Main navigation

จิต เจตสิก ใจ

Q ถาม :

ไม่เข้าใจความหมายเรื่อง จิต เจตสิก ใจ ที่บอกว่า จิต เจตสิก มันเป็นชุดของมัน พอมีใจเข้ามาร่วมด้วย ใจก็จะเป็นตัวสะสมข้อมูล จึงขอคำแนะนำจากอาจารย์ชี้แนะด้วยค่ะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

จะเข้าใจได้ดีที่สุด คือ กางสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเป็นแผนที่ แล้ววิปัสสนาของจริง คือเดินไปตามแผนที่จริง ๆ ก็จะเจอของจริง ว่ามีอะไรบ้างในรู้ของเรา

เหตุที่การนิยามมันทำให้สับสนเพราะว่ามันก็มีหลายศาสนาหลายศาสตร์ รู้นี้มีชื่อเรียกมากมายเลย ศุภสีรินก็เรียก ชีโวก็เรียก จิตก็เรียก มโนก็เรียก วิญญาณก็เรียก อาตมันก็เรียก ฝรั่งก็นิยามเป็น mind, brain, neuron, heart, soul แล้วแต่ว่าใครไปเจอส่วนไหน แล้วนิยามกันไป โดยรวมคือ รู้ รู้นี่แหละ

เรื่องจิตใจนี่ พระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบรายละเอียดและการทำงานสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ ครบสมบูรณ์กว่าทุกศาสตร์ทุกศาสนาในโลก ในธรรมชาติมีวิญญาณธาตุเป็นแสงอยู่ เวลาเราเข้าวิญญาณัญจายตนะ เราจึงเห็นวิญญาณไร้ขอบเขตอยู่ เป็นธาตุธรรมชาติไม่เป็นตนของใคร เรียกว่าวิญญาณธาตุ ครั้นมีการประกอบกับอินทรียวัตถุเป็นสังขาร วิญญาณธาตุก็เป็นองค์ประกอบด้วย การรับรู้จึงเกิดขึ้น กายก็รับรู้ได้ สังขารที่มีวิญญาณรับรู้ได้นี้เองเป็นตัวแยกสิ่งมีชีวิตจากสิ่งไม่มีชีวิต เมื่อพัฒนาระบบประสาทมากขึ้น ทุกระบบประสาทก็จะมีวิญญาณเกิดขึ้นตามระบบประสาทนั้นอีก เรียกอายตนวิญญาณ เช่น จักขุวิญญาณ เป็นอาทิ ใหม่ ๆ รู้ก็รู้เฉย ๆ เมื่อรู้บ่อย ๆ เข้า เกิดพลังตกค้างแห่งรู้นั้น พลังตกค้างเรียกว่าความทรงจำ ทำให้พอรับรู้สิ่งเดิมก็ระลึกได้ว่าคืออะไร เพราะเคยรู้มาหลายครั้งแล้ว หากพลังตกค้างน้อย ก็เรียกว่ารู้แล้วไม่รู้จักจำ ก็เด๋อด๋าดังเดิม แต่ชีวิตรับรู้หลากหลายเหลือเกิน จึงเกิดความจำหลายชุดมา ชุดความจำแต่ละคุณสมบัติเรียกว่าเจตสิก ก็มีชุดใหญ่ ๆ คือกุศลเจตสิก อกุศลเจตสิก สัพพจิตตสาธารณเจตสิกคือเข้าได้ทั้งกับกุศลและอกุศล เป็นต้น เจตสิกเหล่านี้เมื่อหนาแน่นมากขึ้น ก็มีพลังทำงานต่อเนื่อง หากเจตสิกทำงานอัตโนมัติ โดยชีวิตนั้นไม่รู้ตัวหรือไม่ได้สั่งให้ทำก็เป็นภาวะโมหะ หากสั่งให้ทำอย่างรู้ตัวก็เป็นภาวะสติ ภาวะรู้ต่างระดับคุณภาพนี้เองเรียกว่าภาวะจิต หรือรู้ เนื่องจากเจตสิกที่ชีวิตทั่วไปสะสมกันถึง 52 ตัว บางตัวทำงานด้วยกัน บางตัวไม่ทำงานด้วยกัน เช่นโทสะกับอิจฉาทำงานด้วยกัน แต่ไม่ยอมทำงานกับเมตตา combination ของเจตสิกหลากหลายนี้ จึงทำให้เกิดภาวะจิตได้หลายภาวะ แบ่งเป็นภาวะใหญ่ ๆ ได้ 121 ภาวะ เป็นภาวะใหญ่ ๆ ได้ ที่เรียกว่าจิต 121 ดวง ถ้าจำแนกความเป็นไปได้โดยละเอียดได้ 30,000 กว่าภาวะ นั่นคือรู้ในชีวิต คราวนี้เมื่อร่างกายจะตาย รู้เหล่านี้เขาไม่แก่ ยังมีพลังขยันทำงานกันตลอด จึงรวมตัวกันเป็นใจ คือกลุ่มพลังรู้ทั้งหมดนี้ ไปหาร่างกาย activate ใหม่ คือเกิดใหม่ ใจที่ออกไปนี้ บางอารยธรรมก็เรียก เจตภูมิบ้าง soul บ้าง จะเรียกอะไรก็ได้ แต่มันคือรู้โดยรวมนั่นแหละ เมื่อใจไปเกิดได้สมปรารถนาก็มีชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่นี้จึงมีใจเป็นประธาน เจตสิกก็ยังทำงานต่อเนื่อง สร้างภาวะจิตต่าง ๆ ตลอดเวลา เรียนรู้ไป แข็งกล้ามากขึ้น สะสมความทรงจำมากขึ้นนานแสนนาน บางครั้งบางคราว จิตใจนั้นเกิดเฉลียวใจว่า ร่างกายนี้เกิดและตายบ่อย หากายให้ใหม่ไม่ทันไรก็ตายอีกแล้ว น่าเบื่อจริง ๆ ก็เลยตัดสินใจไม่เอากายอีก แต่จิตใจก็ยังอยู่ เรียกว่าอรูปสัตว์ จักเป็นพรหมชนิดหนึ่ง แต่อีกนานแสนนาน อรูปพรหมเคลื่อนจิต เอ้า มาเกิดมีกายอีกแล้ว เอ๊ะ หรือเราเองที่เป็นปัญหา ยังเก็บงำความทรงจำและรู้อยู่นี่แหละ จึงยังต้องเกิด ๆ ตาย ลองดับรู้ทั้งหมดดูสิ เมื่อตายเลยไร้รู้ แต่ยังมีกายโปร่ง ๆ อยู่ตามกรรมครอง เรียกอสัญญีสัตว์ เป็นรูปพรหมชนิดหนึ่ง บางคนเข้าใจว่าตรงนี้คือนิพพาน คือความดับ แต่เอาเข้าจริงอีกนานแสนนาน กายที่มีกรรมครองนั้นก็ผุดรู้ขึ้นมา แล้วมาเกิดมีชีวิตอีก จิตใจทั้งหลายลองผิดลองถูกแสวงหา the best นานแสนนาน
           
