Main navigation

สิงคาลกบุตร

เหตุการณ์
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกะลุกขึ้นแต่เช้า ประคองอัญชลี นอบน้อมทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า เบื้องขวา เบื้องหลัง เบื้องซ้าย เบื้องล่าง และเบื้องบน จึงตรัสถามเหตุผล แล้วพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่สิงคาลกะ เรื่องการนอบน้อมทิศ ๖ เมื่อทรงแสดงธรรมจบ สิงคาลกบุตร ประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

สิงคาลกะตอบว่า ได้ทำตามคำสั่งของบิดาตนที่ได้สั่งไว้ก่อนตายว่าให้นอบน้อมทิศทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมแก่สิงคาลกะ เรื่องการนอบน้อมทิศ ๖ ตามวินัยของพระอริยเจ้า ดังนี้

เมื่ออริยสาวกละกรรมกิเลสทั้ง ๔ ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ และไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ เป็นผู้ปราศจากกรรมอันลามก ๑๔ นี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ปกปิดทิศ ๖ ปฏิบัติเพื่อชนะทั้งโลกนี้และโลกหน้า เมื่อตายย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

กรรมกิเลส ๔ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร และมุสาวาท

การทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ คือ ปุถุชนซึ่งถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติย่อมทำกรรมอันลามก  ส่วนอริยสาวกย่อมไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ย่อมไม่ทำกรรมอันลามกโดยฐานะ ๔

ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม ส่วนผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศย่อมเจริญแก่ผู้นั้น

ทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ ประการ ได้แก่การประกอบเนืองๆซึ่ง

- การดื่มน้ำเมาคือสุราอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท มีโทษ ๖ ประการ คือ ความเสื่อมทรัพย์ ก่อการทะเลาะวิวาท เป็นบ่อเกิดแห่งโรค เป็นเหตุเสียชื่อเสียง เป็นเหตุไม่รู้จักละอาย และเป็นเหตุทอนกำลังปัญญา

- การเที่ยวกลางคืน มีโทษ ๖ ประการ คือ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่คุ้มครองและไม่รักษาตัวเอง บุตรภรรยา ทรัพย์สมบัติ เป็นที่ระแวงของคนอื่น มีคำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้นๆ และเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากย่อมแวดล้อม

- การดูมหรสพ มีโทษ ๖ ประการ คือ รำ ขับร้อง ประโคม เสภา เพลง หรือเถิดเทิงที่ไหนไปที่นั่น

- การเล่นการพนัน มีโทษ ๖ ประการ คือ ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป มีความเสื่อมทรัพย์ในปัจจุบัน เมื่อไปพูดในที่ประชุมจะฟังไม่ขึ้น ถูกมิตรหมิ่นประมาท และไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่าชายนักเลงเล่นการพนันไม่สามารถจะเลี้ยงภรรยาได้

- การคบคนชั่วเป็นมิตร มีโทษ ๖ ประการ คือ นำให้เป็นนักเลงการพนัน นักเลงเจ้าชู้ นักเลงเหล้า เป็นคนลวงผู้อื่นด้วยของปลอม เป็นคนโกงเขาซึ่งหน้า และเป็นคนหัวไม้

- ความเกียจคร้าน  ๖ ประการ คือ ไม่ยอมทำงาน โดยมักอ้างว่าหนาว ร้อน เวลาเย็นแล้ว ยังเช้าอยู่ หิว หรือกระหาย ดังนั้นเมื่อผลัดเพี้ยนการงานอยู่อย่างนี้ โภคะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น ส่วนที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความสิ้นไป

เหตุแห่งการเสียประโยชน์สุขที่พึงได้

เพื่อนในโรงสุราหรือเพื่อนที่กล่าวแต่ปากว่าเป็นเพื่อนก็มี  ส่วนผู้ใดที่เป็นเพื่อนในเวลาเราต้องการคือเพื่อนแท้

