รับกรรมแทนกันได้ไหม
เรื่องของกรรม เรารับกรรมแทนกันได้ไหม เช่น ลูกรับแทนพ่อแม่ หรือพ่อแม่รับแทนลูก
ไม่ได้ เพราะระบบกรรมมีขึ้นมาเพื่อรักษาความเป็นธรรมของจักรวาล ดังนั้น ระบบกรรมต้องเที่ยงธรรม จะไม่เป็นธรรมไม่ได้ ยกเว้นมีกรรมร่วมกันมา จึงรับร่วมกัน
ตัวอย่างกรรมที่พ่วงกันอยู่ เราเรียกว่า “กรรมพันธุ์” หรือกรรมที่ถ่ายทอดมาทางพันธุ์ อย่างเช่น พ่อแม่มียีนผิดปกติอยู่ตัวหนึ่ง พอมีลูก ๆ ก็มักจะได้ยีนผิดปกตินั้นไปด้วย เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ คนที่จะมาเป็นพ่อแม่ลูกกันนี่ส่วนใหญ่มีกรรมร่วมกันมาเกือบทั้งหมด อาจจะเป็นบุญก็ตามหรือบาปก็ตาม
ถาม
เมื่อเราเกิดความทุกข์ เราจะทราบคู่กรณีที่ทำให้เราเป็นทุกข์ได้อย่างไร และจะสื่อสารได้อย่างไร
อาจารย์ไชย
ถ้าเขารบกวนเราได้ แสดงว่าเขาเห็นเราอยู่ เพียงแต่เราบังเอิญไม่เห็นเขาเท่านั้นเอง ก็ถ้าเขาเห็นเราอยู่ เราสื่อสารอะไรไปเขาก็รับได้
ประเด็นนี้สำคัญคือวิธีการเจรจา ปกติแล้วเวลาคนทำอะไรผิดพลาดแล้วจะมาขออโหสิกรรมจากเรา เราจะดูองค์ประกอบอะไรบ้างที่จะให้อภัย
๑) ดูที่ความรู้สึกสำนึกผิดใช่ไหม ถ้าเขายังไม่รู้สึกสำนึกผิด เช่นว่า ฉันถูกแต่เธออภัยให้ฉันหน่อยนะ เราก็คงไม่อยากอภัยใช่ไหม แต่ถ้ามีความรู้สึกสำนึกผิดแสดงว่าเขาได้เรียนรู้แล้ว องค์ประกอบที่ ๒) คือเจตนาที่จะไม่ทำเช่นนั้นอีก ใช่ ถ้าเขาให้สัญญาว่าจะไม่ให้พลาดเรื่องนี้อีกแล้วอภัยให้ด้วยเถอะ เราก็จะยินดีอภัย ๓) กาลเทศะ ถูกจังหวะ ก็ตอนที่เขามาทวงกรรมเราอยู่ก็ถูกจังหวะที่จะเจรจาแล้ว ๔) เราจะขอล้างหนี้ ก็ต้องยกหนี้กรรมให้เขาด้วย ถ้าเราขออโหสิแต่ไม่ประกาศอโหสิให้เขา ใครจะโง่ให้ล่ะ ดังนั้นล้างหนี้กันให้สิ้นพอร์ตทุกฝ่ายเลยจึงจะได้ผลดีจริง ๕) ให้บุญที่เราทำมาทดแทนความเสียหาย เยียวยาความเจ็บปวดให้เขาด้วย และก็อนุโมทนาบุญของเขาด้วย เมื่อต่างให้บุญแก่กันและกัน จากศัตรูก็กลายเป็นมิตร