Main navigation

การทำบุญให้ได้ผลดีที่สุด

Q ถาม :

ทีมงานถามว่าการให้ในยามที่ต้องการนั้น จะทำให้เกิดผลอย่างไรคะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

มีตัวอย่างสมัยก่อนพุทธกาลนี้ การให้ในยามที่ต้องการเป็นพละปัจจัยที่ทำให้เลิศด้วยลาภ ในสมัยพระวิปัสสีพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นราชโอรสเจ้าเมืองพันธุมเสน เมื่อตรัสรู้แล้ว ได้พาภิกษุบรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก มีอยู่คราหนึ่งท่านพร้อมด้วยภิกษุ ๖ ล้าน ๘ แสน รูป เสด็จมาโปรดพระชนกยังเมืองพันธุมเสน พระราชบิดาก็ทรงดูแลอย่างดี ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ ๖ ล้าน ๘ แสน รูป โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ประชาชนเห็นดังนั้นก็อยากได้บุญบ้าง ก็พร้อมใจรวมตัวกันจัดมหกรรมครั้งใหญ่เลย เลี้ยงพระพุทธเจ้าและพระภิกษุ ๖ ล้าน ๘ แสน รูป ด้วยภัตตาหารและของบริวารที่อุดมกว่า พระราชาก็เกทับบ้าง เลี้ยงให้ดีกว่าอีก ประชาชนก็รวมกำลังกันเลี้ยงให้ยิ่งกว่าอีก คนสมัยก่อนเขาแข่งกันทำบุญนะ ไม่ได้แข่งทำยอดธุรกิจ แข่งกีฬา แข่งพนันกันเหมือนเดี๋ยวนี้ ใจใหญ่มากนะ เลี้ยงพระที ๖ ล้าน ๘ แสนรูป ผลัดกันเลี้ยงไป ผลัดกันเลี้ยงมา

ครั้งหลังสุด ชาวบ้านตกลงกันว่าเราจะเลี้ยงให้ครบถ้วนที่สุด สิ่งที่ควรมีก็ให้มีให้หมด ห้ามขาดอะไรเลย หลังจากที่เตรียมกระยาหารกันหมดแล้วพบว่ายังขาดอยู่อย่างเดียวคือ น้ำผึ้งดิบ ก็ส่งคนไปหา ปรากฏว่าไม่มีเลยในช่วงนั้น จึงให้คนเอาเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ ไปเฝ้าอยู่ทุกมุมเมือง ถ้าเจอใครขนน้ำผึ้งดิบมาให้ซื้อทันที เพราะยังขาดอยู่อย่างเดียว ตอนนั้นมาณพสิวลีเป็นคนบ้านนอก มีเพื่อนอยู่ในเมืองพันธุมเสน จะไปเยี่ยมเพื่อน ก็เลยเอารวงผึ้งจากบ้านนอกมาด้วย ๑ รวง จะเอาไปฝากเพื่อน ชาวเมืองที่คอยอยู่เห็นก็เลยขอซื้อ โดยให้ ๑ กหาปณะ ๑ กหาปณะ ก็คือ ๔ บาท มาณพสิวลีก็แปลกใจ ปกติน้ำผึ้งนี่เป็นของที่ให้กันแบบฟรี ๆ ไม่ได้มีมูลค่าอะไรมากมาย ถ้าจะมีก็มีแค่ ๑ มาสก แปลกใจก็เลยไม่ขาย เขาก็ขึ้นให้ไปเรื่อย ๒ กหาปณะ จนถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ ๔,๐๐๐ บาทสมัยนั้น ถ้าเทียบกับค่าเงินสมัยนี้ก็น่าจะประมาณ ๔ แสนบาท ผึ้งรวงหนึ่งราคา ๔ แสนบาท ถ้าเป็นเรา จะขายมั้ย
   
มาณพสิวลีบอก “ท่านจงบอกเราก่อนว่า ท่านจะเอาไปทำอะไร”
   
