Main navigation

ชะตาฟ้าลิขิตมาแล้วใช่ไหม

Q ถาม :

อาจารย์ครับ ชีวิตของคนเรามีการกำหนดมาแล้วใช่ไหมครับ ฉะนั้นเวลาเกิดมาแล้วเมื่อถึงอายุหนึ่งก็ต้องตายไปและมาใช้กรรมอะไรอย่างนี้หรือเปล่าครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

มันกำหนดโดยห้าส่วน

ส่วนแรก ก็คือกำหนดโดยธรรมชาติของโลกยุคนั้น ๆ อย่างในโลกยุคพระศรีอาริย์นี่ธรรมชาติจะสะอาดสะอ้าน มนุษย์มีศีลธรรมสูง มนุษย์อายุขัยเฉลี่ยแปดหมื่นปี ชีวีผาสุก โรคในยุคนั้นมีอยู่สองโรค คือโรคหิว กับโรคตาย ดังนั้นใครมาเกิดช่วงนั้นก็จะไม่เป็นโรคมะเร็ง ไม่เป็นเบาหวาน ไม่เป็นสามหมื่นโรคที่ชาวโลกเป็นกันอยู่ทุกวันนี้ ต้องหนีโรคกันอุตลุดเลยใช่ไหม กินยาหนีโรค กินวิตามินหนีโรค กินอาหารเสริมหนีโรค นั่นบริบทของสังคมและบริบทของโลกเป็นตัวกำหนดในชั้นต้น

ส่วนที่สอง ก็คือการกำหนดโดยชุดกรรมเก่า คือ เวลาใครจะเกิด คนที่จัดสรรการมาเกิดก็จะจัดสรรชุดกรรมไว้ให้เป็นทุนเดิมว่า ชีวิตนี้เอาทุนกรรมดีไปสิบชุด เอาครุกรรมไปสองชุด ลหุกรรมแปดชุด และเอากรรมไม่ดีสามชุด ตามสัดส่วนที่อยู่ในบัญชีกรรมแต่ละคน และพอกำหนดชุดกรรมอย่างนี้แล้ว เค้าก็จะจัดลำดับให้ ช่วงไหนควรจะรับกรรมอะไรบ้าง เพื่อให้ชีวิตมีต้นทุนเดิมพอเป็นไป และกรรมตัวสุดท้ายที่จะรับก็เป็นอุปฆาตกรรม คือกรรมที่จะบีบคั้นให้ตาย อันนี้คือการกำหนดโดยโครงกว้าง ๆ

ส่วนที่สาม คือกรรมใหม่ ในขณะที่เรามีชีวิตแล้วเราไปสร้างกรรมใหม่ไหม เยอะแยะมากมาย ทุกการตัดสินใจของเราคือกรรมใหม่นะ แต่กรรมเก่ามันจะแทรกแซง ให้เราอยากตัดสินใจอย่างนั้นอย่างนี้ กรรมเก่าจะมามีบทบาท แต่กระนั้นเราก็มีอิสระที่จะตัดสินใจไม่เอาตามความรู้สึกนั้นก็ได้ ตัดสินใจตามเหตุผลก็ได้ ตัดสินใจตามญาณทัสสนะที่ลึกซึ้งกว่าก็ได้ ตัดสินใจตามคำแนะนำของคนอื่น ๆ ก็ได้ ตัดสินใจตามหลักธรรม หรือตัดสินใจตามหลักกฎหมายก็ได้

ดังนั้น เรามีโอกาสมีทางเลือกที่จะตัดสินใจได้มากมาย สิ่งที่เราตัดสินใจใหม่นี่แหละคือกรรมใหม่ ฉะนั้นกรรมเก่าสมมติว่ากรรมดีสิบชุด กรรมเลวสามชุด กรรมใหม่ที่เราทำในแต่ละวันแต่ละวันนี่เป็นกรรมดีกี่ชุดล่ะ กรรมดีพันชุดถึงหรือยัง กรรมเลวร้อยชุดถึงหรือยัง เพราะฉะนั้นกรรมใหม่ที่ทำนี่แหละมันก็จะไปผสมผสานกับกรรมเก่าที่ถูก set ไว้สิบสามชุดนั้น และยังขึ้นอยู่กับว่ากรรมดีใหม่ที่ทำนี้เป็นระดับไหน ถ้าเป็นระดับครุกรรมใหม่สิบชุด ครุกรรมเลวเก่าสามชุดนั่นก็กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเลยใช่ไหม เหมือนกู้หนี้มาสามล้าน เอามาประกอบธุรกิจจนมีทรัพย์สินพันล้าน การใช้หนี้สามล้านเป็นเรื่องเล็กเลย รับมือได้สบาย

