การก่อไฟ บูชายัญที่มีผลมาก
อุคคตสรีรพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ขอท่านพระโคดมโปรดตักเตือนสั่งสอนข้อที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนานแก่ข้าพระองค์เถิด
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล อุคคตสรีรพราหมณ์ตระเตรียมมหายัญ
โคผู้ ๕๐๐ ลูกโคผู้ ๕๐๐ ลูกโคเมีย ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ ถูกนำเข้าไปผูกไว้ที่หลักเพื่อบูชายัญ ลำดับนั้น อุคคตสรีรพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ได้ฟังมาว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ อุคคตสรีรพราหมณ์ก็ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ดูกรพราหมณ์ แม้เราก็ได้ฟังมาว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้อความทั้งหมดของข้าพระองค์ สมกันกับข้อความของท่านพระโคดม
เมื่ออุคคตสรีรพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กล่าวกะอุคคตสรีรพราหมณ์ว่า
ดูกรพราหมณ์ ท่านไม่ควรถามพระตถาคตอย่างนี้ว่า ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า การก่อไฟ การปักหลักบูชายัญ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก แต่ท่านควรถามพระตถาคตอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ข้าพระองค์ประสงค์จะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดตักเตือนสั่งสอนข้อที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน แก่ข้าพระองค์เถิด
ลำดับนั้น อุคคตสรีรพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ขอท่านพระโคดมโปรดตักเตือนสั่งสอนข้อที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนานแก่ข้าพระองค์เถิด
ดูกรพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นย่อมเงื้อศาตรา ๓ ชนิด อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก
ศาตรา ๓ ชนิดเป็นไฉน คือ
ศาตราทางกาย ๑ ศาตราทางวาจา ๑ ศาตราทางใจ ๑
บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญ เบื้องต้นทีเดียว ย่อมเกิดความคิดอย่างนี้ว่า ต้องฆ่าโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคเมียเท่านี้ตัว แพะเท่านี้ตัว แกะเท่านี้ตัว เพื่อบูชายัญ เขาคิดว่าจะทำบุญแต่กลับทำบาป คิดว่าจะทำกุศล กลับทำอกุศล คิดว่าจะแสวงหาทางสุคติ กลับแสวงหาทางทุคติ
ดูกรพราหมณ์ ในการบูชายัญ เบื้องต้นทีเดียว ย่อมเงื้อศาตราทางใจข้อที่ ๑ นี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไรมีทุกข์เป็นวิบาก
อีกประการหนึ่ง บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญ เบื้องต้นที่เดียว ย่อมกล่าววาจา (สั่ง) อย่างนี้ว่า จงฆ่าโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคผู้เท่านี้ตัว ลูกโคเมียเท่านี้ตัว แพะเท่านี้ตัว แกะเท่านี้ตัว เพื่อบูชายัญ เขาสั่งว่าจะทำบุญ กลับทำบาป เขาสั่งว่าจะทำกุศล กลับทำอกุศล เขาสั่งว่าจะแสวงหาทางสุคติ กลับแสวงหาทางทุคติ
ดูกรพราหมณ์ ในการบูชายัญ เบื้องต้นทีเดียว ย่อมเงื้อศาตราทางวาจาข้อที่ ๒ นี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก
อีกประการหนึ่ง บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญเบื้องต้นทีเดียว ย่อมลงมือด้วยตนเองก่อน คือ ต้องฆ่าโคผู้ ลูกโคผู้ ลูกโคเมีย แพะ แกะ เพื่อบูชายัญ เขาลงมือว่าจะทำบุญ กลับทำบาป ลงมือว่าจะทำกุศล กลับทำอกุศล ลงมือว่าจะแสวงหาทางสุคติ กลับแสวงหาทางทุคติ
ดูกรพราหมณ์ ในการบูชายัญ เบื้องต้นทีเดียว ย่อมเงื้อศาตราทางกายข้อที่ ๓ นี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก
ดูกรพราหมณ์ บุคคลเมื่อจะก่อไฟ ปักหลักบูชายัญ ในการบูชายัญ เบื้องต้นทีเดียว ย่อมเงื้อศาตรา ๓ อย่างนี้ อันเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก
ดูกรพราหมณ์ ท่านพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟ ๓ กองนี้
๓ กองเป็นไฉน
ไฟคือราคะ ๑ ไฟคือโทสะ ๑ ไฟคือโมหะ ๑
ก็เพราะเหตุไรจึงพึงละพึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือราคะนี้
เพราะบุคคลผู้กำหนัดอันราคะครอบงำย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ ครั้นประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือราคะนี้
ก็เพราะเหตุไร จึงพึงละพึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือโทสะนี้
เพราะบุคคลผู้โกรธ อันโทสะครอบงำย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ ครั้นประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือโทสะนี้
ก็เพราะเหตุไร จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือโมหะนี้
เพราะบุคคลผู้หลง อันโมหะครอบงำย่ำยีจิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้ ครั้นประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก ฉะนั้น จึงพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟคือโมหะนี้
ดูกรพราหมณ์ ท่านพึงละ พึงเว้น ไม่พึงเสพไฟ ๓ กองนี้แล
ดูกรพราหมณ์ ไฟ ๓ กองนี้ ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ
๓ กองเป็นไฉน คือ
ไฟคืออาหุไนยบุคคล ๑ ไฟคือคหบดี ๑ ไฟคือทักขิไณยบุคคล ๑
ดูกรพราหมณ์ ก็ไฟคืออาหุไนยบุคคลเป็นไฉน
ดูกรพราหมณ์ คนในโลกนี้ คือ มารดาหรือบิดา เรียกว่าไฟ คืออาหุไนยบุคคล
ข้อนั้นเพราะอะไร
เพราะบุคคลเกิดมาแต่มารดาบิดานี้ ฉะนั้น ไฟคืออาหุไนยบุคคล จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ
ก็ไฟคือคหบดีเป็นไฉน
คนในโลกนี้คือ บุตร ภรรยา ทาส หรือคนใช้ นี้เรียกว่าไฟคือคหบดี ฉะนั้น ไฟคือคหบดีจึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ
ก็ไฟคือทักขิไณยบุคคลเป็นไฉน
สมณพราหมณ์ในโลกนี้ งดเว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ฝึกฝนจิตใจให้สงบ ดับร้อนได้เป็นเอก นี้เรียกว่าไฟคือทักขิไณยบุคคล ฉะนั้น ไฟคือทักขิไณยบุคคลนี้ จึงควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ
ดูกรพราหมณ์ ไฟ ๓ กองนี้แล ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา บริหารให้เป็นสุขโดยชอบ ส่วนไฟที่เกิดแต่ไม้ พึงก่อให้โพลงขึ้น พึงเพ่งดู พึงดับ พึงเก็บไว้ตามกาลที่สมควร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุคคตสรีรพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้จะปล่อยโคผู้ ๕๐๐ ลูกโคผู้ ๕๐๐ ลูกโคเมีย ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ ให้ชีวิตมัน พวกมันจะได้พากันไปกินหญ้าอันเขียวสด ดื่มน้ำเย็นสะอาด และรับลมอันเย็นสดชื่น