ชาวเมืองก็เล่าให้ฟังว่า “มีพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๖ ล้าน ๘ แสน รูป มาในเมืองนี้ เราจะเลี้ยงดูถวายภัตตาหารอย่างบริบูรณ์”

ท่านก็บอก “ถ้าเช่นนั้นเราไม่ขาย แต่เราจะให้ท่านก็ต่อเมื่อให้เรามีส่วนร่วมแห่งบุญนี้”

ชาวเมืองก็ดีใจ เพราะเดิมทีที่ขอซื้อเพราะไม่แน่ใจว่าเขาอยากได้บุญไหม พอขอมีส่วนร่วมในบุญ ก็เอาไปประกอบอาหารจนเสร็จเรียบร้อย ถวายต่อพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ถวายเสร็จ มาณพสิวลีก็อธิษฐานว่า “ด้วยเหตุปัจจัยที่ข้าพระองค์ได้ถวายรวงผึ้ง ซึ่งขาดแคลนและหาได้ยากยามนี้ แด่พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ ๖ ล้าน ๘ แสน รูป ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นผู้เลิศทางลาภ" 

พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ให้พร เมื่อพระพุทธองค์ทรงให้พรแล้ว ก็เป็นไปตามนั้น คือในกาลต่อมามานพนั้นก็ได้มาเกิดเป็นกษัตริย์หรือราชนิกุลทุกชาติ จนกระทั่งชาติสุดท้าย เกิดในวงศ์ศากยะและได้ออกบวชตามพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้เป็นพระภิกษุผู้เลิศทางลาภ ไปทางไหนก็ได้ของถวายเหลือเฟือ

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากปรากฎการณ์นี้ก็คือ

๑.  สละกำไรเพื่อบุญ ไม่สละบุญเพื่อกำไร 

ไปตัดรังผึ้งมาจากต้นไม้แล้วได้ ๔ แสนบาท นี่กำไรสูงมากนะ แต่ท่านสละกำไร กำไรที่สูงมาก ไม่เอากำไร ถ้าคนที่ไม่รู้ระบบบุญ ก็จะสละบุญเพื่อกำไร เพราะอะไรท่านจึงสละกำไรเพื่อบุญ เพราะบุญมีผลตอบแทน (yield) สูงกว่า  กำไรนี่ได้มา ๑,๐๐๐ เท่า มันก็แค่ ๑,๐๐๐ เท่า แต่บุญที่ถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระอริยะ จำนวน ๖ ล้านกว่ารูป ให้ผลประมาณมิได้ ระหว่าง ๑,๐๐๐ เท่ากับประมาณมิได้ มันเทียบกันไม่ได้เลย ดังนั้น ท่านเอาบุญไว้ก่อน ด้วยเหตุนี้มงคลแห่งชีวิตท่านจึงบอกว่า ปุพเพจะ กตปุญญตา เป็นผู้ทำบุญก่อน ทำบุญก่อนแล้วค่อยทำการงาน จะทำได้สะดวก ถ้าไปทำงานก่อน แล้วค่อยมาทำบุญ จะต้องทำด้วยความยากลำบาก

๒.  ทำบุญใหญ่ 

ดังนั้น มาณพคนนี้ฉลาด สละกำไรเพื่อบุญ ได้บุญใหญ่ ได้ yield สูงก่อน แล้วค่อยไปกวาดกิจที่ yield ต่ำกว่า

๓.  ทำด้วยใจเลื่อมใส

๔.  ให้ในยามที่เขาต้องการและขาดแคลน

ถ้าไปให้ในยามที่เขาล้นเหลืออยู่แล้ว อานุภาพการให้ของเราก็จะลดลง

๕.  อธิษฐานจิต 

ให้โดยไม่อธิษฐานได้ไหม ก็ได้ ได้อานิสงส์มาตรฐาน ถ้าต้องการอานิสงส์พิเศษ ก็ต้องอธิษฐานเอา กรณีของมาณพสิวลี ท่านอธิษฐาน ท่านจึงได้เป็นผู้เป็นเลิศทางลาภ ด้วยเหตุนี้ในกระบวนการสร้างบารมีจึงมีอธิษฐานบารมี ต้องฉลาดในการอธิษฐาน   

