Main navigation

โทษของกาม

เหตุการณ์
เจ้ามหานามศากยะทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ธรรมชื่ออะไรที่ยังทรงละไม่ได้เด็ดขาดในภายใน อันเป็นเหตุให้ โลภธรรม โทสธรรม โมหธรรม ยังครอบงำจิตไว้ได้เป็นครั้งคราว

พระผู้มีพระภาคตอบคำถามเจ้ามหานามศากยะว่า

ธรรมที่ยังละไม่ได้เด็ดขาดในภายใน อันเป็นเหตุให้ โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงำจิตไว้ได้เป็นครั้งคราว

ก็ธรรมนั้น ละได้เด็ดขาดในภายในแล้ว ท่านก็ไม่พึงอยู่ครองเรือน ไม่พึงบริโภคกาม แต่เพราะละธรรมเช่นนั้นยังไม่ได้เด็ดขาดในภายใน จึงยังอยู่ครองเรือน ยังบริโภคกาม

อริยสาวกเล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามเป็นจริงว่า กามให้ความยินดีน้อย  มีทุกข์มาก  มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง อริยสาวกนั้น เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม  ยังไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น จะยังเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามไม่ได้  

แต่เมื่อใด อริยสาวกบรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เมื่อนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม

คุณของกามทั้งหลาย คิอ ความสุข ความโสมนัสที่อาศัยกามคุณ ๕ เกิดขึ้น 

กามคุณ ๕ ประการ คือ

รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสต กลิ่นที่รู้แจ้ง ด้วยฆานะรสที่รู้แจ้งด้วยชิวหา โผฏฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด        

โทษของกามทั้งหลาย คือ กองทุกข์ที่มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย 

การหาเลี้ยงชีวิตด้วยความลำบาก สำเร็จผลบ้าง ไม่สำเร็จผลบ้าง
ทุกข์ในการระวังรักษาทรัพย์ที่หามาได้
การทะเลาะวิวาทแก่งแย่งทรัพย์
การประหัสประหารเพื่อชิงทรัพย์
ตายเพราะการประหัสประหารแย่งชิงทรัพย์
การปล้นชิง กระทำอนาจาร
ถูกลงโทษ หนักบ้าง เบาบ้าง จากการกระทำนั้นๆ
ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ตายไป เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้พบนิครนถ์ผู้ถือการยืนเป็นวัตร เสวยเวทนาอันแรงกล้าอันเกิดแต่ความพยายาม ด้วยชอบใจคำที่นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวว่า บาปกรรมที่ทำแล้วในกาลก่อนมีอยู่ จึงสลัดบาปกรรมนั้นด้วยปฏิปทาที่ทำได้ยาก ลำบาก การสำรวมกาย วาจา ใจ ในบัดนี้เป็นการไม่กระทำบาปกรรมต่อไป เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ เพราะไม่ทำกรรมใหม่ ความไม่ถูกบังคับต่อไปจึงมี เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ความสิ้นกรรมจึงมี เพราะ สิ้นกรรม ความสิ้นทุกข์จึงมี เพราะสิ้นทุกข์ ความสิ้นเวทนาจึงมี เพราะสิ้นเวทนา จักสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด

พระผู้มีพระภาคจึงถามเหล่านิครนถ์ว่า 

พวกท่านไม่รู้ว่า ในปางก่อนเราได้มีมาแล้วหรือไม่
ไม่รู้ว่า ในปางก่อนเราได้ทำบาปกรรมไว้หรือไม่
ทั้งไม่รู้ว่าเราได้ทำบาปกรรมไว้อย่างนั้นอย่างนี้
ไม่รู้ว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว ทุกข์เท่านี้จำต้องสลัด เมื่อสลัดทุกข์เท่านี้ได้แล้ว ทุกข์ทั้งปวง จักเป็นอันสลัดไปด้วย
ไม่รู้จักการละอกุศลธรรม และการยังกุศลธรรมให้เกิดในปัจจุบัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่บวชในสำนักของนิครนถ์ ก็เฉพาะแต่คนที่มีมรรยาทเลวทราม มือเปื้อนโลหิต ทำกรรมชั่วช้า เป็นผู้เกิดสุดท้ายภายหลังในหมู่มนุษย์

พวกนิครนถ์จึงกล่าวว่า 

บุคคลมิใช่จะประสพความสุขได้ด้วยความสุข แต่จะประสพสุขได้ด้วยความทุกข์ ก็ถ้าหากบุคคลจักประสพความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสาร เจ้าแผ่นดินมคธ ก็คงประสพความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสาร อยู่เป็นสุขกว่าท่านพระโคดม

ในเรื่องสุขเรื่องทุกข์นั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงกล่าวว่า 

พระเจ้าพิมพิสารไม่สามารถ ไม่ทรงไหวพระกาย ไม่ทรงพระดำรัส เสวยพระบรมสุขส่วนเดียว ส่วนท่านสามารถไม่ไหวกาย ไม่พูด เสวยความสุขส่วนเดียวอยู่ เพียงคืนหนึ่งวันหนึ่ง... ๗ คืน ๗ วัน เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงอยู่สบายกว่าพระเจ้าพิมพิสาร


อ่าน จูฬทุกขักขันธสูตร

อ้างอิง
จูฬทุกขักขันธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๐๙-๒๒๐ หน้า
ลำดับที่
17

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