Main navigation
ตัสสปาปิยสิกา
Share:
ตัสสปาปิยสิกา เป็นหนึ่งในอธิกรณ์สมถะ ๗ อย่าง เพื่อระงับอธิกรณ์อันเกิดแล้ว (อธิกรณ์สมถะ ๗ อย่าง ได้แก่ สัมมุขาวินัย สติวินัย อมุฬหวินัย ปฏิญญาตกรณะ เยภุยยสิกา ตัสสปาปิยสิกา ติณวัตถารกะ)

ก็ตัสสปาปิยสิกาเป็นอย่างไร คือ

พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ โจทภิกษุด้วยอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกว่า ท่านผู้มีอายุระลึกได้หรือไม่ว่า ท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว ภิกษุนั้นตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้า
ระลึกไม่ได้เลยว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิก ภิกษุผู้โจทนั้นปลอบโยนเธอผู้กำลังทำลายอยู่นี้ว่า เอาเถอะ ท่านผู้มีอายุจงรู้ตัวให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว

ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้เลยว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิก แต่ข้าพเจ้าระลึกได้ว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้เพียงเล็กน้อย ภิกษุผู้โจทก์นั้นปลอบโยนเธอผู้กำลังทำลายอยู่นี้ว่า เอาเถอะ ท่านผู้มีอายุจงรู้ตัวให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว

ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อันที่จริง ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้เพียงเล็กน้อยไม่ถูกใครถามยังรับ ไฉนข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว ถูกถาม จักไม่รับเล่า ภิกษุผู้โจทก์นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุก็ท่านต้องอาบัติชื่อนี้เพียงเล็กน้อย ไม่ถูกถามยังไม่รับ ไฉนท่านต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว ไม่ถูกถามจักรับเล่า เอาเถอะท่านผู้มีอายุ จงรู้ตัวให้ดีเถิด เผื่อจะระลึกได้ว่าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว

ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลายข้าพเจ้ากำลังระลึกได้แล ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกแล้ว คำที่ว่า ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้ว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติหนักเห็นปานนี้ คือ ปาราชิกหรือใกล้เคียงปาราชิกนี้ ข้าพเจ้าพูดพลั้งพูดพลาดไป

อย่างนี้แล เป็นตัสสปาปิยสิกา ความระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยตัสสปาปิยสิกาอย่างนี้ ฯ

 

อ้างอิง

(๑) สามคามสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๖๓ หน้า ๔๒-๔๓

คำต่อไป