Main navigation

สมถะวิปัสสนาสัมพันธ์

Q ถาม :

กราบเรียนถามท่านอาจารย์ครับ เวลาผมเข้าฌาน มันไม่อยากคิดอะไร เลยไม่รู้จะวิปัสสนายังไง จึงออกจากฌานมาวิปัสสนา พอวิปัสสนาก็ฟุ้งซ่าน เข้าฌานไม่ได้ จะทำยังไงดีครับ มันได้ ๆ เสีย ๆ อยู่อย่างนี้มานานแล้วครับ จึงอยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่าการเจริญสมถะวิปัสสนาที่ถูกต้อง ต้องทำอย่างไรครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

การปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา สามารถปฏิบัติได้สามกลไกความสัมพันธ์ คือ

หนึ่ง แบบที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติในคืนตรัสรู้ และที่ทรงสอนให้ภิกษุปฏิบัติมากที่สุด ทั้งใน สามัญญผลสูตร และอีกหลายพระสูตรมาก คือ เข้าฌานสี่แล้ววิปัสสนาเพื่อญาณ 

สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ สภาวะและกลไกการทำงานของจิต ความคิดนั้นดับไปตั้งแต่ฌานสองแล้ว ฌานสองมีแต่ปีติ สุข จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่ง พอฌานสามเหลือแต่สุขและอุเบกขา พอฌานสี่เหลือแต่อุเบกขาและสติบริสุทธิ์ นี่คือสภาวะ ในสภาวะนี้ไม่มีความคิด มีแต่รู้บริสุทธิ์ด้วยอุเบกขา เมื่อได้ฌานนี้แล้ว พระพุทธองค์ทรงให้โน้มน้อมจิตไปเพื่อวิปัสสนาญาณ โน้มน้อมคือ มนสิการดูให้เห็นความเป็นจริง เมื่อเห็นแล้วจึงเป็นญาณ ไม่ใช่ความคิด

ความคิดเกิดญาณไม่ได้ เพราะความคิดเกิดจากความไม่รู้ปรุงไปตามความอยากและความสงสัย หากพยายามคิด จึงหลุดสมาธิ ญาณจึงหาย ญาณแปลว่ารู้ชัดเห็นชัดด้วยจิต เห็นด้วยรู้บริสุทธิ์นั้นชัดกว่าเห็นด้วยตาเปล่า และเห็นได้ลึกซึ้งกว่ามาก

นี่คือสมถะวิปัสสนาแบบที่หนึ่ง วิปัสสนาในฌาน ไม่ต้องออกจากฌาน ไม่ต้องใช้ความคิด แต่ใช้รู้บริสุทธิ์ส่องดูจนเกิดญาณ รู้ชัดเห็นชัด

สอง แบบโพชฌงค์ วิปัสสนานอกฌาน ในสัมโพชฌงค์สูตร ทรงสอนตั้งสติเป็นสติสัมโพชฌงค์ คือ สติเพื่อการรู้แจ้งก่อน แล้วธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ คือ เลือกเฟ้นธรรมมาพิจารณาให้ถ่องถ้วน ซึ่งก็คือวิปัสสนานั่นเอง แต่ยังไม่ใช่ญาณ จะได้แค่ความเข้าใจ

เข้าใจแล้วก็เพียรปฏิบัติตามนั้นจริงให้เป็นวิริยะสัมโพชฌงค์ เพียรเพื่อรู้แจ้งจริงตามที่เข้าใจ

เมื่อเพียรต่อเนื่องก็จะได้ปีติสัมโพชฌงค์

เมื่อได้ปีติอิ่มเอมดีก็จะได้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือ จิตและกายสงบสงัด

เมื่อได้ความสงบสงัดจึงได้ฌาน หรือ สมาธิสัมโพชฌงค์

ได้สมาธิแล้วทำสมาธิให้หมดจดยิ่งขึ้นจนได้อุเบกขาสัมโพชฌงค์ จิตเป็นกลางสม่ำเสมอไม่หวั่นไหวกับอะไร ๆ ก็จะแจ่มแจ้งสัจธรรม

