Main navigation

การสวดมนต์มีผลต่อการปฏิบัติธรรมหรือไม่

Q ถาม :

บางสำนักไม่นิยมที่จะให้มีการสวดมนต์แต่เน้นให้วิปัสสนาหรือนั่งกัมมัฏฐานเลย เพราะเค้ามองว่าการสวดมนต์อาจจะเป็นอุปสรรคของการนั่งกัมมัฏฐาน ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าการสวดมนต์เป็นสิ่งที่ดีและเป็นจุดที่เราจะน้อมจิตเข้าไปถึงพระธรรมก่อนที่เราจะเริ่มสงบจิต ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรคะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

การสวดมนต์มีอยู่ ๒ ประเภท

ประเภทที่ ๑ เป็นการทบทวนหลักธรรมที่เป็นสัจธรรม เช่น บทพิจารณาสังขาร บทมงคลสูตร บทอนัตตลักขณสูตร บทเหล่านี้เป็นบทพิจารณาสภาวธรรม เป็นวิปัสสนากรรมฐานทุกขณะที่สวด

ประเภทที่ ๒ เป็นการสวดสื่อสาร เช่น บทนะโม บทอิติปิโส บทนะโมเม บทชินบัญชร บทปริตร  เหล่านี้เป็นบทการสื่อสาร ก็สวดเมื่อต้องการสื่อสารอย่างเป็นทางการ ก็เหมือนนักการทูตชั้นดี เวลาเขาจะสื่อสารอย่างเป็นทางการ เขาต้องมีมาตรฐานการใช้ภาษา บทสวดเหล่านี้ก็คือบทมาตรฐานการสื่อสารทางการธรรม           

ถ้าเราสวดมนต์ดี ๆ ได้สภาวธรรมดีนะ เมื่อประมาณ ๓๐ ปีก่อน เราอยู่เชียงใหม่ ปฏิบัติธรรมอยู่บนเขา มีน้องที่กรุงเทพคิดถึงอยากจะไปหา เค้าก็นั่งรถทัวร์จากกรุงเทพไปเชียงใหม่ เค้าบอกเค้าคิดถึงจนเค้าไม่หลับ เค้าก็เลยสวดชินบัญชรไปตลอดทางไม่หลับเลย พอไปถึงขุนตาลเค้าบอกว่าแปลกมากเลย เค้าสามารถเห็นวิญญาณทั้งหลายที่ขุนตาล เห็นด้วยตาเปล่า ๆ เพราะสวดชินบัญชรไปตลอดทาง ดังนั้นพอสื่อสารด้วยใจมาก ๆ เกิดการ connect กันได้ connect กับสภาวะบางอย่างที่เป็นทิพย์ พอ connect กับสภาวะที่เป็นทิพย์ ก็เห็นทิพย์โดยง่าย connect กับสภาวะที่เป็นธรรม ก็จะเห็นสภาวธรรมโดยง่าย

สรุปแล้ว ดี สวดไปเถอะ เราก็เคยไปปฏิบัติทั้งในสำนักที่สวดและไม่สวดนะ ผลสวดดีกว่า

แต่ควรสวดตอนไหนจึงได้ผลดีนั่นต่างหากที่ควรเลือก

 

ผู้ถาม

สวดมนต์กับการนั่งสมาธิ ควรจะทำควบคู่กันไป หรือว่าเราควรจะเลือกนั่งสมาธิดีกว่าคะ

อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ

ดูที่ผล คือในบางสภาวะถ้าเราไม่สามารถรวมได้ด้วยการกำหนดจิตโดยตรง การใช้บทสวดมนต์ตะล่อมจะช่วยได้ เพราะบทสวดมนต์ส่วนใหญ่จะเป็น wavelength ระดับ alpha จิตเราเสพตรงนั้นสักครู่หนึ่ง จิตก็จะถูกปรับเป็น alpha ด้วย ซึ่งมันจะ smooth และใกล้สมาธิมาก หลังจากสวดมนต์เสร็จ กำหนดดิ่งจิตอีกนิดเดียวก็จะได้โดยง่าย

แต่ถ้าเราอยู่ในสมาธิทั้งวันอยู่แล้ว การออกมาสวดมนต์บางครั้งจะรู้สึกเหนื่อยจิตเพราะมันมีคลื่น จิตสมาธิลึกจะเรียบ เสพคลื่นมากจึงเหนื่อย  ในสภาวะอย่างนี้ก็วิปัสสนาปล่อยวางในสมาธิเลย ไม่ต้องออกมาสวดหรือรับรู้ภายนอก ภายในก็มีให้พิจารณาเหลือพอ

แต่ถ้าสมาธิกลาง ๆ ฟุ้งซ่านนิดหน่อยในระหว่างวัน ก็เลือกบทสวดประจำตัว เหมือนเป็นเพลงชาติประจำตัว คือบทที่สวดทีไรได้สภาวะดีทุกที  ก็สวดบทนั้นเนือง ๆ ควบคู่กับการปฏิบัติสมาธิ ก็จะรักษาสภาวะได้ดี

 

ผู้ถาม

สวดมนต์ในใจกับสวดออกเสียง อานุภาพเท่ากันไหมคะ

อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ

อานุภาพของการสวดมนต์ไม่ได้อยู่ที่การเปล่งเสียงหรือไม่เปล่งเสียง แต่อยู่ที่สมาธิจิตในขณะที่สวด ถ้าสมาธิจิตเราดี สวดลึกในใจ  อานุภาพไปถึงชั้นพรหมนะ แต่ถ้าเราสติไม่ค่อยดี สมาธิไม่ค่อยดี ตะโกนอย่างไรมันก็อยู่ในรัศมีไม่เกินกิโล ตะโกนใส่ไมค์ก็สองสามกิโล มันก็จะมีเฉพาะมนุษย์ เดรัจฉานที่อยู่ในรัศมีได้ยิน

แต่คนจำนวนหนึ่ง พอสวดในใจแล้วสติไม่ต่อเนื่อง ในกรณีนั้นก็สวดออกเสียงไป สติจะชัดกว่า ไม่จำเป็นต้องดังมากหรือแผ่วมาก ให้เสียงพอดีกับสภาวะจิต จึงได้ผลดี

 

 

ที่มา
Best of All CD, Track 21, เวลา 36:38

คำที่เกี่ยวข้อง :

สมาธิ