Main navigation
ติณวัตถารกะ
Share:

ติณวัตถารกะ เป็นหนึ่งในอธิกรณ์สมถะ ๗ อย่าง เพื่อระงับอธิกรณ์อันเกิดแล้ว (อธิกรณ์สมถะ ๗ อย่าง คือ สัมมุขาวินัย สติวินัย อมุฬหวินัย ปฏิญญาตกรณะ เยภุยยสิกา ตัสสปาปิยสิกา ติณวัตถารกะ)

ก็ติณวัตถารกะเป็นอย่างไร คือ

พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วงและได้พูดละเมิดกรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด พึงพร้อมเพรียงกันประชุม ครั้นแล้ว ภิกษุผู้ฉลาดในบรรดาภิกษุที่เป็นฝ่ายเดียวกัน พึงลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ประกาศให้สงฆ์ทราบว่า ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เราทั้งหลายในที่นี้ เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วง และได้พูดละเมิดกรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ถ้าสงฆ์มีความพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงแสดงอาบัติของท่านผู้มีอายุเหล่านี้และของตน ยกเว้นอาบัติที่มีโทษหยาบและอาบัติที่พัวพันกับคฤหัสถ์ ด้วยวินัยเพียงดังว่ากลบไว้ด้วยหญ้า ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้มีอายุเหล่านี้และแก่ตน

ต่อนั้น ภิกษุผู้ฉลาดในบรรดาภิกษุที่เป็นฝ่ายเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่ง พึงลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี ประกาศให้สงฆ์ทราบว่า ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เราทั้งหลายในที่นี้ เกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันอยู่ ได้ประพฤติล่วง และได้พูดละเมิดกรรมอันไม่สมควรแก่สมณะเป็นอันมาก ถ้าสงฆ์มีความพรั่งพร้อมถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงแสดงอาบัติของท่านผู้มีอายุเหล่านี้และของตน ยกเว้นอาบัติที่มีโทษหยาบและอาบัติที่พัวพันกับคฤหัสถ์ ด้วยวินัยเพียงดังว่ากลบไว้ด้วยหญ้า ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้มีอายุเหล่านี้และแก่ตน

อย่างนี้แล เป็นติณวัตถารกะ ก็แหละ ความระงับอธิกรณ์บางอย่างในธรรมวินัยนี้ ย่อมมีได้ด้วยติณวัตถารกะอย่างนี้ ฯ

 

อ้างอิง
(๑) สามคามสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๖๔ หน้า ๔๓-๔๔

คำต่อไป