สัมโพชฌงค์จึงเป็นธรรมเพื่อการตรัสรู้ คือ เพื่อความแจ่มแจ้ง เมื่อแจ่มแจ้งแล้ว ดับอวิชชาเสีย หรือโน้มน้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ ก็หลุดพ้น 

นี่คือความสัมพันธ์ที่สอง การวิปัสสนานอกฌาน ด้วยความคิดเลือกเฟ้นพินิจพิจารณาจนเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องเข้าฌานจึงจะตรัสรู้ธรรม

เข้าใจอย่างเดียวบรรลุธรรมไม่ได้เพราะยังเข้าไม่ถึง บรรลุธรรม คือ การเข้าถึง ไม่ใช่แค่เข้าใจ

สาม ปฏิบัติแบบพระสารีบุตร (อนุปทสูตร) พระพุทธองค์ทรงเล่าว่า พระสารีบุตรมีปัญญามากเพราะเจริญสมถะควบคู่วิปัสสนาไปตลอด

ทำอย่างไร

พระสารีบุตรเข้าฌานหนึ่ง แล้วสอดส่องดูว่า ฌานหนึ่งมีอะไรเป็นองค์ประกอบ อะไรที่ไม่เคยมีแล้วมีขึ้นมา อะไรที่ดับไป เห็นแล้วปล่อยวาง 

จากนั้นเข้าฌานสอง แล้วสอดส่องดูว่า ฌานสองมีอะไรเป็นองค์ประกอบ อะไรที่ไม่เคยมีแล้วมีขึ้นมา อะไรที่ดับไป เห็นแล้วปล่อยวาง 

จากนั้นเข้าฌานสาม แล้วสอดส่องดูว่า ฌานสามมีอะไรเป็นองค์ประกอบ อะไรที่ไม่เคยมีแล้วมีขึ้นมา อะไรที่ดับไป เห็นแล้วปล่อยวาง

จากนั้นเข้าฌานสี่ แล้วสอดส่องดูว่า ฌานสี่มีอะไรเป็นองค์ประกอบ อะไรที่ไม่เคยมีแล้วมีขึ้นมา อะไรที่ดับไป เห็นแล้วปล่อยวาง

จากนั้นเข้าฌานห้า แล้วสอดส่องดูว่า ฌานห้ามีอะไรเป็นองค์ประกอบ อะไรที่ไม่เคยมีแล้วมีขึ้นมา อะไรที่ดับไป เห็นแล้วปล่อยวาง

จากนั้นเข้าฌานหก แล้วสอดส่องดูว่า ฌานหกมีอะไรเป็นองค์ประกอบ อะไรที่ไม่เคยมีแล้วมีขึ้นมา อะไรที่ดับไป เห็นแล้วปล่อยวาง

จากนั้นเข้าฌานเจ็ด แล้วสอดส่องดูว่า ฌานเจ็ดมีอะไรเป็นองค์ประกอบ อะไรที่ไม่เคยมีแล้วมีขึ้นมา อะไรที่ดับไป เห็นแล้วปล่อยวาง 

ทรงเล่าว่าพระสารีบุตรทำอย่างนี้ไปตลอดเจ็ดฌาน จะเห็นได้ว่าไม่มีฌานแปด เพราะในฌานแปด inactivate สัญญา จึงไม่มีการหมายรู้

นี่คือแบบที่สาม สมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปตลอด ทำให้เข้าใจกลไกของจิตและสภาวะจิตต่าง ๆ ชัด จึงมีปัญญามาก

นี่คือสามความสัมพันธ์ของสมถะวิปัสสนา

ท่านพระอานนท์ก็เล่าว่า ในสำนักของท่าน ภิกษุที่บรรลุธรรมทั้งหมด ล้วนบรรลุด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง (ยุคนัทธกถา) คือ

1) สมถะนำวิปัสสนา 
2) วิปัสสนานำสมถะ 
3) สมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป ทั้งสิ้น