มีบางคนถามว่า แล้วจะอธิษฐานอย่างไรดี ที่เราทำบุญกันในวันนี้ เราต้องมุ่งไปที่ประโยชน์สุขต่อผู้รับและผลต่อเนื่องต่อพระศาสนาและมหาชนก่อน ไม่ใช่มุ่งมาที่ตัวเราก่อน เพราะเรากำลังให้เขาเอาไปใช้ใช่มั้ย เขาจะใช้เพื่อประโยชน์อะไร เราต้องมุ่งไปที่ตรงนั้นก่อนเต็มที่ นี่คือความกรุณา นี่เป็นบุญแล้ว จากนั้นมาอธิษฐานอานิสงส์เพื่อสิ่งที่ควรแก่เรา แต่ไม่ใช่ขอเพื่อเอาผลมากองไว้กับเราคนเดียว ถ้าอย่างนั้นคนที่จะให้พรเขาอาจจะไม่สนใจสักเท่าไหร่ ถ้าอธิษฐานสมเหตุสมผลเพื่อประโยชน์อันกว้างขวาง ท่านที่ให้พรเราก็จะยินดีให้
 
ทำบุญอย่างไรจึงจะดี
   
พระพุทธเจ้าทรงให้หลักไว้ เธอจงประพฤติธรรมให้สมควรแก่ธรรมจึงจะบรรลุสัมฤทธิผล ถ้าไม่สมควรแก่ธรรมก็จะไม่บรรลุผล ดังนั้น การทำบุญที่ถูกต้อง ต้องพอเหมาะพอดี พอเหมาะพอดีอย่างไร  

พอเหมาะพอดีกับเป้าหมายที่ประเสริฐ เพื่อผลงอกงามที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป อย่างที่เราทำบุญสร้างกำแพงวัดเขาศาลาชายแดนเขมรกันวันนี้ ก็เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ เพื่อประเทศชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อความดีที่ประเสริฐ 

ทำเอาบุญ อย่าทำเอาหน้า ทำเอาหน้านี่สักกายะเกิด สักกายะก็คือตัวตนนั่นเอง พอตัวตนเกิดแทนที่บุญจะทำให้บรรลุธรรม มันจะไปปิดกั้นการบรรลุธรรม ทำบุญเอาบุญ ทำบุญเอาความประเสริฐ ทำบุญเอาความเจริญ ทำบุญเอาความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นสิทธิที่จะได้

พอเหมาะพอดีกับระดับสุขภาวะแห่งจิต อย่าประทุษร้ายจิตเพื่อบุญ ก็คือทำในระดับที่จิตเราแช่มชื่นเลื่อมใส ให้ทำในระดับนั้น ถ้ามากเกินกว่าระดับนั้นจะทำให้เกิดความกังขาสงสัยในตัวเอง แล้วพาลสงสัยในผู้รับอีก แทนที่จะได้บุญกลับได้บาป เพราะทำร้ายจิต

พอเหมาะพอดีกับผู้รับ ให้ในสิ่งที่เป็นความจำเป็นของเขา ไม่ใช่ให้ในสิ่งที่เราอยากให้แต่เขาใช้ไม่ได้ เหมือนมาณพสิวลีให้ในสิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ อานิสงส์จึงแรง เร็ว นำสู่ความเป็นเลิศได้ ถ้าเราไปทำบุญตามเทศกาล เราให้ในสิ่งที่เขาไม่ต้องการจริง อานิสงส์มันก็อ่อนลงมาเยอะ

พอเหมาะพอดีกับธรรมวินัย ในกรณีที่เป็นพระเราต้องให้พอเหมาะพอดีกับพระธรรมวินัย ถ้าให้เกินธรรมวินัย ท่านรับก็เป็นอาบัติของท่านอีก ท่านต้องเอาไปสละ คือเอาไปโยนทิ้ง เผาทิ้ง หรือเอาไปยกให้คนอื่น ท่านใช้ไม่ได้นะ ผิดธรรมวินัย ไปทำให้พระผิดธรรมวินัย พระก็บาป โยมก็บาป ศาสนาก็เสื่อม

