น้อมสมาธิจิตสู่การเจริญปัญญาทำอย่างไร
วิธีการเจริญทางธรรมะโดยใช้สมาธินำปัญญาที่ถูกต้องทำกันอย่างไรคะ และเราจะทราบได้อย่างไรว่าเราถึงจุดที่เราสามารถจะก้าวจากสมาธิหรือน้อมจิตไปสู่การเจริญปัญญาได้
จะว่าสมาธินำปัญญาทั้งหมดก็ไม่เชิงนะ
ในชั้นต้น ปัญญาเป็นตัวนำก่อนตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ แต่ปัญญาในชั้นสัมมาทิฏฐิจะยังไม่ใช่ชั้นของการบรรลุธรรม เป็นชั้นของการปรับทิศให้ตรงทาง ให้รู้ว่าอะไรคือความเป็นจริงแท้ อะไรไม่จริงแท้ และปรับจิตให้เข้าทิศเข้าทางเฉย ๆ นั่นสัมมาทิฏฐิ เป็นปัญญาสำคัญ แล้วก็พัฒนามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งจัดระเบียบชีวิตตัวเอง การจัดระเบียบชีวิตของตัวเองก็คือ สัมมาดำริ สัมมาวาจา สัมมาอาชีโว สัมมากัมมันโต นั่นคือการจัดวิถีชีวิตใหม่ให้ได้ประโยชน์และป้องกันโทษได้ เมื่อจัดระเบียบตรงนี้แล้ว
ชั้นกลาง ก็มา focus ความเพียร ความตั้งใจพากเพียร “ฉันจะปฏิบัติจิต” พอหลุดอีกก็ตั้งใหม่ “ฉันจะทำให้ได้” หลุดอีกเอาใหม่ “ฉันจะทำให้ได้อีก” จะกี่ครั้งก็จะทำให้ได้ ตั้งความเพียรเอาให้ได้ ต้องมีตัวนี้ พอมีตัวนี้จิตก็จะเริ่ม focus อยู่กับที่ได้ อยู่กับสภาวะที่เราต้องการให้อยู่ การรับรู้ชัดเจนขึ้นตรงนี้ก็เริ่มเป็นสติ คือจิตจะเริ่ม Mindful รู้แต่ละอย่างเต็มมากขึ้น การรับรู้จะชัดขึ้น ความเข้าใจจะมากขึ้น พอได้ตรงนี้แล้ว เราก็เอาสตินี้แหละเข้าไปในใจไปรับรู้ใจ ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่ใหญ่ที่สุดของความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ ความเป็นเทพ ก็เอาจิตเข้าไปในใจ ตอนเอาจิตเข้าไปในใจเราก็จะเห็นอาการของใจต่าง ๆ ก็วิมังสา พิจารณาว่าไม่เป็นตน ๆ ปล่อยวาง ๆ จนใจสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ แต่กระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมานั้นมีปัญญาหล่อเลี้ยงกำกับตลอด
ชั้นสูง พอเราได้สมาธิใหญ่มั่นคงที่ว่าง โล่งมีแต่รู้อยู่ ตรงนี้แหละก็น้อมสมาธิจิตดูสัจจะ สำคัญที่สุดอย่าออกจากสมาธิเป็นอันขาดนะ ขืนออกก็มาปรุงความคิดฟุ้งซ่านอีก เราฝึกสมาธิมาเพื่อมาใช้วิปัสสนา วิปัสสนาแปลว่าเห็นของจริงตรงจริง (ไม่ใช่ตรงตามที่จำมา) น้อมรู้แห่งสติ+สมาธิดูสัจจะ เมื่อเห็นด้วยสมาธิจิตจะเกิดญาณ เป็นวิปัสสนาญาณ และญาณอื่น ๆ อีกมากมาย นี้เป็นปัญญาชั้นสูงที่ประจักษ์แจ้งต่อตนเอง ที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นได้
ปัญญาในชั้นสัมมาทิฏฐิเป็นชั้นปรับทิศทาง ปัญญาในชั้นสัมมาญาณะเป็นชั้นแจ่มแจ้ง ความแตกต่างก็คือ ชั้นแจ่มแจ้งจะไม่มีข้อกังขา ไม่มีข้อสงสัย และแจ่มแจ้งแล้วจะไม่หวนกลับ แต่ถ้าปัญญานอกสมาธิมันยังหวนกลับได้ ทฤษฎีต่าง ๆ ในโลกจึงเปลี่ยนไปมาเพราะมันไม่ใช่สัจจะเป็นแค่สมมติฐานด้วยความคิด แต่ถ้าชั้นญาณะมันจะไม่หวนกลับเพราะเห็นสัจจะเที่ยงตรงแจ่มแจ้ง นี่คือปัญญาแท้
ปัญญาชั้นญาณะที่ใหญ่ที่สุดก็คือการประเมิน ประมวลความเป็นจริงทั้งหมด แล้วประเมิน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ประเมินแล้วจำแนกได้ ๓ คุณลักษณะ คือ ๑) ความเป็นจริงบางอย่างเป็นโทษ ๒) ความเป็นจริงบางอย่างเป็นประโยชน์ ๓) ความเป็นจริงบางอย่างเป็นกลางไม่มีโทษ ไม่มีประโยชน์ และในบรรดาความเป็นจริงทั้งหลายนั้นมีสังขาร (การปรุงแต่ง) เช่นภพชาติและกรรมเป็นตน กับวิสังขาร (ปราศจากการปรุงแต่ง) สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ สังขารทั้งหลายไม่เป็นตน ดังนั้น การที่เอาจิตไปข้องเกี่ยวกับสังขาร จิตก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะเสพความไม่เที่ยงตลอด ท่านก็แนะนำให้ปลดปล่อยจิตให้เป็นอิสระไปอยู่กับวิสังขาร วิสังขารก็คือความว่าง พอไปอยู่กับความว่างที่เป็น absolute ว่าง จิตก็ไม่ต้องแปรปรวนอีกต่อไป จิตก็เสถียรอยู่อย่างนั้น
ดังนั้น วิปัสสนาชุดใหญ่ที่สุดคือการประเมินคุณประเมินโทษ ประเมินตัวสัจธรรม เห็นแจ่มแจ้งแล้วตัดสินใจสู่ว่างอย่างยิ่ง วางวุ่นอย่างยิ่งให้หมด มุ่งสุขอย่างยิ่ง ปล่อยวางทุกข์อย่างยิ่งและเหตุสร้างทุกข์ให้สิ้น นั่นก็เป็นกำลังของปัญญา
ปล่อยวางเป็นวิราคะ พอวิราคะหมดก็ได้วิมุตติ
ดังนั้น ปัญญาก็นำสมาธิได้ สมาธิก็นำปัญญาได้ ไม่ใช่จะต้องเข้าฌานให้ได้แล้วค่อยมาคุยกันเรื่องปัญญา หรือจะต้องไปมีปัญญามาก่อนแล้วเข้าสมาธิ มันทำพร้อมกันไปตลอด เหมือนหัวกับก้อยต่างเป็นฐานให้กันและกันตลอด รู้แล้วก็รีบปฏิบัติให้เห็นแจ้งด้วยตนเอง อย่าสงสัยเยอะ อย่าคิดเยอะ อย่าคุยเยอะ จะปรุงแต่งสังขารไม่จบ ปฏิบัติให้เยอะ วิราคะให้เยอะ จึงจะถึงผลสูงสุดของ ศีล สมาธิ และปัญญา