ส่วนที่สี่ คืออานุภาพจิต กรรมนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง จิตเป็นผู้สร้าง โดยธรรมชาติผู้สร้างย่อมมีอานุภาพมากกว่าสิ่งที่ถูกสร้างจึงสามารถสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาได้ ดังนั้นชีวิตจะเป็นอย่างไร จึงขึ้นอยู่กับจิตเป็นสำคัญ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เมื่อบุคคลตั้งจิตไว้ดีแล้ว กรรมดีย่อมตามบุคคลนั้นไปเหมือนล้อเกวียนตามรอยเท้าโคกระนั้น  เมื่อบุคคลตั้งจิตไว้ไม่ดีแล้ว กรรมไม่ดีย่อมตามบุคคลนั้นไปเหมือนล้อเกวียนตามรอยเท้าโคกระนั้น” ดังนั้นการรับผลกรรมจะเป็นไปตามการตั้งจิตของเรา จิตเราเองเป็นผู้เรียกกรรม และเมื่อเข้าสมาธิลึก เช่น อรูปฌาน และนิโรธสมาบัติ กรรมทั้งหลายก็หยุดให้ผลไปตลอดเวลาที่เข้าฌานนั้น เพราะจิตเป็นอิสระจาก “เจตนา” อันเป็นตัวสร้างและสืบกรรม ดังนั้นจิตใหญ่กว่ากรรม ชีวิตจะเป็นอย่างไร กรรมจะให้ผลอย่างไร จึงขึ้นอยู่กับจิตเป็นสำคัญ

ส่วนที่ห้า คือภูมิธรรม เช่น เมื่อบุคคลบรรลุธรรมระดับโสดาบัน เป็นอันปิดอบาย หมายความว่า กรรมใหญ่ที่จะลากพาไปอบายแม้เคยทำมาก่อนแต่ปางไหนก็หมดโอกาสให้ผลแล้ว เหลือแต่กรรมเล็กน้อย กรรมกลางที่จะให้ผลกับขันธ์ที่ยังครองอยู่ ครั้นสำเร็จอรหันต์ ทิ้งขันธ์เข้านิพพานแล้ว ก็เป็นอันพ้นจากกรรมทั้งปวง ดังนั้นภูมิธรรมจึงใหญ่กว่ากรรม

ดังนั้นแท้จริงแล้ว เราบริหารชะตาชีวิตของเราได้ โดยการ

หนึ่ง สร้างกรรมดีใหม่ ให้มันใหญ่มากขึ้น ทำเนือง ๆ ทำบ่อย ๆ กรรมเก่าก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไป เพราะกรรมเก่าส่วนใหญ่มันจะเซ็ตไว้เรียบร้อยแล้วเป็นต้นทุนเริ่มต้นชีวิต แต่กรรมใหม่ต่างหากที่ยังไม่ได้เซ็ต บุคคลสามารถสร้างกรรมใหม่ให้ดีกว่า ใหญ่กว่า มีอานุภาพมากกว่า ให้ผลเร็วกว่ากรรมเก่าได้ ทำได้ก็เป็นชีวิตที่มีกำไร จะทำได้ต้อง คบมิตรดีพากันเจริญ เพียรโดยชอบที่จะละบาป สร้างบุญ ยิ่งๆ ขึ้น

สอง ยกระดับจิต ให้สูงขึ้น และเจตนาแต่สิ่งประเสริฐ เพราะการตั้งจิตนั้นแลเป็นกรรมใหม่ และเป็นตัวเรียกกรรมเก่าที่เข้ากับจิตที่ตั้งไว้มาสู่ชีวิต

สาม บริหารการเกิดให้ดี ถ้ายังต้องเกิดอีกก็ฉลาดบริหารการเกิด อย่าเกิดส่งเดช อย่าเกิดเพราะกรรมซัด อย่าเกิดเพียงเพราะเขาจัดสรรให้ วางแผนการเกิดในภพภูมิที่ดี และยุคสมัยที่ดีเลย ทำได้ไง ก็ดูสิว่าแต่ละภพภูมิต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เราจึงจะเข้าเป็นสมาชิกได้ ก็พัฒนาคุณสมบัติให้เพียงพอ แล้วกำกับทิศทางการเกิดด้วยอธิษฐานจิตและความยินดีในภพภูมินั้นเนือง ๆ

สี่ บรรลุธรรม แม้จะเกิดในที่ดีแสนดีแค่ไหน ยุคสมัยที่ดีแสนดีเพียงใด ทุกชีวิตมีอายุขัย ในที่สุดก็ต้องตายจากสิ่งที่แสนดีนั้น ก็มักจะเศร้าสร้อยเสียดาย ถ้าขี้เกียจเกิดขี้เกียจตายบ่อย ๆ ก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมให้บรรลุธรรมสู่พระนิพพานให้ได้ พระนิพพานเป็นอมตธาตุ บรมสุข บรมว่าง เป็นที่สุดแห่งวิวัฒนาการ

ด้วยเหตุที่ กรรมใหม่ก็ดี อานุภาพจิตก็ดี ภูมิธรรมก็ดี มีอิทธิพลมากกว่ากรรมเก่านี่เอง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร”

 

 

 

ที่มา
Best of All CD, Track 19, เวลา 29:26

คำที่เกี่ยวข้อง :

กรรม วิบากกรรม ความเพียร