พอเหมาะพอดีโดยความสะอาด คือเป็นทรัพย์สินที่เราหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา ห้ามกู้หนี้มาทำบุญ ไม่เอา เป็นการเบียดตัวเอง

พอเหมาะพอดีกับการทำให้เป็นนิสัย คือทำเป็นประจำ ประจำวัน ประจำเดือนก็ได้ ให้จัดระบบไว้ให้ดี เช่น พ่อแม่เราสมัยก่อนท่านตักบาตรทุกวัน วันพระก็ไปอยู่วัด ท่านทำเป็นนิสัย การทำเป็นนิสัยอานิสงส์จะต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และตัวเราเองจะนิสัยดี นิสัยบุญ อย่าทำเพราะความเห่อวูบ ๆ วาบ ๆ

พอเหมาะพอดีกับการเผื่อแผ่กว้างขวาง อย่าหวงบุญหรือผลบุญ เพราะว่าบุญนี่ duplicate ได้ไม่มีจำกัด ไม่ต้องหวง เหมือนในตัวอย่างนี้ ข้าพเจ้าและทีมแท้ คือทำเผื่อไปเลย ทีมแท้เป็นใครล่ะ ญาติแท้ มิตรแท้ ศิษย์แท้ ศรัทธาแท้ ผู้ร่วมงานแท้ พวกของแท้ทั้งหลายนี่ได้ด้วยเลย แค่อนุโมทนาเท่านั้น ใครไม่มีโอกาสทำแค่อนุโมทนาก็ได้แล้ว อย่างสมัยพุทธกาลพระนางวิสาขาสร้างบุปผารามถวายพระพุทธเจ้า อานิสงส์นั้นทำให้ท่านไปเป็นมหาเทวีบนสวรรค์ชั้นนิมมานรดี มีเพื่อนของท่านคนหนึ่งไม่ได้ร่วมสร้างวัด แต่ได้อนุโมทนาด้วย ด้วยบุญอนุโมทนานั้นก็ได้ไปเกิดชั้นดาวดึงส์ อาจจะได้ไม่เท่าผู้ลงมือทำเอง แต่ก็ +-๒๕% ดังนั้น ใครจะอนุโมทนาอะไร เราก็ยินดีเลยไม่ต้องไปหวง มันไม่หมด ยิ่งให้ยิ่งได้มาก

พอเหมาะพอดีโดยสัดส่วน ที่พระพุทธเจ้าแนะนำคือ ๒๕ : ๕๐ : ๒๕  ห้ามทำบุญหมดตัว เบียดเบียนตัวเองเป็นบาปไม่เอา ๒๕% แรกท่านให้เอามาดูแลตัวเองและครอบครัวให้ปกติสุข ๕๐% ต่อไปท่านให้เอาไปพัฒนาการงานหรือการลงทุนให้เจริญรุ่งเรือง อีก ๒๕% ท่านจึงให้เอามาทำบุญ เอามาเก็บออมในรูปแบบต่าง ๆ บุญก็เป็นการเก็บออมชนิดหนึ่ง เป็นการลงทุนระยะยาวข้ามภพข้ามชาติ เราลงทุนในหุ้นในตราสารหนี้มันได้แค่ชาติเดียว ตายแล้วเราก็ต้องทิ้งไป แต่ลงทุนในบุญผลมันข้ามภพข้ามชาติ โดยเฉลี่ยก็ ๕๐๐ ชาติ อย่างบุญใหญ่ ๆ มาก ๆ นี่มีผลไปจนกว่าจะบรรลุธรรมสำเร็จอรหันต์ ดังนั้น ทำให้พอเหมาะพอดีโดยสัดส่วนคือ ๒๕% ของรายได้ +/- นิดหน่อยได้ ไม่ควรทำบุญหมดตัว ไม่ดี เบียดเบียนตัวเอง เดี๋ยวจะทำให้ขลุกขลัก การที่เอารายได้ไปพัฒนางานก็เป็นกุศลนะ เป็นสัมมาอาชีพ เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับตนและสังคมต่อเนื่อง นั่นก็เป็นกุศลประเภทหนึ่ง การเอามาดูแลตัวเองและครอบครัวให้ปกติสุขก็เป็นบุญเป็นกุศลเช่นกัน ดังนั้น กระจายและบริหารพอร์ตบุญให้ดี อย่าให้ไปกองอยู่ที่ใดที่หนึ่ง  

