มารดาของพระกุมารกัสสปเถระ
ลูกสาวเศรษฐีในนครราชคฤห์คนหนึ่ง เป็นผู้มีกุศลมาก ไม่ยินดีในสังขาร เป็นปัจฉิมภวิกสัตว์ คือ สัตว์ผู้มีภพสุดท้าย มีอุปนิสัยแห่งพระอรหัตในใจ ตั้งแต่จำความได้นางไม่ยินดีในเรือน มีความต้องการจะบวช และได้ขอบวชกับบิดามารดาแต่ไม่ได้รับอนุญาต นางจึงคิดว่า เมื่อแต่งงานไปอยู่ตระกูลของสามี ปฏิบัติให้สามีพอใจ แล้วจะได้บวช
เมื่อแต่งงานแล้ว ต่อมานางได้ตั้งครรภ์ แต่ไม่รู้ว่าตั้งครรภ์ ครั้งนั้น มีงานนักขัตฤกษ์ในพระนคร ทั่วพระนครได้มีการประดับตกแต่ง ชาวพระนครพากันเที่ยวงาน นางไม่ได้ตกแต่งร่างกายของตน ไม่ประดับประดาเครื่องประดับ เที่ยวชมงาน สามีได้ถามนางถึงเหตุที่ไม่ตกแต่งร่างกายและไม่ประดับประดาเครื่องประดับทั้งหลาย นางกล่าวว่า
ร่างกายเต็มด้วยซากศพ ๓๒ ประการ จะประดับร่างกายเพื่อประโยชน์อะไร เพราะกายนี้ เทวดา พรหมไม่ได้นิรมิต กายนี้ไม่ได้ทำด้วยทอง แก้วมณี ไม่ใช่เกิดจากดอกไม้ แต่เต็มไปด้วยอุจจาระ ไม่สะอาด ไม่ใช่เต็มด้วยอมฤต เกิดในซากศพ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด มีการขัดสี และการนวดเฟ้นเป็นนิตย์ และมีการแตกทำลายและการกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา รกป่าช้า อันตัณหายึดจับ เป็นเหตุแห่งความโศก เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งความร่ำไร เป็นที่อยู่อาศัยแห่งโรคทั้งปวง เป็นที่สะสมของเสียภายใน ไหลออกภายนอกเป็นนิตย์ เป็นที่อยู่ของหมู่หนอนทั้งหลาย จะไปยังป่าช้า มีความตายเป็นที่สุด
แม้จะเปลี่ยนแปลงไปในสายตาของชาวโลก กายประกอบด้วยกระดูกและเอ็น ฉาบทาด้วยหนังและเนื้อ เป็นกายที่ถูกผิวหนังปกปิด ไม่ปรากฏตามความเป็นจริง เต็มด้วยลำไส้ใหญ่ ด้วยตับ หัวใจ ปอด ไต ม้าม น้ำมูก น้ำลาย เหงื่อ มันข้น เลือด ไขข้อ ดี และมันเหลว ของไม่สะอาดย่อมไหลออกจากทวารทั้ง ๙ ของกายนี้ตลอดเวลา คือ ขี้ตาไหลออกจากตา ขี้หูไหลออกจากหู และน้ำมูกไหลออกจากจมูก บางคราวออกทางปาก ดีและเสมหะย่อมไหลออกจากผิวกายเป็นหยดเหงื่อ ศีรษะของกายนี้เป็นโพรง เต็มด้วยมันสมอง
คนพาลถูกอวิชชาห่อหุ้ม จึงสำคัญโดยความเป็นของงดงาม กายมีโทษอนันต์ เปรียบเสมือนต้นไม้พิษ เป็นที่อยู่ของสรรพโรคที่ล้วนเป็นของทุกข์
ถ้ากลับเอาภายในของกายนี้ออกข้างนอก ก็จะต้องถือท่อนไม้คอยไล่กาและสุนัขเป็นแน่ กายไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เป็นดังซากศพ เปรียบเหมือนส้วม ผู้มีจักษุติเตียน แต่คนเขลาเพลิดเพลิน หนังสดที่ปกปิดไว้ ทวาร ๙ แผลใหญ่ มีแต่ของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ไหลออกรอบด้าน
