พระกาฬุทายีเถระ
พระเจ้าสุทโธทนะทรงได้ยินว่า พระราชโอรสประพฤติทุกรกิริยานาน ๖ ปี ก็ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ และทรงประกาศธรรมอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร ในกรุงราชคฤห์ จึงให้อำมาตย์ผู้หนึ่งพร้อมบริวาร ๑,๐๐๐ คน ไปทูลนิมนต์ให้พระพุทธองค์เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ แต่เมื่ออำมาตย์และบริวารได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้ว ได้บรรลุอรหันต์ และบรรพชาด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ณ ที่นั้น แล้วไม่ได้ส่งข่าวให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ พระองค์จึงทรงส่งอำมาตย์พร้อมบริวาร ๑,๐๐๐ คน ในทำนองเดียวกันมาตามอีกถึง ๙ ครั้ง ก็ไม่มีผู้ใดนำข่าวกลับไปแจ้ง เพราะทั้งหมดได้สำเร็จอรหัตตผลแล้วพำนักอยู่ ณ กรุงราชคฤห์นั่นเอง
ในที่สุดพระเจ้าสุทโธทนะจึงส่งกาฬุทายีอำมาตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสหชาติของพระพุทธองค์ ไปทูลนิมนต์พระศาสดา เมื่อกาฬุทายีพร้อมทั้งบริวารได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ทั้งหมดได้บรรลุอรหัตตผล ดำรงอยู่ในความเป็นเอหิภิกขุเช่นเดียวกัน
เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๔ ซึ่งเป็นช่วงที่พืชผลของชาวบ้านถูกเก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว สะดวกแก่การเดินทาง พระกาฬุทายีเถระ จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยพระขีณาสพสองหมื่นองค์ เพื่อสงเคราะห์พระญาติ ระหว่างทางพระกาฬุทายีเถระได้นำบิณฑบาตจากพระเจ้าสุทโธทนะและชาววังมาถวายต่อพระศาสดาด้วยฤทธิ์โดยการเหาะขึ้นสู่เวหา นอกจากนี้ยังได้แสดงธรรมีกถาที่ประกอบด้วยพุทธคุณแก่พระเจ้าสุทโธทนะและบริษัท ทำให้เกิดความเลื่อมใสในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งที่พระองค์ยังเสด็จไปไม่ถึง
พระศาสดาจึงทรงยกย่องพระกาฬุทายีว่า เป็นผู้เลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายผู้ยังราชสกุลให้เลื่อมใส
กาฬุทายีเถราปทาน ว่าด้วยบุพจริยาของพระกาฬุทายีเถระ
ในกัปที่แสนก่อนหน้านี้ พระศาสดาชื่อว่าปทุมุตระ ผู้มีจักษุในธรรมทั้งปวง ได้เสด็จอุบัติขึ้น เป็นผู้เข้าใจสิ่งดีและสิ่งชั่วแจ้งชัด ทรงแสดงธรรมว่าด้วยสัจจะ ๔ หมู่สัตว์จำนวนเป็นแสนได้บรรลุธรรม เพราะการแสดงธรรมของท่าน ในครั้งนั้นพระกาฬุทายีเถระ เกิดในตระกูลอำมาตย์ ในพระนครหงสวดี ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระวิหารหังสาราม แล้วกราบทูลว่า ภิกษุใดในศาสนาของพระองค์ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายทำสกุลให้เลื่อมใส ขอให้ตนเป็นเหมือนภิกษุนั้น ซึ่งพระพุทธเจ้าปทุมุตระทรงทำนายว่า อีกแสนกัปต่อจากนี้ พระศาสดาชื่อว่าโคดม จะเสด็จอุบัติขึ้น ในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช และพระกาฬุทายี จะเป็นสาวกของพระศาสดาองค์นั้น