จนกระทั่งพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงค้นพบนิพพานของจริง และประกาศว่า การสืบต่อขันธ์ ตายแล้วเกิดไปเรื่อย ๆ นี้เป็นการสืบต่อทุกข์ เรียกว่าสัสสตทิฏฐิ ไม่ใช่ the best ไม่เป็นนิพพาน หรือการดับรู้หมดหวังให้ขาดสูญ ก็ไม่ใช่ the best ไม่เป็นนิพพาน แต่มีภาวะกลางคือ ทุกรูปทะลุนามวางขันธ์ขาดสูญ จะปรากฏสิ่งใหญ่เรียกว่า พุทธะ มีสภาวะรู้ ตื่น เบิกบาน โดยปราศจากนามรูป ปราศจากขันธ์ นี่จึงเป็น the best นิพพานแท้แน่นอน
 

ถาม
เจตสิกที่เป็นองค์ประกอบของใจเกิดจากอะไร ทำไมมันถึงเป็นองค์ประกอบของใจตั้งแต่แรก
 
อาจารย์ไชย ณ พล
แรกเริ่ม มันเป็นปฏิกิริยาระหว่างรู้แห่งวิญญาณธาตุ กับไม่รู้แห่งมหาภูตรูปเฉย ๆ พอพัฒนามาขั้นกลาง มันเกิดจากปัญญากับอวิชชาทำปฏิกิริยากับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดพลังงานตกค้างมากขึ้น โทสะ เราก็เคยโกรธกันทุกคน เอาโทสะมาให้ดูหน่อยได้ไหม มองเข้าไปในใจตอนนี้มีไหม ไม่มี แต่มันก็เคยมี และอาจจะมีอีกก็ได้ มันเป็นแค่ชุดพลังงาน มันไม่ได้มีตัวตนจริง จึงเรียกอนัตตา ตราบใดที่มันยังมีโอกาสที่ความไม่ลงตัวของสิ่งเร้ากับใจเรายังเกิดได้ ความไม่พอใจก็จะยังปรากฏในอนาคต
 

ถาม
เมื่อเราตาย จิตมันก็หลุดออกไป ไปเกิดใหม่ไม่มีที่สิ้นสุดใช่ไหม
 
อาจารย์ไชย ณ พล
จะสิ้นสุดหรือไม่มันขึ้นอยู่กับเราจะทำ ถ้าเราจะทำให้สิ้นสุด ก็คือเราปล่อยรู้คุณภาพต่ำทั้งหมดนี้ จนปรากฏรู้บริสุทธิ์ที่ไม่ใช่วิญญาณ ไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่ความทรงจำ แล้วเข้าไปอยู่สภาวะที่ beyond space and time เหนือกว่าภพภูมิและกาลเวลาสมบูรณ์แบบ คือนิพพาน
           
ถ้าดับรูปไปเป็นอรูปพรหม หรือ ดับนามไปเป็นอสัญญีพรหม ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะมันยังมีกรรมและอายุขัยกำกับอยู่ ต้องทะลุทั้งรูปทั้งนาม ดับขันธ์ขาดจึงสมบูรณ์แบบ
 

ถาม
เมื่อดับแล้ว จะเหลืออะไร
 
อาจารย์ไชย ณ พล          
ก็ดับดูซี ถ้ายังดับไม่ได้ อย่าเดา

เรื่องนิพพานนี่สำคัญที่สุด ถ้าขบคิด นิยามผิด จะปิดประตูนิพพานสำหรับตนเลย ไปนิพพานไม่ได้ แล้วไปไหน พระพุทธเจ้าตรัสในทิฏฐิสูตรว่า มิจฉาทิฏฐิมีคติเป็นสอง คือกำเนิดเดรัจฉาน หรือสัตว์นรก ดังนั้น ถ้ายังดับรู้ปรุงแต่งไม่ได้ อย่านิยามนิพพานเด็ดขาด
 

ถาม
จะดับได้อย่างไรครับ
 
อาจารย์ไชย ณ พล
ปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติตามพุทธวิธีตรง ๆ อย่ามัวขบคิดจินตนาการ อย่ามัววิจิกิจฉาสงสัย พระผู้มีพระภาคให้ปฏิบัติอย่างไร ก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไปให้ถึงจริง ให้รู้แจ้ง จึงจะเรียกว่าพุทธชน

 

 

ที่มา
Best of All CD, Track 27, เวลา 1:07:08