เหตุ ๖ ประการ ที่ทำให้เสียประโยชน์สุขที่พึงได้ คือ การนอนสาย การเสพภรรยาผู้อื่น ความประสงค์ผูกเวร ความเป็นผู้ทำแต่สิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้ มิตรชั่ว และความเป็นผู้ตระหนี่

คนมีมิตรชั่ว เพื่อนชั่ว มีมรรยาทและการเที่ยวชั่ว ย่อมเสื่อมจากโลกทั้งสอง คือ จากโลกนี้และโลกหน้า 

เหตุ ๖ ประการ ที่ทำให้เสียประโยชน์สุขที่พึงได้ คือ การพนันและหญิง สุรา ฟ้อนรำขับร้อง นอนหลับในกลางวันเพื่อบำเรอตน มิตรชั่ว และความตระหนี่

ผู้ใดเล่นการพนัน ดื่มสุรา เสพหญิงภรรยาของผู้อื่น คบแต่คนต่ำช้า ย่อมเสื่อม ผู้ใดดื่มสุรา ไม่มีทรัพย์ ไม่ทำงานหาเลี้ยงชีวิต เป็นคนขี้เมา ปราศจากสิ่งเป็นประโยชน์ จะจมลงสู่หนี้ คนที่นอนหลับในกลางวัน เป็นนักเลงขี้เมาเป็นประจำ ไม่สามารถครองเรือนให้ดีได้ ผู้ที่ละทิ้งการงาน ด้วยความเกียจคร้าน ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลย

ส่วนผู้ใดทำกิจของตนอยู่ ย่อมไม่เสื่อมจากความสุขเลย 
 

มิตรเทียม ได้แก่ คน ๔ จำพวก ซึ่งควรเว้นให้ห่างไกล คือ คนปอกลอก คนดีแต่พูด คนหัวประจบ และคนชักชวนในทางฉิบหาย

- คนปอกลอก ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย และคบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว 

- คนดีแต่พูด ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ เก็บเอาสิ่งที่ผ่านไปแล้วมาพูด อ้างเอาสิ่งที่ยังมาไม่ถึงมาพูดสงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้ และแสดงความขัดข้องเมื่อมีกิจเกิดขึ้น

- คนหัวประจบ ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ ตามใจเพื่อนให้ทำความชั่ว ตามใจเพื่อนให้ทำความดี ต่อหน้าสรรเสริญ และลับหลังนินทา

- คนชักชวนในทางฉิบหาย ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา ชักชวนให้เที่ยวตามตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน ชักชวนให้เที่ยวดูการมหรสพ และชักชวนให้เล่นการพนัน

มิตรแท้ มีใจดี พึงเข้าไปนั่งใกล้โดยเคารพ ได้แก่ มิตร ๔ จำพวก คือ มิตรมีอุปการะ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มิตรแนะประโยชน์ และมิตรมีความรักใคร่

- มิตรมีอุปการะ ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ รักษาเพื่อนผู้ประมาทแล้ว รักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว เป็นที่พึ่งได้เมื่อมีภัย และเพิ่มทรัพย์ให้สองเท่าเมื่อมีกิจที่ต้องทำเกิดขึ้น

- มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ บอกความลับแก่เพื่อน ปิดความลับของเพื่อน ไม่ละทิ้งในเหตุอันตราย และแม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์เพื่อนได้

- มิตรแนะประโยชน์ ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ ห้ามจากความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง และบอกทางสวรรค์ให้

- มิตรมีความรักใคร่ ได้แก่ มิตรโดยสถาน ๔ คือ ไม่ยินดีด้วยความเสื่อมของเพื่อน ยินดีด้วยความเจริญของเพื่อน ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน และสรรเสริญคนที่สรรเสริญเพื่อน

ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมรุ่งเรือง เมื่อบุคคลออมและสะสมโภคสมบัติแล้ว พึงแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ย่อมสมานมิตรไว้ได้ โดยใช้สอยโภคสมบัติด้วยส่วนหนึ่ง ประกอบ การงานด้วยสองส่วน และเก็บส่วนที่สี่ไว้ในยามอันตราย