หลังจากนั้น พระกาฬุทายีได้บำรุงพระพุทธเจ้าปทุมุตระด้วยปัจจัยต่างๆ ตลอดชีวิต ทำให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ในชาติสุดท้ายนี้ ได้เกิดในตระกูลมหาอำมาตย์ แผ่นดินของพระเจ้าสุทโธทนะ พระนครกบิลพัสดุ์ ซึ่งเกิดในวันเดียวกับพระสิทธัตถราชกุมาร และเป็นสหายที่เติบโตมาด้วยกัน เมื่อพระสิทธัตถราชกุมาร มีพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ได้เสด็จออกบรรพชา อยู่ ๖ พรรษา ก็ได้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งในโลกนี้และเทวโลก หมดสิ้นซึ่งอาสวะ เสด็จไปยังป่าอิสิปตนะ เพื่อโปรดภิกษุปัจจวัคคีย์ และเสด็จไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ สงเคราะห์มนุษย์และทวยเทพ ครั้งนั้นเสด็จประทับที่ภูเขา ในแคว้นมคธ พระเจ้าสุทโธทนะทรงส่งกาฬุทายีไปเฝ้าพระพุทธองค์ หลังจากพระกาฬุทายีได้บวช และบรรลุอรหันต์แล้ว ได้ทูลให้พระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ โดยได้ล่วงหน้าไปก่อน และทำสกุลใหญ่ ๆ ให้เลื่อมใส จึงได้รับการแต่งตั้งจากพระพุทธองค์ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ทำสกุลให้เลื่อมใส
คาถาสุภาษิตที่พระกาฬุทายีทูลเชิญพระพุทธองค์ให้เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์
บัดนี้ หมู่ไม้ทั้งหลายมีดอก ใบมีสีแดงดังถ่านเพลิง ผลิผล ใบเก่าล่วงหล่นไป เป็นเวลาสมควรที่จะออกจากที่นี่เพื่อไปอนุเคราะห์หมู่พระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ในขณะนี้เป็นฤดูที่ไม่หนาวนัก ไม่ร้อนนัก เป็นฤดูที่สบาย เส้นทางการเดินทางสะดวก ขอให้พวกศากยะและโกลิยะทั้งหลาย ได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่แม่น้ำโรหิณี
ชาวนาไถนาหวังผล หว่านพืชหวังผล พ่อค้าย่อมไปสู่สมุทรด้วยหวังทรัพย์ ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้ ด้วยหวังผลอันใด ขอจงสำเร็จแก่ข้าพระองค์
ชาวนาหว่านพืชบ่อยๆ ฝนตกบ่อยๆ ชาวนาไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นสมบูรณ์ด้วยธัญญาหารบ่อยๆ ยาจกเที่ยวขอบ่อยๆ ผู้เป็นทานาธิบดีให้บ่อย ๆ เมื่อให้บ่อย ๆ ย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ บุรุษผู้มีความเพียร มีปัญญากว้างขวาง เกิดในสกุลใด ย่อมทำสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาด ตลอด ๗ ชั่วคน ดังนั้น พระองค์ย่อมทรงสามารถทำให้สกุลบริสุทธิ์ เพราะพระองค์เกิดแล้วโดยอริยชาติ เป็นนักปราชญ์ พระเจ้าสุทโธทนะ ซึ่งเป็นสมเด็จพระบิดาทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ สมเด็จพระนางเจ้ามายาซึ่งเป็นพระพุทธมารดา ทรงตั้งครรภ์พระโพธิสัตว์มา เมื่อสวรรคต ทรงพรั่งพร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์
อาตมภาพเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า ไม่มีสิ่งใดจะย่ำยีได้ มีพระรัศมีแผ่ซ่านจากพระกาย ไม่มีผู้ใดเปรียบ ดูกรมหาบพิตร พระองค์เป็นบิดาของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบิดาแห่งอาตมภาพ ดังนั้นพระองค์เป็นพระไอยกาของอาตมภาพโดยธรรม
อ่าน กาฬุทายีเถรปทาน
อ่าน กาฬุทายีเถรคาถา