Main navigation

เจโตวิมุตติหาประมาณไม่ได้และเจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

Q ถาม :

ช่างไม้ปัญจกังคะเรียนถามพระอนุรุทธะว่า ธรรม ๒ ข้อนี้คือเจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้และเจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ ต่างกันทั้งอรรถและพยัญชนะหรือ หรือว่ามีอรรถเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น

A พระสาวกสมัยพุทธกาล ตอบ :

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ เรียกบุรุษผู้หนึ่งมาสั่งว่า พ่อจงเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะยังที่อยู่ แล้วกราบเท้าท่านพระอนุรุทธะ เรียนท่านพระอนุรทธะว่า ขอท่านพระอนุรุทธะได้โปรดนับตนเองเป็นรูปที่ ๔ รับนิมนต์ฉันอาหารของช่างไม้ปัญจกังคะในวันพรุ่งนี้ และขอท่านพระอนุรุทธได้โปรดไปแต่เช้า ๆ เพราะช่างไม้ปัญจกังคะมีกิจหน้าที่ด้วยราชการมาก

ท่านพระอนุรุทธะรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ

พอล่วงราตรีนั้น ในเวลาเช้าท่านพระอนุรุทธะนุ่งสบง ทรงบาตร จีวรเข้าไปยังที่อยู่อาศัยของช่างไม้ปัญจกังคะ นั่งในอาสนะที่เค้าแต่งแตั้งไว้

ช่างไม้ปัญจกังคะให้ท่านพระอนุรุทธะอิ่มหนำสำราญด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือของตน เมื่อท่านพระอนุรุทธะฉันเสร็จ วางบาตรในมือแล้ว จึงฉวยอาสนะต่ำที่หนึ่งมานั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้เรียนถามท่านพระอนุรุทธดังนี้ว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญภิกษุผู้เถระทั้งหลายมาหากระผมที่นี่แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า

ดูกรคฤหบดี จงเจริญเจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้เถิด และพระเถระบางพวกกล่าวว่า จงเจริญเจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะเถิด

ธรรม ๒ ข้อนี้ คือ เจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้และเจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ ต่างกันทั้งอรรถและพยัญชนะหรือ หรือว่ามีอรรถเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น

ท่านพระอนุรุทธกล่าวว่า

ดูกรคฤหบดี ถ้าอย่างนั้น ปัญหาในธรรม ๒ ข้อนี้จงแจ่มแจ้งกะท่านก่อน แต่นี้ไปท่านจักได้มีความเข้าใจไม่ผิด

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมมีความเข้าใจอย่างนี้ว่า ธรรม ๒ ข้อนี้ คือ เจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้และเจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ มีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น

ท่านพระอนุรุทธกล่าวว่า

ธรรม ๒ ข้อนี้ คือ เจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้ และเจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ ต่างกันทั้งอรรถและพยัญชนะ

ท่านพึงทราบประการที่ต่างกันโดยปริยายดังต่อไปนี้

 

เจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้ เป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีใจสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่อยู่ เช่นนั้นเหมือนกัน และแผ่ไปตลอดทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องขวางอยู่ ด้วยอาการเดียวกัน ชื่อว่ามีใจสหรคตด้วยเมตตาอย่างไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ มีอารมณ์หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลกอันมีสัตว์ทั้งปวงในที่ทุกสถาน โดยเป็นอัตภาพทั้งมวลอยู่

มีใจสหรคตด้วยกรุณา...
มีใจสหรคตด้วยมุทิตา...

มีใจสหรคตด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่อยู่ เช่นนั้นเหมือนกัน และแผ่ไปตลอดทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องขวางอยู่ ด้วยอาการเดียวกัน ชื่อว่ามีใจสหรคตด้วยอุเบกขาอย่างไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ มีอารมณ์หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลกอันมีสัตว์ทั้งปวง ในที่ทุกสถาน โดยเป็นอัตภาพทั้งมวลอยู่

นี้เรียกว่า เจโตวิมุติที่หาประมาณมิได้

 

เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ เป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ น้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้แห่งหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ

น้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้สองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ

น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านแห่งหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้เรียกว่าเจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ

น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านสองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุติ

น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ

น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรสองหรือสามมหาอาณาจักรว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ

น้อมใจแผ่ไปตลอดปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขตว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุติที่เป็นมหัคคตะ

โดยปริยายนี้แล พึงทราบประการที่ธรรม ๒ ข้อนี้ต่างกันทั้งอรรถและพยัญชนะ

 

 

ที่มา
อนุรุทธสูตร พระไตรปิฎก​ ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๔๒๐-๔๒๓ หน้า ๒๒๒-๒๒๔

คำที่เกี่ยวข้อง :

เจโตวิมุตติ