วิธีแก้ความกลัว
อาจารย์คะ ศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมมามากพอควร ทำไมยังมีความขี้กลัวอยู่มากคะ และจะแก้อย่างไรดีคะ
เอาอย่างย่อนะ
ความกลัวทุกชนิดเกิดจากจิตปรุงแต่ง เช่น
1. ปรุงแต่งสิ่งที่ไม่ปรารถนาว่าอาจจะมาหา (กลัวผี เป็นต้น)
2. ปรุงแต่งภัยนานาว่าจะเกิดขึ้น (กลัวโลกแตก เป็นต้น)
3. ปรุงแต่งไปว่าคนอื่นไม่ยอมรับตน (กลัวไม่เป็นที่ยอมรับ เป็นต้น)
ฯลฯ
ผลของความกลัว
1. ความกลัวทำให้จิตหด
2. เมื่อจิตหด พลังและความกล้าปกติก็หาย
3. เมื่อจิตหด พลังและความกล้าปกติหาย ปัญญาก็ไม่ออกมาทำงาน
4. เมื่อเห็นแต่สิ่งที่น่ากลัวไปหมด จิตจะหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง ไร้การสร้างสรรค์ ไม่อาจบริหารอะไรได้ แม้ชีวิตตนเอง
5. เมื่อกลัวสิ่งหนึ่งมาก ๆ สามารถใช้เป็นแรงขับสร้างความกล้าในสิ่งตรงข้ามได้
การใช้ความกลัวให้เป็นประโยชน์
1. กลัวในสิ่งควรกลัวจริง เช่น กลัวบาป จะป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นได้ และกล้าในการทำความดีมากขึ้น
2. กลัวภัยแห่งสังขารโลกอันแปรปรวน จึงหาทางยกระดับไปให้สูงกว่าโลก
3. กลัวเสียสุขภาพ จึงไม่ประมาท กล้าปฏิเสธอาหาร อากาศ และอารมณ์ที่มีโทษมากกว่าคุณ กล้าบริหารวิถีชีวิตตนให้อยู่กับสิ่งที่มีคุณมากกว่าโทษ
4. กลัวลำบาก จึงขยันหาทรัพย์และหมั่นทำบุญ
5. กลัวทุกข์ จึงหาทางบรรลุธรรมพ้นทุกข์ถาวร กล้าที่จะสละเวลาและภาระต่าง ๆ เพื่อการปฏิบัติธรรมจนได้ผลจริง
เป็นต้น
ระดับความกลัวที่ใช้ประโยชน์ได้
1. กลัวแล้วทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ เช่น กลัวล้ม จึงเดินอย่างมีสติสัมปชัญญะ
2. กลัวพอประมาณ ทำให้เกิดความไม่ประมาท และพยายามพัฒนาตนให้เจริญก้าวหน้า เช่น กลัวเสียชาติเกิด จึงพยายามละชั่ว ประพฤติชอบ ชำระจิตให้ใสรอบ
3. กลัวด้วยปัญญาที่ใหญ่กว่า เห็นภัยจริงชัดเจนแล้ว เช่น กลัวกิเลสต้นเหตุแห่งทุกข์ จึงตั้งหน้าตั้งตาดับกิเลสเหตุแห่งทุกข์จนหมดสิ้น พ้นทุกข์สิ้นเชิงถาวร
ระดับความกลัวที่เป็นโทษใช้ประโยชน์ไม่ได้
1. กลัวจน paranoid เกิดประสาทหลอนหวาดผวาเนือง ๆ
2. กลัวจน panic ขลาด เครียดกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง จนร่างกายช็อก
3. กลัวจนหัวหด หดหู่ซึมเศร้า ไร้พลัง ทำอะไรไม่ได้ แม้จะมีชีวิตอยู่ต่อยังคิดว่าทำไม่ได้
4. งานวิจัยสมัยใหม่หลายชุดพบว่า ระดับความกลัว โกรธ เกลียดที่รุนแรง relate (เกี่ยวข้อง) กับโรคทางกายหลายโรค
วิธีแก้
1. หลีกเลี่ยงการข้องแวะกับนักปรุงแต่งความกลัวทั้งหลาย
2. อยู่กับกัลยาณมิตรที่มีปัญญาและจิตเป็นกลาง
3. อยู่กับปัจจุบันขณะด้วยกายคตาสติ ไม่คิดถึงอดีตและอนาคต
4. เมื่อจิตอยู่กับเนื้อกับตัวพอควรแล้ว อยู่กับปัจจุบันจิต รู้สิ่งต่าง ๆ ตรง ๆ โดยไม่คิด ไม่ปรุงอะไรเลย
5. ทะลุจิตจนปรากฏ "รู้ใหม่ ปัญญาใหม่ ความเบิกบานใหม่" ที่ไร้การปรุงประกอบกับสิ่งใด ๆ โดยสิ้นเชิง
หากทำได้สมบูรณ์ จะพ้นจากความกลัวทุกประการ เหลือแต่สติปัญญา บริหารความเป็นไปด้วยความไม่ประมาทล้วน ๆ