Main navigation

ควรพิจารณาอะไรในชีวิตประจำวัน

Q ถาม :

การวิปัสสนาในชีวิตประจำวันหรือในขณะที่เราทำงาน อาจารย์มีวิธีไหนที่จะแนะนำให้เราทำได้ตลอดเวลาไหมครับ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

ญาณที่ใช้เยอะที่สุดในวิปัสสนา คือ อนัตตญาณ ดังนั้น ถ้าไม่รู้จะทำอะไรเลยให้เอาอนัตตามาเป็นตัวตั้ง ที่รู้สึกอยู่นี้ก็อนัตตา ที่ทำอยู่นี้ก็อนัตตา ที่ถูกทำอยู่นี้ก็อนัตตา

คนที่เจอสุขมาก ๆ จิตโล่งว่างแล้วจะวิปัสสนาได้อย่างเดียว คือ อนัตตา ตอนนั้นวิปัสสนาทุกข์ไม่เห็นแล้วนะ ตอนที่เข้าความว่าง มันมีแต่ความสุขมหาศาลไร้ขอบเขต ดูทุกข์อย่างไรก็ไม่เห็นนะ ดูได้อย่างเดียวคืออนัตตา ดังนั้น ไม่ต้องพยายามดูทุกข์นะ ถ้าพยายามดูทุกข์ จิตมันจะออกมาข้างนอกเลย

พวกโล่ง ๆ ว่าง ๆ อรูปฌานทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงให้พิจารณาอนัตตาแล้วจะสำเร็จง่ายมาก

 

ถาม

ขอถามต่อเนื่องในเรื่องการพิจารณาอนัตตา อยากให้อาจารย์ขยายความถึงวิธีการให้หน่อยค่ะว่าต้องทำอย่างไร เพราะยังไม่ค่อยแจ่มแจ้งเท่าไหร่

อาจารย์ไชย ณ พล 

ถ้าเราฟังดูในบทสวดที่พระพุทธเจ้าสอน “สัพเพ สังขารา อนิจจาติ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” “สัพเพ สังขารา ทุกขาติ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์” แต่พออนัตตาพระองค์ตรัสว่า “สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ” ไม่ใช่สัพเพ สังขาราแล้ว

นั่นหมายความว่าอย่างไร คือ ทั้งสิ่งที่เป็นสังขารและสิ่งที่ไม่ใช่สังขาร เป็นอนัตตาทั้งหมด พระนิพพานก็เป็นอนัตตา จิตก็เป็นอนัตตา รู้ก็เป็นอนัตตา รู้สึกก็อนัตตา มันสักแต่ว่าเป็นธรรมชาติเช่นนั้นเอง แต่ธรรมชาติเช่นนั้นเองนี้ เราบริหารมันเพื่อให้มันหมดจดแค่นั้นเอง พอแจ้งอนัตตาแล้วก็ปล่อยวาง เห็นอนัตตาตรงไหนปล่อยวางตรงนั้น ปล่อยไปเถอะ ปล่อยให้หมด ไม่ต้องไปยึดอะไรทั้งสิ้นเลย ถ้ายังต้องยึดเมื่อไหร่มันจะเกิดอัตตา พอเห็นอนัตตาจริง ๆ แล้วก็ปล่อยวาง ๆ ๆ

คราวนี้จะเห็นได้อย่างไร มันเห็นได้ตรงรู้นั่นแหละ พอรู้ จะเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นตน มันรู้ ก็สักแต่ว่ารู้เฉย ๆ

จิตเราดีขนาดเห็นแสงจิตเสถียรอยู่แล้ว มันก็รู้เฉย ๆ มันไม่เห็นมีตัวตนตรงไหนหรือในรู้เลย ถ้าใครที่เคยได้ตรงนี้จะรู้ว่าจิตก็ไม่ใช่ตัวตน ตัวตนมันอยู่หยาบกว่าจิตนะ ตัวตนคืออุปาทาน มันยึดอะไรบางอย่างจนปรุงเป็นจิตตสังขาร ความรู้สึกเป็นตัวตนจึงเกิด พอปล่อยวางจิตตสังขารไปอยู่ในรู้เฉย ๆ อ้าวไม่มีตัวตนอีกแล้ว หาไม่เจอนะ ลองดูกันก็ได้ มองไปตรงไหน ในใจมันก็ไม่มีตัวตน จากนั้นก็ปล่อยวาง ปล่อยวางการยึดถือ แล้วรู้ก็จะตั้งมั่น โล่ง แจ่มชัดอยู่อย่างนั้น เรียกว่า ตถตา