Main navigation

เพราะเหตุไรความโลภ ความโกรธ ความหลงยังครอบงำจิตได้

Q ถาม :

เจ้ามหานามศากยะทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระองค์เข้าใจข้อธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วอย่างนี้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น โลภธรรม โทสธรรม โมหธรรมก็ยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้เป็นครั้งคราว ธรรมอะไรเล่าที่ข้าพระองค์ยังละไม่ได้เด็ดขาดในภายในอันเป็นเหตุให้โลภธรรม โทสธรรม โมหธรรมยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้เป็นครั้งคราว

A พระพุทธเจ้า ตอบ :

 

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรมหานามะ

โลภธรรม โทสธรรม โมหธรรมนั้นนั่นแล ท่านยังละไม่ได้เด็ดขาดในภายใน อันเป็นเหตุให้โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงำจิตของท่านไว้ได้เป็นครั้งคราว

ก็ธรรมนั้นจักเป็นอันท่านละได้เด็ดขาดในภายในแล้ว ท่านก็ไม่พึงอยู่ครองเรือน ไม่พึงบริโภคกาม แต่เพราะท่านละธรรมเช่นนั้นยังไม่ได้เด็ดขาดในภายใน ฉะนั้น ท่านจึงยังอยู่ครองเรือน ยังบริโภคกาม

ถ้าแม้ว่าอริยสาวกเล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามเป็นจริงว่ากามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง แต่อริยสาวกนั้นเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ยังไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เธอจะยังเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามไม่ได้

แต่เมื่อใดเธอเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เมื่อนั้น เธอย่อมเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามเป็นแท้

แม้เราเมื่อเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก่อนตรัสรู้ ก็เล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมากโทษในกามนี้ยิ่ง และเราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เราจึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามมิได้ก่อน

แต่เมื่อใดเราเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข และกุศลอื่นที่สงบกว่านั้น เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม

คุณของกาม

ก็อะไรเล่าเป็นคุณของกามทั้งหลาย 

ดูกรมหานามะ กามคุณ ๕ ประการนี้ คือ

รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยตา...
เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู...
รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น...
กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก...
สัมผัสที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย... 

น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด กามคุณ ๕ ประการเหล่านี้แล

ความสุข ความโสมนัสใด อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของกามทั้งหลาย

โทษแห่งกาม

ก็อะไรเล่าเป็นโทษของกามทั้งหลาย

กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีวิตด้วยความขยัน ประกอบศิลปะใด คือ ด้วยการคำนวณก็ดี ด้วยการนับจำนวนก็ดี ด้วยการไถก็ดี ด้วยการค้าขายก็ดี ด้วยการเลี้ยงโคก็ดี ด้วยการยิงธนูก็ดี ด้วยการเป็นราชบุรุษก็ดี ด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ต้องตรากตรำต่อความหนาว ต้องตรากตรำต่อความร้อน งุ่นง่านอยู่ด้วยสัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ต้องตายด้วยความหิวกระหาย

แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็น ๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน สืบต่อพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้นไม่สำเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพันตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่า ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ

แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็น ๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน สืบต่อพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้นสำเร็จผล เขากลับเสวยทุกข์ โทมนัสที่มีการคอยรักษาโภคะเหล่านั้นเป็นตัวบังคับว่า ทำอย่างไรพระราชาทั้งหลายไม่พึงริบโภคะเหล่านั้นไปได้ พวกโจรพึงปล้นไม่ได้ ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัด ทายาทอัปรีย์พึงนำไปไม่ได้ เมื่อกุลบุตรนั้นคอยรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลายริบโภคะเหล่านั้นไปเสียก็ดี โจรปล้นเอาไปเสียก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปเสียก็ดี ทายาทอัปรีย์นำไปเสียก็ดี เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่าสิ่งใดเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา

แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลายเป็นกองทุกข์ที่เห็น ๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

อีกประการหนึ่ง เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้น แม้พระราชาทั้งหลายก็วิวาทกันกับพวกพระราชา พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับพวกกษัตริย์ พวกพราหมณ์ก็วิวาทกันกับพวกพราหมณ์ คฤหบดีก็วิวาทกันกับพวกคฤหบดี มารดา-บิดาก็วิวาทกันกับบุตร บุตรก็วิวาทกันกับมารดา-บิดา แม้พี่ชายน้องชาย-พี่สาวน้องสาวก็วิวาทกันกับพี่ชายน้องชาย-พี่สาวน้องสาว แม้สหายก็วิวาทกันกับสหาย ชนเหล่านั้นต่างถึงการทะเลาะแก่งแย่งวิวาทกัน ทำร้ายซึ่งกันและกันด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศาตราบ้าง ถึงความตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง

แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลายเป็นกองทุกข์ที่เห็น ๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

อีกประการหนึ่ง เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้น ฝูงชนต่างถือดาบและโล่ห์ สอดแล่งธนู ตรูกันเข้าไปสู่เชิงกำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อนเพื่อปล้นบ้าง วิ่งเข้าสู่สงครามบ้าง ปะทะกันทั้ง ๒ ข้าง ฝูงชนเหล่านั้นต่างก็ถูกลูกศรแทงเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง ถูกรดด้วยโคมัยร้อนบ้าง ถูกสับด้วยคราดบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะเสียบ้าง พากันถึงตายไปบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง 

แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลายเป็นกองทุกข์ที่เห็น ๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

อีกประการหนึ่ง เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้น ฝูงชนตัดที่ต่อบ้าง ปล้นอย่างกวาดล้างบ้าง กระทำการปล้นในเรือนหลังเดียวบ้าง ดักปล้นในหนทางบ้าง สมสู่ภรรยาคนอื่นบ้าง พระราชาทั้งหลายจับคนนั้น ๆ ได้แล้ว ให้กระทำกรรมกรณ์ต่าง ๆ คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้างตีด้วยไม้ค้อนบ้าง รดด้วยน้ำมันที่ร้อนบ้างให้สุนัขกัดกินบ้าง เสียบที่หลาวทั้งเป็นบ้าง ใช้ดาบตัดศีรษะเสียบ้าง คนเหล่านั้นถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง

แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลายเป็นกองทุกข์ที่เห็น ๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

อีกประการหนึ่ง เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ฝูงชนต่างประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว เมื่อตาย ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

แม้นี้ก็เป็นโทษของกามทั้งหลายเป็นกองทุกข์ที่เห็น ๆ กันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น

นิครนถ์ทรมานตนเพื่อประสพความสุข

สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้น ณ ตำบลกาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พวกนิครนถ์จำนวนมากเป็นผู้ถือการยืนเป็นวัตร ห้ามการนั่ง เสวยทุกขเวทนา แรงกล้า เผ็ดร้อน อันเกิดจากความพยายาม

ครั้งนั้นแล เราออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาพวกนิครนถ์ถึงประเทศกาฬศิลา ได้กล่าวกะพวกนิครนถ์เหล่านั้นว่า ไฉนเล่าพวกท่านจึงถือการยืน เป็นวัตร ห้ามการนั่ง เสวยทุกขเวทนา แรงกล้า เผ็ดร้อน

พวกนิครนถ์เหล่านั้นได้กล่าวกะเราดังนี้ว่า นิครนถ์นาฏบุตรรู้ธรรมทั้งปวง เห็นธรรมทั้งปวง ยืนยันญาณทัสสนะหมดทุกส่วนว่าเมื่อเราเดินไปก็ดี ยืนก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสสนะปรากฏอยู่ ติดต่อเสมอไป นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้ว่า บาปกรรมที่พวกท่านทำแล้วในกาลก่อนมีอยู่ พวกท่านจงสลัดบาปกรรมนั้นเสีย ด้วยปฏิปทาอันประกอบด้วยการกระทำที่ทำได้ยากลำบากนี้

ข้อที่ท่านทั้งหลายสำรวมกาย วาจาใจ ในบัดนี้เป็นการไม่กระทำบาปกรรมต่อไป ทั้งนี้ เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ เพราะไม่ทำกรรมใหม่ ความไม่ถูกบังคับต่อไปจึงมี เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ความสิ้นกรรมจึงมี เพราะสิ้นกรรม ความสิ้นทุกข์จึงมี เพราะสิ้นทุกข์ ความสิ้นเวทนาจึงมี เพราะสิ้นเวทนา จักเป็นอันพวกท่านสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด

คำที่นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวแล้วนั้น ชอบใจและควรแก่พวกข้าพเจ้า และเพราะเหตุนั้น พวกข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีใจยินดี

