Main navigation
เตโชธาตุ
Share:

เตโชธาตุ หรือ ธาตุไฟ เป็น ๑ ใน มหาภูตรูป ๔

ก็เตโชธาตุเป็นไฉน คือ

(๑) เตโชธาตุที่เป็นไปภายในก็มี เตโชธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี.

เตโชธาตุที่อยู่ภายในคือ

สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึงความเป็นของเร่าร้อน คือ สิ่งที่เป็นเครื่องอบอุ่นแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องทรุดโทรมแห่งกาย สิ่งที่เป็นเครื่องเร่าร้อนแห่งกาย สิ่งที่ทำให้ของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้มถึงความย่อยไปด้วยดี  ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน ถึงความเป็นของเร่าร้อน นี้เรียกว่า เตโชธาตุที่อยู่ภายใน

เตโชธาตุภายนอกเป็นไฉน

ความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก ได้แก่ ไฟฟืน ไฟสะเก็ดไม้ ไฟหญ้า ไฟมูลโค ไฟแกลบ ไฟหยากเยื่อ ไฟอสนีบาต ความร้อนแห่งไฟ ความร้อนแห่งดวงอาทิตย์ ความร้อนแห่งกองฟืน ความร้อนแห่งกองหญ้า ความร้อนแห่งกองข้าวเปลือก ความร้อนแห่งกองขี้เถ้า หรือ ความร้อนธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า เตโชธาตุภายนอก

เตโชธาตุภายใน เตโชธาตุภายนอก ประมวลทั้ง ๒ อย่างนั้น เข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้เรียกว่า เตโชธาตุ

คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกแห่งเตโชธาตุ

(๒) ผู้ใดย่อมชื่นชมเตโชธาตุ ผู้นั้นชื่อว่าชื่นชมทุกข์ ผู้ใดชื่นชมทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่หลุดพ้นจากทุกข์

ผู้ใดไม่ชื่นชมเตโชธาตุ ผู้นั้นชื่อว่าไม่ชื่นชมทุกข์ ผู้ใดไม่ชื่นชมทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้นหลุดพ้นจากทุกข์

(๓) ความเกิด ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งเตโชธาตุ นั่นเป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชรามรณะ

ก็ความดับ ความสงบ ความสูญสิ้นแห่งเตโชธาตุ นั่นเป็นความดับแห่งทุกข์ เป็นความสงบแห่งโรค เป็นความสูญสิ้นแห่งชรามรณะ

(๔) ถ้าเตโชธาตุนี้จักมีทุกข์โดยส่วนเดียว อันทุกข์ติดตามถึง อันทุกข์หยั่งลงถึง อันสุขไม่หยั่งลงถึงแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงยินดีในเตโชธาตุ แต่เพราะเตโชธาตุอันสุขติดตามถึง อันสุขหยั่งลงถึง อันทุกข์ไม่หยั่งลงถึง ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงยินดีในเตโชธาตุ

เตโชธาตุนี้จักมีสุขโดยส่วนเดียว อันสุขติดตามถึง อันสุขหยั่งลงถึง อันทุกข์ไม่หยั่งลงถึงแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายจากเตโชธาตุ แต่เพราะเตโชธาตุมีทุกข์ อันทุกข์ติดตามถึง อันทุกข์หยั่งลงถึง อันสุขไม่หยั่งลงถึง ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายจากเตโชธาตุ

(๕) สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยเตโชธาตุ นี้เป็นความแช่มชื่นแห่งเตโชธาตุ

เตโชธาตุเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งเตโชธาตุ

การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในเตโชธาตุ นี้เป็นเครื่องสลัดออกแห่งเตโชธาตุ

(๖) ถ้าว่าความแช่มชื่นแห่งเตโชธาตุไม่ได้มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงยินดีในเตโชธาตุ ก็เพราะความแช่มชื่นแห่งเตโชธาตุมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงยินดีในเตโชธาตุ

ถ้าว่าโทษแห่งปฐวีธาตุไม่ได้มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ

ถ้าว่าเครื่องสลัดออกแห่งเตโชธาตุไม่ได้มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงสลัด (ตน) ออกจากเตโชธาตุ ก็เพราะเครื่องสลัดออกแห่งเตโชธาตุมีอยู่แล ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงสลัด (ตน) ออกจากเตโชธาตุ


สมถภาวนาเสมอด้วยไฟ

(๗) เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอได้

เปรียบเหมือนไฟที่เผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้างมูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟ ฉันนั้น

เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้


วิปัสสนาภาวนาเตโชธาตุ

(๘) เตโชธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี

ก็เตโชธาตุภายในคือ สิ่งที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ธาตุที่เป็นเครื่องยังกายให้อบอุ่น ยังกายให้ทรุดโทรมยังกายให้กระวนกระวาย และธาตุที่เป็นเหตุให้ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วถึงความย่อยไปด้วยดี หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า เตโชธาตุภายใน

ก็เตโชธาตุทั้งภายในและภายนอก เป็นเตโชธาตุทั้งนั้น

บัณฑิตพึงเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นของเรา.

บัณฑิต ครั้นเห็นเตโชธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ ย่อมยังจิตให้คลาย กำหนัดในเตโชธาตุ

สมัยที่เตโชธาตุอันเป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้ เตโชธาตุอันเป็นภายนอกนั้น ย่อมไหม้บ้านบ้าง ย่อมไหม้บ้านเมืองบ้าง ย่อมไหม้นิคมบ้าง ย่อมไหม้ชนบทบ้าง ย่อมไหม้ประเทศแห่งชนบทบ้าง.

เตโชธาตุอันเป็นภายนอกนั้นมาถึงหญ้าสด หนทาง ภูเขา น้ำ หรือภูมิภาคอันเป็นที่รื่นรมย์ ไม่มีเชื้อ ย่อมดับไปเอง

สมัยที่ชนทั้งหลายแสวงหาไฟด้วยขนไก่บ้าง ด้วยการขูดหนังบ้าง ย่อมมีได้

ความที่เตโชธาตุ อันเป็นไปภายนอกซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง ปรากฏได้ สิ้นไปเป็นธรรมดา ปรากฏได้ เสื่อมไปเป็นธรรมดา ปรากฏได้ แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นได้.

ก็ไฉนความที่กายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว ว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่เกิดขึ้นเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยึดถือด้วยสามารถของตัณหา มานะ และทิฏฐิในเตโชธาตุนั้น จะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย

 

อ้างอิง: 
(๑) ธาตุวิภังค์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๑๑๘
(๒) อภินันทนสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๑๒-๔๑๓
(๓) อุปปาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๑๔-๔๑๕
(๔) ทุกขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๑๐-๔๑๑
(๕) ปุพพสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๐๔
(๖) โนเจทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๔๐๘-๔๐๙
(๗)​ มหาราหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๓ ข้อที่ ๑๔๒
(๘)​ มหาหัตถิปโทปมสูตร วาโยธาตุ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๔๕ หน้า ๒๕๐-๒๕๑
  
 
พระสูตรหลักเกี่ยวกับเรื่องธาตุ ธาตุวิภังคสูตร มหาราหุโลวาทสูตร  มหาหัตถิปโทปมสูตร

คำต่อไป