Main navigation

การละกิเลสให้ได้ต้องทำอย่างไร

Q ถาม :

การละกิเลสให้ได้จะต้องทำอย่างไร มันจะเบื่อหน่ายไปเอง หรือต้องเกิดจากการห้ามใจก่อนครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

มันเป็นขั้นตอน เนื่องจากว่าเราเคยชินอยู่กับกิเลสมาเป็นเวลานาน ตอนที่เป็นสัตว์ เราก็ทำตามสัญชาตญาณ พอมาเป็นมนุษย์ สังคมก็ปลูกฝังว่าเธอจะต้องอย่างนั้น เธอจะต้องอย่างนี้ จะต้องแต่งงาน ต้องมีครอบครัว ต้องเรียนสูง ๆ ต้องเป็นเจ้าคนนายคน ต้องสร้างฐานะ สารพัดต้องเลย ล้วนกระตุ้นกิเลสในตัวเราเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเมื่อเราวิ่งตามกิเลส แบกกิเลสวิ่งไปในโลก ตอนที่เราจะปลดเปลื้อง มันต้องทำเป็นขั้นตอนเหมือนกัน ถ้ามันเยอะ

ขั้นตอนแรก ก็คือการตั้งปราการไม่ให้กิเลสทะเล็ดก่อน ปราการที่ไม่ให้กิเลสทะเล็ดก็คือ ศีลและการสำรวม ตัวนี้จะช่วยควบคุมพฤติกรรมของเรา ทั้งความคิด คำพูด การกระทำ ไม่ให้อะไรที่เป็นกิเลสมันทะเล็ดออกไปข้างนอก คราวนี้เมื่อไม่ให้มันทะเล็ดออกไป พลังงานมันก็จะตีกลับเข้าข้างใน เมื่อพลังงานมันตีกลับ บางทีมันเกิดความอึดอัด อัดอั้น ลังเลใจ ว่าฉันตัดสินใจถูกไหมที่มาบวชอย่างนี้ ดังนั้น มันก็จะเกิดปฏิกิริยาเข้าไปข้างใน

ขั้นต่อไปก็คือ เข้าไปกำกับมันด้วยสมาธิ กำกับด้วยสมาธิอาจใช้วิธีการบริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีความเข้มสูงกว่าการดิ้นของกิเลสนั้น ก็จะกำกับได้ หรืออีกวิธีหนึ่งปล่อยวางพลังกิเลสตรงนั้นเลย ไม่ต้องใส่ใจ แล้วไปสู่สภาวะจิตที่ลึกกว่า พอไปสู่สภาวะจิตที่ลึกกว่า มันจะค่อย ๆ อ่อนกำลังลง เพราะมันหยาบกว่า ตื้นกว่ารู้ของเรา

ขั้นต่อไป พอได้สมาธิตั้งมั่นสักพักหนึ่ง ให้วิปัสสนาตรง ๆ เลย กิเลสเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ทำให้เราไปทำกิจต่าง ๆ ที่เป็นภัย ไม่ใช่ตน สลัดคืน สละออกจากรู้ สละกิเลสออกจากรู้ได้แล้ว จะเหลือแต่รู้ที่สะอาดบริสุทธิ์อยู่ ตรงนั้นเป็นเบื้องต้นของวิมุตติ แต่ยังไม่ใช่ตัววิมุตติโดยทันที ในขณะที่เราสลัดคืนไปเรื่อย ๆ ๆ จนกระทั่งกิเลสตัวใดตัวหนึ่งมันหลุดชนิดถอนราก นั่นจะเป็นวิมุตติโดยสมบูรณ์จากกิเลสตัวนั้น เช่น ความโกรธ พอเราวิมุตติจากความโกรธแล้ว ใครมายั่วเราอย่างไรก็จะไม่โกรธ หรือความโลภ ถ้าเราวิมุตติจากความโลภแล้ว แม้ทำธุรกิจอยู่มันก็จะไม่โลภ ประเด็นนี้ก็สำคัญนะท่านทั้งหลาย ธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำด้วยความโลภ คนเข้าใจผิดคิดว่าทำธุรกิจจะต้องโลภ ไม่จำเป็น ทำธุรกิจให้เป็นบุญก็ได้ ทำอย่างไร ตั้งจิตให้ปรารถนาดีต่อลูกค้าจริง ๆ ที่เราทำธุรกิจอันนี้เพราะเราต้องการจะสร้างสิ่งที่ดีที่สุด หรือเหมาะสมที่สุดให้แก่ลูกค้าในกลไกที่เป็นธรรม ของราคา ของบริการ ของคุณภาพ ถ้าอย่างนี้เป็นการทำธุรกิจด้วยจิตที่เป็นบุญ เราก็มีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ต่อสินค้า ต่อทุกอย่างของเราจริง ๆ บุญทั้งนั้นเลย ความโลภก็ไม่มีโอกาสได้งอกงาม และเพราะตั้งจิตไว้อย่างนี้ ธุรกิจจะเจริญโดยง่าย อย่าไปตั้งจิตอยากที่จะเอาให้มาก อยากจะล้วงตังค์ออกจากกระเป๋าคนอื่นให้ได้เยอะ ๆ ทันทีที่คิด เราก็เหนื่อยแล้ว ขบวนการคิดให้ได้อย่างนั้นก็เหนื่อยอีก เวลาไปพยายามทำ ก็เกิดปฏิกิริยาที่ไม่เหมาะสมระหว่างเรากับลูกค้า แทนที่จะ happy ก็เลย unhappy ไปเลย

ดังนั้น ทำธุรกิจให้เป็นบุญ หวังดีต่อผู้บริโภคจริง ๆ จนเขายินดีที่จะจ่าย โดยไม่มีความรู้สึกตะขิดตะขวงใจ นั่นแหละ จะเป็นบุญด้วยกันทุกฝ่าย