Main navigation

การแผ่เมตตา

เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าตรัสถึงกรรมฐานที่เหมาะกับบุคคลจริตต่างๆ และทรงสอนภิกษุ ๕๐๐ รูป ให้เรียนเมตตาปริตรเพื่อป้องกันภัย และให้เป็นที่รักและเกื้อกูล ภิกษุเหล่านั้นเจริญเมตตาอย่างนั้น ปรารภวิปัสสนา ทุกรูปก็บรรลุพระอรหัตตผลในภายในไตรมาสนั้น

เมตตาปริตร (กรณียเมตตสูตร)

กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ ปรารถนาเพื่อจะตรัสรู้สันตบท พึงบำเพ็ญไตรสิกขา 

กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญเป็นผู้ตรง ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่ง สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์อันสงบแล้ว มีปัญญาเครื่องรักษาตน ไม่คะนอง ไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย และไม่พึงประพฤติทุจริตเล็กน้อยซึ่งเป็นเหตุให้ท่านผู้รู้เหล่าอื่นติเตียนได้

พึงเจริญเมตตาในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุขมีความเกษม มีตนถึงความสุขเถิด 

สัตว์มีชีวิตเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ เป็นผู้สะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง ไม่มีส่วนเหลือ สัตว์เหล่าใดมีกายยาวหรือใหญ่ ปานกลางหรือสั้น ผอมหรือพี ที่เราเห็นแล้วหรือไม่ได้เห็น  อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้  ที่เกิดแล้วหรือแสวงหาที่เกิด  ขอสัตว์ทั้งหมดนั้น จงเป็นผู้มีตนถึงความสุขเถิด
สัตว์อื่นไม่พึงข่มขู่สัตว์อื่น ไม่พึงดูหมิ่นอะไรเขาในที่ไหน ๆ ไม่พึงปรารถนาทุกข์ให้แก่กันและกัน เพราะความโกรธ เพราะความเคียดแค้น.

มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด  กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น

กุลบุตรนั้นพึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณ ไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู 

กุลบุตรผู้เจริญเมตตานั้นยืนอยู่ก็ดี เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี  พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วงเหงาเพียงใด ก็พึงตั้งสตินี้ไว้เพียงนั้น   

บัณฑิตทั้งหลายกล่าววิหารธรรมนี้ว่า เป็นพรหมวิหารในธรรมวินัยของพระอริยเจ้านี้ 

และกุลบุตรผู้เจริญเมตตาไม่เข้าไปอาศัยทิฏฐิ เป็นผู้มีศีล ถึงพร้อมแล้วด้วยทัศนะ นำความยินดีในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อมไม่ถึงความนอนในครรภ์อีกโดยแท้แล

อานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการ

เมื่อเมตตาเจโตวิมุติ อันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้วทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้ตั้งมั่นโดยลำดับแล้ว ปรารภด้วยดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ

๑. ย่อมหลับเป็นสุข  
๒. ย่อมตื่นเป็นสุข 
๓. ย่อมไม่ฝันลามก 
๔. ย่อมเป็นที่รักแห่งมนุษย์ทั้งหลาย 
๕. ย่อมเป็นที่รักแห่งอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวดาทั้งหลายย่อมรักษา
๗. ไฟ ยาพิษหรือศาตราย่อมไม่กล้ำกรายได้ 
๘. จิตย่อมตั้งมั่นโดยรวดเร็ว 
๙. สีหน้าย่อมผ่องใส
๑๐. เป็นผู้ไม่หลงใหลทำกาละ 
๑๑. เมื่อไม่แทงตลอดคุณอันยิ่ง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก

 

อ่าน เมตตสูตร (กรณียเมตตสูตร)  เมตตากถา

 

อ้างอิง
เมตตสูตรที่ ๘ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๐๘ หน้า ๒๗๒-๒๗๓ และอรรถกถา เมตตากถา พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๕๗๔ หน้า ๒๗๕
ลำดับที่
3

สถานที่

นครสาวัตถี

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