่ เป็นบัณฑิต ประพฤติประโยชน์แก่มหาชนในโลกนี้
พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ
