Main navigation

ธรรมบรรยายที่ไพเราะ

เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าทรงตอบคำถามทัณฑปาณิศากยะว่า บุคคลมีปกติกล่าวอย่างไรจึงจะไม่โต้เถียงกัน พระองค์ทรงมีปรกติกล่าวอย่างนั้น และทรงแสดงอุเทศของการตรัสอย่างไรจึงจะไม่โต้เถียงกัน และพระมหากัจจายนะได้จำแนกเนื้อความโดยพิสดารให้แก่ภิกษุทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคมีปกติตรัสอย่างไร จึงไม่โต้เถียงกับผู้ใดผู้หนึ่งในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ดำรงอยู่ในโลก และสัญญาทั้งหลายจะไม่ครอบงำพราหมณ์ผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลายนั้น ผู้ไม่ลังเล ผู้ตัดความคะนองได้แล้ว ผู้ปราศจากตัณหาในภพใหญ่ได้อย่างไร

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุเทศโดยย่อว่า

ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าการที่บุคคลจะเพลิดเพลิน ยึดถือ กล้ำกลืน ไม่มีในเหตุนั้น อันนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย ที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย ที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย ที่สุดแห่งวิกิจฉานุสัย ที่สุดแห่งมานานุสัย ที่สุดแห่งภวราคานุสัย ที่สุดแห่งอวิชชานุสัย ที่สุดแห่งการจับท่อนไม้ การจับศาตรา การทะเลาะ การถือผิด การโต้เถียง การด่าว่า การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ ในเพราะเหตุนั้น

พระมหากัจจานะได้จำแนกธรรมโดยพิสดารว่า

- จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูป
- โสตวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยหูและเสียง
- ฆานวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยจมูกและกลิ่น
- ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นและรส
- กายวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ
- มโนวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์

เพราะประชุมธรรม ๓ ประการ จึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา บุคคลเสวยเวทนาอันใด ก็จำเวทนาอันนั้น บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึกถึงเวทนาอันนั้น บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด ก็เนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันนั้น บุคคลเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนาอันใด ส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้า ก็ครอบงำบุรุษ เพราะเนิ่นช้าอยู่ที่เวทนานั้นเป็นเหตุ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งหลายที่พึงจะรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เป็นอดีตก็ดี  เป็นอนาคตก็ดี เป็นปัจจุบันก็ดี.

เมื่อตามี รูปมี และจักขุวิญญาณมี ผัสสะจึงเกิด
เมื่อจมูกมี กลิ่นมี และฆานวิญญาณมี ผัสสะจึงเกิด
เมื่อลิ้นมี รสมี และชิวหาวิญญาณมี ผัสสะจึงเกิด
เมื่อกายมี โผฏฐัพพะมี และกายวิญญาณมี ผัสสะจึงเกิด
เมื่อใจมี ธรรมารมณ์มี และมโนวิญญาณมี ผัสสะจึงเกิด

เมื่อผัสสะมี เวทนามี สัญญามี วิตกมี การครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้าย่อมมีได้

เมื่อตาไม่มี รูปไม่มี และจักขุวิญญาณไม่มี ผัสสะจึงไม่มี
เมื่อจมูกไม่มี กลิ่นไม่มี และฆานวิญญาณไม่มี ผัสสะจึงไม่มี
เมื่อลิ้นไม่มี รสไม่มี และชิวหาวิญญาณไม่มี ผัสสะจึงไม่มี
เมื่อกายไม่มี โผฏฐัพพะไม่มี และกายวิญญาณไม่มี ผัสสะจึงไม่มี
เมื่อใจไม่มี ธรรมารมณ์ไม่มี และมโนวิญญาณไม่มี ผัสสะจึงไม่มี

เมื่อผัสสะไม่มี เวทนาไม่มี สัญญาไม่มี วิตกไม่มี การครอบงำส่วนแห่งสัญญาเครื่องเนิ่นช้าย่อมไม่มี

 

อ่าน มธุปิณฑิกสูตร

อ้างอิง
มธุปิณฑิกสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๔๓-๒๕๐ หน้า ๑๕๒-๑๕๙
ลำดับที่
14

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