ทิศเบื้องหน้า คือ มารดาและบิดา

ซึ่งบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ตั้งใจไว้ว่าท่านเลี้ยงเรามา เราจะเลี้ยงท่านตอบ รับทำกิจของท่าน ดำรงวงศ์สกุล ปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก และเมื่อท่านละไปแล้ว ตามเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา 

ส่วนมารดาบิดา ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน ๕ คือ ห้ามจากความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ศึกษาศิลปวิทยา หาภรรยาที่สมควรให้ และมอบทรัพย์ให้

ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์

ซึ่งศิษย์พึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ลุกขึ้นยืนรับ เข้าไปยืนคอยรับใช้ เชื่อฟัง ทำการปรนนิบัติ และเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ  

ส่วนอาจารย์ ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยสถาน ๕ คือ แนะนำดี ให้เรียนดี บอกศิษย์ด้วยดีในศิลปวิทยาทั้งหมด ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง และทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย

ทิศเบื้องหลัง คือ บุตรและภรรยา

ซึ่งสามีพึงบำรุงภรรยาด้วยสถาน ๕ คือ ยกย่องว่าเป็นภรรยา ไม่ดูหมิ่น ไม่ประพฤตินอกใจ มอบความเป็นใหญ่ให้ และให้เครื่องแต่งตัว

ส่วนภรรยา ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ จัดการงานดี สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ไม่ประพฤตินอกใจ รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ และขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง

ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรและอำมาตย์

ซึ่งกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ การให้ปัน เจรจาถ้อยคำเป็นที่รัก ประพฤติประโยชน์ ด้วยความเป็นผู้มีตนเสมอ และไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง

ส่วนมิตร ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๕ คือ รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว เมื่อมิตรมีภัยเอาเป็นที่พึ่งได้ ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ และนับถือตลอดถึงวงศ์ของมิตร

ทิศเบื้องต่ำ คือ ผู้ใต้บังคับบัญชา ทาสและกรรมกร

ซึ่งนายพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ให้อาหารและรางวัล รักษาในคราวเจ็บไข้ แจกของมีรสแปลกประหลาดให้กิน และ ด้วยปล่อยในสมัย

ส่วนทาสกรรมกร ย่อมอนุเคราะห์นายด้วยสถาน ๕ คือ ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย เลิกงานทีหลังนาย ถือเอาแต่ของที่นายให้ ทำงานให้ดีขึ้น และนำคุณของนายไปสรรเสริญ

ทิศเบื้องบน คือ สมณพรามณ์

ซึ่งกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ ด้วยกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา ด้วยการเปิดประตูต้อนรับ และให้อามิสทานเนืองๆ

ส่วนสมณพราหมณ์ ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖ คือ ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง และบอกทางสวรรค์ให้

คฤหัสถ์ควรนอบน้อมทิศเหล่านี้ บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล  เป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อ มีปัญญา สงเคราะห์แสวงหามิตรที่ดี รู้เท่าถ้อยคำที่กล่าว ปราศจากตระหนี่ เป็นผู้แนะนำแสดงเหตุผลต่างๆ ย่อมได้ยศ คนหมั่นไม่เกียจคร้าน ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย

ธรรม ๔ ประการ ได้แก่ การให้ เจรจาไพเราะ ประพฤติให้เป็นประโยชน์ และความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายในคนนั้นๆ ตามควร เป็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจในโลก ซึ่งถ้ามารดาและบิดาไม่มีธรรมเหล่านี้ จะไม่ได้รับความนับถือบูชาจากบุตร เมื่อบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้โดยชอบ ย่อมถึงความเป็นใหญ่ และเป็นผู้อันหมู่ชนสรรเสริญทั่วหน้า

เมื่อจบเทศนา สิงคาลกะขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ประกาศตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 


อ่าน สิงคาลกสูตร

 

 

อ้างอิง
สิงคาลกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑
ลำดับที่
12

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