Main navigation

ปฏิบัติธรรมแล้ว ควรหลีกเลี่ยงของแบรนด์เนมไหม

Q ถาม :

อาจารย์คะ มีคนเอากระเป๋าและเสื้อผ้าแบรนด์เนมมาขายให้ ก็ดูดีค่ะ ราคาก็เอาเรื่องอยู่ นึกอยากจะเก็บไว้บ้าง แต่มานึกอีกทีเราปฏิบัติธรรมแล้ว ควรต้องหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ไหมคะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

สมัยพุทธกาล ไม่มี Branding เหมือนธุรกิจทุกวันนี้ สมัยนั้นมีแหล่งที่มาของสินค้า และประเภทสินค้า เช่น

ผ้ากาสี คือ ผ้าที่ผลิตจากแคว้นกาสี ซึ่งขึ้นชื่อว่าทอประณีต

ผ้าโกเชาว์ คือ ผ้าที่ทำจากขนแพะ ซึ่งให้ความอบอุ่นดี

ในธรรมวินัย จึงไม่ได้บัญญัติห้าม brand name ไว้ แต่ทรงบัญญัติว่า เมื่อมีผู้ปวารณาจะถวายจีวรและผ้าอติเรกไว้ ภิกษุจะระบุว่าขอเป็นผ้าจากแคว้นใด หรือประเภทใดไม่ได้ ต้องให้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ กำลังศรัทธา และความสามารถในการจัดหาของผู้บริจาคเอง

ส่วนอุบาสกอุบาสิกา ตามอัธยาศัย เช่น พระนางวิสาขาสวมมหาลดาปสาธน์ ชุดหรูพร้อมมงกุฏทรงสูงใหญ่ ประดับด้วยเพชรพลอยจำนวนมาก เข้าไปกราบพระพุทธเจ้าที่เชตวัน แต่ด้วยความสำรวมพระนางก็ถอดชุดอลังการออกก่อนที่จะสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า เป็นต้น

ดังนั้น สำหรับอุบาสกอุบาสิกา ประเด็นธรรมวินัยไม่มี

กระนั้นสมัยนี้ ฆราวาสควรพิจารณาในสามประเด็นเป็นสำคัญ คือ ผลทางจิตวิทยา ผลทางการลงทุน และผลทางการปฏิบัติธรรม

ผลทางจิตวิทยา

โดยจิตวิทยา ผู้ที่ใช้ brand name มักเป็นผู้ที่ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และหวังที่จะเอาความนิยมในแบรนด์ดัง มาเสริมการยอมรับจากคนอื่น 

แต่ชนจำนวนหนึ่งซึ่งมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก พวกนี้ไม่ต้องการแบรนด์ดังใด ๆ มาเสริม แต่มุ่งนำความเชื่อมั่นมาสร้างความสำเร็จจนตนเองเป็นที่ยอมรับในโลกกว้าง เช่น Warren Buffett, Elon Musk, Mark Zuckerberg คนเหล่านี้แม้จะใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ก็เป็นที่นิยม เพราะตัวเขากลายเป็นแบรนด์ด้วยตัวเอง 

ก็เลือกเอา จะเชื่อมั่นในตนให้เต็มทำตัวเองให้เป็นแบรนด์ หรือจะปล่อยให้ความเชื่อมั่นกลวงแล้วหาแบรนด์มาเสริม

ผลทางการลงทุน

ในการลงทุน เราพึงพิจารณา cost structure, real value of product, depreciation &  appreciation, utilisation, maintenance

Cost structure สินค้าชิ้นเดียวกัน เมื่อขายโดยไม่ติดแบรนด์ กับติดแบรนด์ ราคาจะต่างกันถึง 100-1000 เท่า นั่นแสดงว่าราคาที่ต่างกันนั้น เป็นค่าบริหารแบรนด์ ไม่ใช่ค่าสินค้าที่แท้จริง เพราะค่าบริหารแบรนด์มีค่าประชาสัมพันธ์ ค่ามาตรฐาน ค่าจ้างคนดัง ค่า management สูงกว่ามูลค่าสินค้าที่แท้จริงนั่นเอง

ก็เลือกเอา จะจ่ายค่าสินค้าจริง ๆ หรือจะจ่ายค่าแบรนด์

Real value of product  ข้าวของเครื่องใช้แต่ละชนิด จะมีหน้าที่หลักที่ต้องปฏิบัติให้ได้ เช่น นาฬิกา ต้องบอกเวลาอย่างเที่ยงตรง และในโลกทุกวันนี้ นาฬิกาที่ทำหน้าที่ได้ดีที่สุด คือนาฬิกาในมือถือ เพราะ run ด้วย battery พิเศษที่ไม่หยุดแม้เราจะปิดเครื่องไว้ กระนั้นคนจำพวกหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มีโทรศัพท์มือถือแล้ว ก็ยังผูกนาฬิกาที่ข้อมืออีกเพื่อประดับ ทั้ง ๆ ที่บอกเวลาได้ไม่เที่ยงตรงเท่ามือถือ