ใน อัฏฐกนาครสูตร ท่านพระอานนท์ก็ยืนยันชัดอีกว่า การบรรลุธรรมมีแต่บรรลุในฌานเท่านั้นเมื่อปัจจัยปรุงแต่งดับไป

สมถะอย่างเดียวหรือวิปัสสนาอย่างเดียว แล้วบรรลุธรรม ไม่มี เพราะสมถะอย่างเดียวจะจมในจิต วิปัสสนาอย่างเดียวจะฟุ้งซ่าน

ด้วยเหตุนี้ แม้ในมหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อถึงธรรมานุปัสสนา เจริญสติแล้วก็ต้องยกสติขึ้นสู่ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ จนจบด้วยอุเบกขาสมาธิ หรือเจริญมรรคก็จบด้วยสัมมาสมาธิ ตั้งแต่ฌานสามถึงฌานเจ็ดเป็นอุเบกขาสมาธิเช่นกัน ซึ่งก็บรรจบกับวิปัสสนาญาณสิบหก ขั้นตอนที่สิบเอ็ดคือ สังขารุเปกขาญาณ ก่อนที่จะทบทวนรวบยอดด้วยอนุโลมญาณ แล้วเข้าโคตรภูญาณเลย

ดังนั้น สมถะและวิปัสสนามาบรรจบกันที่อุเบกขาจึงบรรลุธรรม

ด้วยกลไกธรรมนี้ จะเจริญสมถะก่อน หรือวิปัสสนาก่อนก็ได้ หรือเจริญพร้อมกันก็ดี แต่ต้องทำให้ถึงอุเบกขา อุเบกขานั้นเป็นทั้งผลของสมถะและผลของวิปัสสนา เป็นประตูสู่การบรรลุธรรม

เมื่ออยู่ที่ประตูอุเบกขาแล้ว กุญแจที่จะเปิดประตูเข้าสู่วิมุตติคือวิราคะ ด้วยสมาธิที่ผ่องแผ้วกอปรปัญญาที่สว่างไสว จึงเห็นชัดว่าแม้อุเบกขาจะเป็นจิตที่ประณีตที่สุด แต่ก็ยังมีปัจจัยปรุงแต่ง จึงต้องตามรักษา ครั้นสัมผัสโลกพยายามขึงจิตให้ไม่มีอารมณ์ก็กลายเป็นอุเบกขึง ครั้นพยายามหนีการรับรู้ทั้งหมดเข้าไปจมในจิตก็กลายเป็นอุเบกขัง ครั้นทำใจเป็นกลางวางเฉยโล่งสบาย ๆ ก็เป็นอุเบกขา แต่ทั้งสามสถานะนั้นเป็นภาระประณีตแห่งจิตที่ต้องคอยดูแล จึงเบื่อหน่ายด้วยปัญญาจนเกิดนิพพิทาญาณ

เมื่อความเบื่อหน่ายสุกงอม จึงวิราคะคลายการเกาะเกี่ยวยึดถือแม้อุเบกขานั้น

เมื่อปัจจัยปรุงแต่งแม้ประณีตที่สุดนั้นดับสลายไป จึงเข้าสู่วิมุตติ เมื่อถึงวิมุตติ ก็ปรากฏความเบิกบานอันเป็นเช่นนั้นเอง ปราศจากการปรุงแต่งใด ๆ

ปฏิบัติให้ถูกธรรมตามพุทธวิธีของพระบรมศาสดา หรือตามท่านพระสารีบุตร ตามท่านพระอานนท์ จะไม่ผิดพลาดและได้ผลเร็ว ท่านเหล่านี้คือต้นแบบ คือ พระอาจารย์ใหญ่แห่งพระศาสนา พวกเราควรเคารพ เชื่อฟัง และปฏิบัติตามท่านตรง ๆ จึงจะชื่อว่าปฏิบัติธรรมแห่งพระพุทธศาสนา และเข้าถึงพระรัตนตรัยจริง ๆ