พอเหมาะพอดีกับปัญญาในการจำแนกทาน คือพวกเราอายุเยอะกันแล้วจะตายวันไหนก็ไม่รู้ จึงควรทำบุญที่มีอานิสงส์สูงสุดก่อน แล้วค่อยทำบุญอานิสงส์ต่ำรอง ๆ ลงมา จัดลำดับไปตามนั้น อย่าไปทำแบบสะเปะสะปะ เจออะไรทำหมด อายุเราอาจไม่พอทำขนาดนั้น ดังนั้นเลือกบริหารบุญให้ดี อย่างเช่น การทำบุญกับมูลนิธิ มูลนิธิมีโครงการบุญต่อเนื่องมาก เวลามูลนิธิทำบุญอะไรเราก็ได้ไปด้วย เพราะอานิสงส์สูง เราทำถวายพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ทำถวายพระอรหันต์ บำรุงวัดหลายวัด มอบคุณค่าให้มหาชน เหมือนที่เราส่งซีดีพระไตรปิฎกแจกทั่วโลก พวกเราเราก็ไปจัดระบบดู บุญไหนอานิสงส์สูงสุด เราก็ทำอันนั้นก่อน ถ้าไม่มีโอกาสทำ หยอดกระปุกไว้ มีโอกาสเมื่อไหร่ก็ไปทำ

จิตผ่องใสในการทำบุญ ถ้าจิตไม่ผ่องใส ตะขิดตะขวงใจ ไม่ต้องไปทำ เดี๋ยวจะได้บาปด้วย วิพากษ์วิจารณ์ไปมาจะได้บาป ดังนั้นทำเฉพาะที่เรามีจิตผ่องใส ให้มันเป็นบุญเต็มๆ
   
เนื่องจากพวกเราส่วนใหญ่เป็นผู้บริหาร ดังนั้น ผู้บริหารจะไปทำอะไรสุรุ่ยสุร่าย สะเปะสะปะ ก็จะไม่ใช่วิสัยของผู้บริหาร เราบอกกันเสมอว่าที่นี่เราจะเลือกเฉพาะบุญที่ดีที่สุด จึงพอเหมาะพอดีที่พวกเราจะทำ ไม่ใช่เห็นว่าที่นี่ชอบทำบุญกัน ไปเจอบุญอะไรนิดหน่อยก็มาบอกให้ทำบุญ ไม่เอานะ ที่นี่ทำเฉพาะบุญที่ดีที่สุด

อีกประการหนึ่ง บุญไม่ได้หมายถึงเฉพาะทาน การรับศีลก็เป็นบุญ สมาทานศีลด้วยจิตผ่องใส เข้าสมาธิด้วยจิตผ่องใส การเกื้อกูลมีไมตรีต่อกันด้วยจิตผ่องใส ความอ่อนน้อมมีมรรยาทต่อกันด้วยจิตผ่องใส การฟังธรรมด้วยจิตผ่องใส การแสดงธรรมด้วยจิตผ่องใส การอุทิศบุญด้วยจิตผ่องใส การอนุโมทนาบุญด้วยจิตผ่องใส การทำความเห็นให้ตรงสัจธรรมจนจิตผ่องใส เหล่านั้นนั่นก็เป็นบุญ

ทำอะไรก็ให้จิตผ่องใสเข้าไว้ได้บุญ