ก็เลือกเอา จะจ่าย real value หรือจะจ่ายค่า decorative value

Depreciation & Appreciation เคยมีเพื่อนสนิทเป็นผู้บริหารธุรกิจใหญ่ ชอบเอานาฬิกาเรือนละหลายล้านมาอวด พอมากเข้า วันหนึ่งเลยถามเขาไปว่า "นาฬิกาที่สะสมไว้ทั้งหมดนั้น เมื่อเวลาผ่านไป มีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง" เขาก็บอกว่า "ลดลง" จึงถามเขาว่า "แล้วสะสมไว้ทำไมมากมาย" เขาก็สาธยายความเป็นมาต่าง ๆ นานา พร้อมให้ดูความงามตามจุดเล็ก ๆ ในนาฬิกา นั่นแสดงว่าเขายอมจ่ายจำนวนเพื่อสิ่งที่ด้อยค่าลงทุกวัน เพื่อสนองราคะ (สิ่งที่ตนเห็นว่างาม) และโมหะ (เห่อในเรื่องราวปรุงแต่ง)

ก็เลือกเอาว่า จะจ่ายค่าเห่อ (โมหะ) และค่าราคะ (กำหนัดยินดี) หรือไม่ 

Utilisation ค่าการใช้สอย เช่น หากเราซื้อ super car แบรนด์ดัง มา 300 ล้าน กับรถ SUV อเนกประสงค์มา 3 ล้าน ทั้งคู่มีอายุการใช้งานในเขตปลอดภัยไม่จุกจิก 10 ปีเท่ากัน ชีวิตจริงตามสภาพถนน และการจราจรในบ้านเรา เราจะใช้คันไหนมากกว่ากัน แล้วลองคำนวณค่าใช้สอย คือเอาราคา+ค่าน้ำมัน หารด้วยจำนวนครั้งที่ใช้ แล้วเปรียบเทียบดูว่า รถคันไหนให้ความคุ้มค่าในการใช้สอยมากกว่ากัน

ก็เลือกเอาว่า จะจ่ายค่าใช้ หรือค่าโชว์

Maintenance เอาที่รถเป็นตัวอย่างก็ได้ เมื่อต้องเข้าอู่ maintenance ที คันไหนง่าย คันไหนยุ่งยาก คันไหนใช้เวลาน้อย คันไหนใช้เวลามาก คันไหนจ่ายน้อย คันไหนจ่ายมาก 

ก็เลือกเอาว่า จะจ่ายค่าความสะดวกสบาย หรือค่าความยุ่งยาก ขณะที่ทั้งคู่ล้วนพาถึงจุดหมายเหมือนกัน

ผลทางการปฏิบัติธรรม

เมื่อมาปฏิบัติธรรม ซึ่งที่ควรพิจารณา คือ 

สิ่งใดที่มีแล้วทำให้กุศล (ศีล สติ สมาธิ ปัญญา วิมุตติ) เพิ่มขึ้น ควรมีสิ่งนั้น

สิ่งใดที่มีแล้วทำให้อกุศล (กิเลส ตัณหา อวิชชา ความหลง ความยึดถือ ความห่วงกังวล) เพิ่มขึ้น ไม่ควรมีสิ่งนั้น

The Best Choice

ในที่สุดสิ่งที่ดีที่สุด คือสิ่งที่พอเหมาะพอดีกับเรามากที่สุด คือ

1. พอเหมาะพอดีกับ character ของเรา

2. พอเหมาะพอดีกับฐานะหน้าที่รับผิดชอบของเรา

3. พอเหมาะพอดีกับกิจที่เราจะทำในกาลนั้น ๆ

4. พอเหมาะพอดีกับสภาวะของเรา ในขณะนั้น ๆ

5. พอเหมาะพอดีกับความสัมพันธ์ที่เรา deal ด้วยช่วงนั้น ๆ 

ซึ่งทั้งหมดนี้ อาจมีแบรนด์หรือไม่มีแบรนด์ก็ได้ หรือดีไซน์ใหม่ เฉพาะตน เฉพาะกิจ เฉพาะกาล เฉพาะเป้าหมาย ก็ได้

จำหลักไว้ให้มั่น  "ความพอเหมาะพอดี ดีที่สุด"

 

 

ที่มา
19 March 2023