เมื่อพวกนิครนถ์กล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะนิครนถ์เหล่านั้นดังนี้ว่า พวกท่านทราบหรือว่า เราทั้งหลายได้มีแล้ว ได้ทำบาปกรรมแล้ว ได้ทำบาปกรรมอย่างนี้ ๆ ในกาลก่อน

พวกนิครนถ์ตอบว่า ข้อนี้หามิได้เลย

พวกท่านทราบหรือว่า เราสลัดทุกข์ได้เท่านี้แล้ว หรือว่าเราต้องสลัดทุกข์เท่านี้เสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว เป็นอันสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด

พวกนิครนถ์ตอบว่า ข้อนี้หามิได้เลย

พวกท่านทราบการละอกุศลธรรม การบำเพ็ญกุศลธรรมในปัจจุบันหรือ

พวกนิครนถ์ตอบว่า ข้อนี้หามิได้เลย

ตามที่ได้ฟัง พวกท่านไม่รู้ว่าในปางก่อนเราได้มีมาแล้วหรือไม่ ไม่รู้ว่าในปางก่อนเราได้ทำบาปกรรมไว้หรือไม่ ทั้งไม่รู้ว่าเราได้ทำบาปกรรมไว้อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่รู้ว่าทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว ทุกข์เท่านี้จำต้องสลัด เมื่อสลัดทุกข์เท่านี้ได้แล้ว ทุกข์ทั้งปวงจักเป็นอันสลัดไปด้วย ไม่รู้จักการละอกุศลธรรม และการยังกุศลธรรมให้เกิดในปัจจุบัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เฉพาะแต่คนที่มีมรรยาทเลวทราม มือเปื้อนโลหิต ทำกรรมชั่วช้า เป็นผู้เกิดสุดท้ายภายหลังในหมู่มนุษย์จักบวชในสำนักของท่าน

พวกนิครนถ์ตอบว่า บุคคลมิใช่จะประสพความสุขได้ด้วยความสุข แต่จะประสพสุขได้ด้วยความทุกข์แท้ ก็ถ้าหากบุคคลจักประสพความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสารของแผ่นดินมคธก็คงประสพความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสารอยู่เป็นสุขกว่าท่านพระโคดม

พระผู้มีพระภาคตอบว่า เป็นการแน่นอนที่พวกท่านนิครนถ์ทั้งหลายหุนหัน ไม่ทันพิจารณาจึงพูด

ก็เราเท่านั้นที่พวกท่านควรซักไซ้ไล่เลียงในเรื่องสุขเรื่องทุกข์ ว่าใครเล่าหนอจะอยู่สบายดีกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสารหรือท่านพระโคดมเอง

พวกนิครนถ์จึงทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ใครเล่าหนอจะอยู่สบายดีกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสารเจ้าแผ่นดินมคธ หรือท่านพระโคดมเอง

ถ้าอย่างนั้น เราจะต้องถามพวกท่านในเรื่องสุขเรื่องทุกข์นั้นดูบ้าง ท่านเข้าใจอย่างใดก็พึงแถลงอย่างนั้น พวกท่านเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน

พระเจ้าพิมพิสารจะทรงสามารถไม่ทรงไหวพระกาย ไม่ทรงพระดำรัส ทรงเสวยพระบรมสุขส่วนเดียวอยู่ ๗ คืน ๗ วัน ๖ คืน ๖ วัน... ๕ คืน ๕ วัน... ๔ คืน ๔ วัน... ๓ คืน ๓ วัน... ๒ คืน ๒ วัน... เพียงคืนหนึ่งวันหนึ่ง ได้หรือ

พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ไหวละท่าน

เราแหละสามารถไม่ไหวกาย ไม่พูด เสวยความสุขส่วนเดียวอยู่เพียงคืนหนึ่งวันหนึ่ง สามารถไม่ไหวกาย ไม่พูด เสวยความสุขส่วนเดียวอยู่ ๒ คืน ๒ วัน... ๓ คืน ๓ วัน... ๔ คืน ๔ วัน... ๕ คืน ๕ วัน... ๖ คืน ๖ วัน... ๗ คืน ๗ วัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะอยู่สบายกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสารเจ้าแผ่นดินมคธหรือเราเอง

พวกนิครนถ์ตอบว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพระโคดมสิ อยู่สบายกว่าพระเจ้าพิมพิสารเจ้าแผ่นดินมคธ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้แล้ว เจ้าศากยมหานามะทรงมีพระทัยชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

 

 

ที่มา
จูฬทุกขักขันธสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๒๐๙-๒๒๐