Main navigation

ทรงบัญญัติสิกขาบทการทำกุฎี

เหตุการณ์
ปฐมเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทในการสร้างกุฎี - ภิกษุชาวรัฐอาฬวีสร้างกุฎีโดยขอแรงงาน วัสดุ อุปกรณ์ จากประชาชน ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ท่านพระมหากัสสปทราบเหตุการณ์ จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทการสร้างกุฎี

ภิกษุชาวรัฐอาฬวีสร้างกุฎีโดยการขอเครื่องอุปกรณ์ แรงงาน วัสดุต่างๆ กับชาวเมืองอยู่เรื่อยๆ ประชาชนที่ถูกเบียดเบียนด้วยการขอ พอเห็นภิกษุทั้งหลายแล้ว จึงหวาดกลัว หนี เดินเลี่ยง และไม่ต้อนรับ
 
ท่านพระมหากัสสป ได้จาริกมาถึงรัฐอาฬวีและออกบิณฑบาต พบว่าประชาชนไม่ต้อนรับเหมือนเช่นเมื่อก่อน จึงสอบถามและเมื่อได้รู้สาเหตุได้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
 
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่าเป็นการกระทำไม่เหมาะ ไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ไม่ควรทำ

คฤหัสถ์รวบรวมโภคสมบัติได้ยากและแม้ได้มาแล้ว ก็ยังยากที่จะตามรักษา การที่ภิกษุวิงวอนขอบ่อยครั้ง เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว แต่ เป็นการกระทำเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว
 
พระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนภิกษุชาวรัฐอาฬวี ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก คนบำรุงยาก คนมักมาก คนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน และตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร
 
แล้วทรงตรัสเล่าเรื่อง ๓ เรื่อง แก่ภิกษุทั้งหลาย
 
เรื่อง ฤาษีสองพี่น้อง

มีฤาษีสองพี่น้องอาศัยแม่น้ำคงคาอยู่  ได้มีมณีกัณฐนาคราชขึ้นจากแม่น้ำคงคาเข้าไปหาฤาษีผู้น้อง แล้ววงด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่อยู่บนศีรษะ  ด้วยความกลัวนาคราชนั้น ฤาษีผู้น้องได้ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็น ฤาษีผู้พี่ได้แนะนำฤาษีผู้น้องให้ขอแก้วมณีประดับอยู่ที่คอของนาคราช ฤาษีผู้น้องได้ทำการขอถึงสามครั้ง มณีกัณฐนาคราชได้บอกฤาษีว่าแก้วมณีดวงนี้ทำให้เกิดข้าวน้ำที่ดี ให้แก่ฤาษีไม่ได้ และฤาษีเป็นคนขอจัด นาคราชจึงไม่มาหาอีกแล้ว

ต่อมาฤาษีผู้น้องได้ซูบผอม เศร้าหมองมีผิวพรรณคล้ำ มีผิวเหลืองขึ้นๆ มีตัวสะพรั่งด้วยเอ็นยิ่งกว่าเก่า เพราะไม่ได้เห็นนาคราชนั้น ฤาษีผู้พี่เห็นแล้ว จึงบอกว่า บุคคลรู้ว่าสิ่งใดเป็นที่รักของเขา ไม่ควรขอสิ่งนั้น  อนึ่ง คนย่อมเป็นที่เกลียดชัง ก็เพราะขอจัด นาคที่ถูกฤษีขอแก้วมณี จึงไม่มาให้ฤษีนั้นเห็นอีกเลย
 
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า การวิงวอน การขอ ไม่เป็นที่พอใจของสัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้นแล้ว ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงหมู่มนุษย์เล่า
 
เรื่อง นกฝูงใหญ่

ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในป่า แถบภูเขาหิมพานต์ มีหนองน้ำใหญ่ ในเวลากลางวันจะมีนกฝูงใหญ่มาหาอาหารที่หนองน้ำนั้น และเวลาเย็นเข้าอาศัยป่านั้นอยู่ ภิกษุนั้นรำคาญเสียงนกฝูงนั้น ไม่ต้องการให้นกฝูงนั้นมา จึงเข้าไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าได้ตรัสวิธีให้ภิกษุ ไปประกาศ ๓ ครั้ง ขอให้นกทั้งหลายให้ขนแก่ภิกษุตัวละหนึ่งขน ในปฐมยาม มัชฌิมยามและปัจฉิมยามแห่งราตรี เมื่อนกฝูงนั้นทราบว่า ภิกษุขอขน จึงหลีกหนีไปไม่กลับมาอีก
 
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า การวิงวอน การขอ จักไม่ได้เป็นที่พึงใจของพวกสัตว์ดิรัจฉานเหล่านั้นแล้ว ก็จะป่วยกล่าวไปไยเล่าถึงหมู่สัตว์ที่เกิดมาเป็นมนุษย์
 
เรื่อง รัฐปาลกุลบุตร

บิดาของรัฐปาลกุลบุตรได้ถามรัฐปาลกุลบุตรว่า มีคนเป็นอันมากที่มาขอท่านแต่ทำไมรัฐปาลกุลบุตรจึงไม่ขอ  รัฐปาลกุลบุตรได้ตอบว่า คนผู้ขอ ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ถูกขอ ฝ่ายคนผู้ถูกขอ เมื่อไม่ให้ ก็ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ขอ  เพราะฉะนั้น จึงไม่ขอ 
 
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า รัฐปาลกุลบุตรนั้นยังได้กล่าวตอบอย่างนี้กะบิดาของตนแล้ว ก็จะป่วยกล่าวไปไยเล่าถึงคนอื่นต่อคนอื่น
 
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑  เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑  เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุ ผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑  เพื่อป้องกันอาสวะอันจะเกิดในปัจจุบัน ๑  เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑  เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑   เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑   เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑  เพื่อถือตามพระวินัย ๑
 
สิกขาบทการทำกุฎี

ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยการขอ ประมาณในการสร้างกุฎีนี้ควรยาว ๑๒ คืบ โดยกว้างในร่วมใน ๗ คืบ ด้วยคืบสุคต พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้อันมีชานรอบ

หากภิกษุสร้างกุฎีด้วยอาการขอเอาเองในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ หรือสร้างให้มีขนาดเกินประมาณ เป็นสังฆาทิเสส


อ่าน สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖

อ้างอิง
สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑ ข้อที่ ๔๙๔-๕๐๐ หน้า ๖๒๔-๖๓๐
ลำดับที่
1

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