เมื่อกายนั้นตาย ขึ้นพองมีสีเขียวคล้ำ ถูกทิ้งไว้ในสุสาน ในญาติทั้งหลายย่อมไม่ห่วงอาลัย สัตว์ต่างๆ ย่อมเคี้ยวกินกายนั้น ก็ภิกษุผู้มีญาณในศาสนานี้ ได้ฟังพระพุทธพจน์แล้ว ย่อมเห็นตามเป็นจริงว่า ร่างกายนี้ฉันใด ร่างกายนั่นก็ฉันนั้น ร่างกายนั่นฉันใด ร่างกายนี้ก็ฉันนั้น คลายความเพลิดเพลินในกายทั้งภายในและภายนอก
แล้วกล่าวว่าตนจะประดับประดาร่างกายนี้ทำอะไร การประดับประดากายนี้ ย่อมเป็นเหมือนการทำจิตรกรรมภายนอกหม้อ ซึ่งเต็มด้วยอุจจาระ
เมื่อสามีได้ฟังคำของนาง จึงอนุญาตให้นางบวช นางได้บวชในสำนักของภิกษุณีที่อยู่ในความดูแลของพระเทวทัต ต่อมาครรภ์ของนางแก่ ภิกษุณีรู้ว่านางกำลังมีครรภ์ จึงนำนางไปพบพระเทวทัต พระเทวทัตเกรงจะเกิดครหานินทาว่า ภิกษุณีในฝ่ายของพระเทวทัตมีครรภ์ จึงจะให้นางสึก แต่นางบอกว่า พระเทวทัตไม่ใช่พระพุทธเจ้า นางบรรพชาในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนางบรรพชาได้โดยยาก จึงให้พาไปยังพระเชตวันมหาวิหาร เข้าเฝ้าพระศาสดา
เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่า พระสมณโคดมรับภิกษุณีที่พระเทวทัตทิ้งแล้ว จึงทรงให้วินิจฉัยอธิกรณ์นี้ในท่ามกลางบริษัท ๔ โดยให้ทูลเชิญพระเจ้าปเสนทิโกศล มหาอนาถบิณฑิกเศรษฐี จูฬอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขามหาอุบาสิกา และตระกูลใหญ่ๆ อื่นๆ ที่มีชื่อเสียง มาประชุมกัน
นางวิสาขาแจ้งว่าภิกษุณีนี้ได้ตั้งครรภ์ในขณะเป็นคฤหัสถ์ พระอุบาลีเถระได้คืนความบริสุทธิ์ให้กับนางภิกษุณี ภิกษุณีนั้นได้คลอดบุตรมีบุญญาธิการมาก พระเจ้าปเสนิโกศลทรงรับเลี้ยงไว้ ได้ชื่อว่า กัสสป
เมื่อกุมารนั้นทราบว่ามารดาของตนเป็นภิกษุณี ได้เกิดความสังเวชและขอออกบวช นามว่า พระกุมารกัสสปเถระ เรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดา และบรรลุพระอรหัตผลในเวลาต่อมา
นางภิกษุณีร้องไห้คร่ำครวญถึงบุตรตลอด ๑๒ ปี เมื่อเห็นพระเถระ ได้ร้องเรียกและวิ่งเข้าไปเพื่อจะจับพระเถระ พระเถระคิดว่า ถ้าพูดจาไพเราะกับนาง นางจักฉิบหายเสีย จึงใช้ถ้อยคำที่หยาบคายกับนาง แล้วกล่าวกะมารดาว่า ท่านเที่ยวทำอะไรอยู่ จึงไม่อาจตัดความรักได้ เมื่อได้ยินดังนั้น นางคิดได้ว่า นางร้องไห้ตลอด ๑๒ ปี เพราะบุตรนี้ แต่บุตรของนางมีหัวใจกระด้าง นางจะเสน่หาในบุตรนี้เพื่อประโยชน์อะไร
นางตัดความเสน่หาในบุตรแล้ว บรรลุพระอรหัตผลในวันนั้น