Main navigation

จะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองมีมิจฉา

Q ถาม :

กราบอาจารย์ค่ะ สิ่งหนึ่งที่กลัวที่สุดทั้งในชาตินี้และในชาติที่ต้องเกิดอีกในอนาคตคือ มีมิจฉาแล้วไม่รู้ตัว

ช่วงหลังมานี้ได้พิจารณาว่า มิจฉาตัวไหนที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วคนเราจะหลงผิดแบบไม่รู้ตัวมากที่สุดทั้ง ๆ ที่มีสัมมาทิฏฐิประกบอยู่ระดับหนึ่ง ก็เห็นว่ามิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ แล้วก็มิจฉาวิมุตติ น่าจะเป็นสามตัวที่น่ากลัวที่สุดเพราะเป็นสิ่ง (พิเศษ) ที่ผู้ปฏิบัติประจักษ์ด้วยการปฏิบัติของตนเองที่ทำให้บางคนเข้าใจว่าตัวเองพิเศษกว่าผู้อื่นหรือว่าได้บรรลุธรรมขั้นใดขั้นหนึ่งแล้วหรือเปล่า

จึงขอเรียนถามอาจารย์ว่า มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ แล้วก็มิจฉาวิมุตติ เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอาการเป็นอย่างไร แล้วเราจะรู้ตัวเองได้อย่างไรว่าเรามิจฉาอยู่ เพื่อว่าหากเกิดขึ้นกับตัวเอง จะได้มีปัญญารู้ตัวแก้ไขได้ทันค่ะ

A อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :

มิจฉาสมาธิ

มีหลายลักษณะ คือ

1. เข้าสมาธิด้วยเป้าหมายที่ผิด เช่น เข้าสมาธิเพื่อจะถอดจิตไปหาแฟน ณ แดนไกล ในโลกนี้บ้างในโลกอื่นบ้าง ก็ทำได้นะ แต่ยังวนเวียนอยู่ในทุกข์เหมือนเดิม และสมาธิก็จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ เดี๋ยวได้เดี๋ยวหาย

2. ใช้สมาธิสนองกิเลส เมื่อได้สมาธิระดับหนึ่งมีกำลังจิตพอประมาณ เอาพลังสมาธินั้นมาสร้างวิชาอาคมข่มผู้อื่น สมาธิจะแข็ง ใจจะกระด้าง ถึงจุดหนึ่งสติแตกได้ แม้ไม่แตก ก็เกิดกรรมมากมาย

3. ใช้สมาธิสร้างอัสมิมานะ พอจิตดีแล้วสร้างตัวตนว่า 1) ฉันดีกว่าเขา ฉันสูงกว่าเขา พยายามทำตัวให้ใหญ่กว่าเขา  2) ฉันเสมอเขาทั้งโลกทั้งจักรวาล ทุกคนทุกจิตใจเสมอกันหมด พยายามตีตนเสมอทุกคน 3) ฉันด้อยกว่าเขา ต่ำกว่าเขา พยายามทำตัวให้เล็กกว่าเขา

สัจธรรม คือ สัพเพธัมมา อนัตตาติ สิ่งทั้งปวงไม่เป็นตน ไม่มีตัวตนที่จะให้ใครปั้นให้สูงใหญ่ ต่ำเล็ก หรือเสมอกันได้ การปั้นตนไม่ว่า เล็ก ใหญ่ หรือเสมอ ทำให้ปิดกั้นสัจธรรม ทำให้บรรลุธรรมไม่ได้

เหล่านี้คือมิจฉาสมาธิ

ดังนั้น เมื่อได้จิตตั้งมั่นดีแล้ว พระพุทธองค์ทรงให้รักษาสติบริสุทธิ์ เข้าอเนญชสมาบัติ วิปัสสนาเจริญญาณ เข้าพระนิพพาน ซึ่งว่างอย่างยิ่ง สุขอย่างยิ่ง

มิจฉาญาณะ

มีหลายอาการ

1. เห็นแต่ภาวะที่ตนเป็น ไม่รู้ไม่เห็นสภาวะอันเป็นที่สุด จึงคิดว่าที่ตนเป็นอยู่นี้ดีที่สุดแล้ว เลยสร้างความพึงพอใจแค่นี้ ไม่พัฒนาต่อ

บ้างก็หลงไปว่าความเป็นมนุษย์นี้แหละเลิศที่สุด เช่น นักธรรมชาติวิทยาวิเคราะห์วิจัยธรรมชาติ พบว่าชีวิตทั้งหลายกินกันเป็นอาหาร เกิดภาพความเข้าใจในความสัมพันธ์นั้น เรียกว่าห่วงโซ่อาหาร กำหนดให้มนุษย์อยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหาร ทุกอย่างในธรรมชาติเป็นอาหารของมนุษย์ได้หมด จุลชีพถูกจัดให้อยู่ชั้นล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่ไวรัสไม่ได้รับรองการโมเมของมนุษย์ อะไรกินได้เขาก็กินดะ เนื้อเยื่อปอดมนุษย์นี่แหละแสนจะนุ่มชุ่มฉ่ำ ทั้งมีพื้นที่ว่างให้สร้างอาณาจักรเยอะ เขาจึงมาอยู่แบ่งเซลล์ขยายพันธุ์กันมากมาย จนปอดมนุษย์พัง ตายไป มนุษย์ผู้เห็นว่าตนเลิศที่สุดในห่วงโซ่อาหารกินได้ทุกอย่าง กลายเป็นอาหารของสิ่งที่อยู่ล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร

แท้จริงแล้ว สัตว์และจุลชีพทั้งหลายเขาไม่ได้จัดตนเข้าห่วงโซ่อาหารของมนุษย์หรอก มนุษย์เพ้อไปในหมู่มนุษย์เอง นี่เป็นตัวอย่างมิจฉาญาณะ นี่แค่มนุษย์และจุลชีพนะ ยังมีจิตใจในมิติอื่น ๆ อีกมากนับประมาณมิได้ ดังนั้น การหลงในความเป็นมนุษย์จึงเป็นมิจฉาญาณะ

2.  รู้เห็นแต่ธรรมบัญญัติ ไม่เห็นสภาวธรรม จึงตีความไปตามที่เข้าใจ

หลายท่านเริ่มศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม แต่ลาภสักการะกระชากจิตออกจากกรรมฐานร่ำไป จึงไม่ได้สภาวะแทงตลอด เมื่อไม่รู้เห็นสภาวะแท้ ๆ แห่งทุกสิ่ง จึงหยิบบัญญัติมาตีความ เช่น ตีความว่า นิพพานแปลว่าดับกิเลส ดังนั้น ดับกิเลสได้ขณะใดขณะนั้นก็เป็นนิพพาน นิพพานอยู่ในปัจจุบันนี่แหละ ไม่ได้อยู่ที่อื่น เรานิพพานกันอยู่ทุกวัน จิตใหม่เกิดขึ้นทุกเสี้ยววินาที ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนขี้เกียจปฏิบัติทั้งหลายมาก นี่เป็นเพราะไม่ถ่องถ้วนสภาวะแท้ และไม่ถ่องแท้แม้ในบัญญัติ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่าการตีความเป็นเหตุแห่งสัทธรรมปฏิรูปทำให้พระศาสนาเสื่อม พระนิพพานจริงที่พระพุทธองค์ทรงนำให้เข้าถึง ไม่มีเกิดไม่มีดับแล้ว พระนิพพานเป็นสภาวะที่ต้องเข้าถึง ไม่ใช่ตีความเอา ดังนั้น การตีความธรรมบัญญัติจึงจัดเป็นมิจฉาญาณะ

3. รู้เห็นจริง แต่กำลังไม่พอที่จะเข้าถึง จึงสรุปผิด

หลายท่านปฏิบัติจริงจังจนสัมผัสพระนิพพานได้ แต่กำลังอินทรีย์ห้าไม่พอที่จะปล่อยวางตัณหาอวิชชาที่พันขันธ์ห้าอยู่ จึงไม่ถึงวิมุตติ เมื่อไม่ถึงแต่ก็ใกล้มากแล้ว ก็สรุปเอาเองตามสภาวะที่ตนได้ว่า พระนิพพานขาดสูญบ้าง พระนิพพานสืบต่อบ้าง ก็เป็นมิจฉาญาณะประณีต

มิจฉาวิมุตติ

สืบเนื่องมาจากมิจฉาญาณะ จึงนำสู่มิจฉาวิมุตติ มีอยู่สองที่ที่ประณีตที่สุด คือ

1. มิจฉาญาณะเข้าใจว่า พระนิพพานขาดสูญ จึงดับนามทั้งหมดโดยไม่ได้ดับกรรม ศีลยังไม่หมดจด จึงดับจิต แต่เหลือกายที่กรรมครองอยู่ เป็น อสัญญีพรหม เทียบเท่าพรหมฌานสี่ อายุยาวนาน ๕๐๐ มหากัป เมื่อหมดอายุขัย กรรมกระตุ้นเตือน ก็ต้องไปเกิดอีก มักจะเกิดในพรหมชั้นที่มีกายใกล้ ๆ นั่นเอง

2.  มิจฉาญาณะเข้าใจว่า พระนิพพานคือจิต จึงดับกายทั้งหมด ดับสัญญาเกือบหมด เหลือไว้แต่จิตรู้กอปรอทุกขมสุขเวทนา เป็นอรูปพรหมชั้นสูงสุด เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม มีอายุ ๘๔,๐๐๐ มหากัป ยาวนานที่สุดในจักรวาล เมื่อหมดอายุขัย จิตคลายกำลังฌาน ก็ต้องไปเกิดอีก


แล้วสัมมาคืออะไร

สัมมาสมาธิ

เข้าสมาธิด้วยความรักสงบ มุ่งบริสุทธิ์ ตั้งสติจดจ่ออยู่กับการภาวนา (วิตก) การวินิจฉัยปรับให้เป็นที่สบาย (วิจาร) จนปีติ สุข จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งปรากฏขึ้น

ละวิตกและวิจาร แล้วมนสิการในปีติสุข จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่ง จนกายเบา จิตเบา กายอ่อนโยน จิตอ่อนโยน กายคล่องแคล่ว จิตคล่องแคล่ว กายสงบ จิตสงบ

ละปีติ เหลือแต่สุขและอุเบกขาตั้งมั่นอยู่ ในชั้นนี้ ถ้าปฏิบัติมาดีอย่างเป็นระบบ จะเริ่มปรากฏแสงจิต

ละสุข ทรงอยู่แต่อุเบกขาและสติบริสุทธิ์ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอยู่ สมาธินี้เป็นฐานแห่งญาณ ฤทธิ์ และวิมุตติ

สัมมาญาณะ

สัมมาญาณะ คือ ทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งเข้าใจ แจ่มแจ้งสรรพสิ่งและความเป็นจริง พระผู้มีพระภาคทรงสอนกุลบุตรว่า เมื่อทรงสติบริสุทธิ์กอปรอุเบกขาแล้ว ให้เข้าถึง “อภิปัญญา” ดังนี้

วิปัสสนาญาณ
แจ่มแจ้งว่ากายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่เป็นตน เป็นเพียงธาตุจากอาหารมาประกอบกัน ปล่อยวางความถือมั่นกายได้ จนจิตเป็นอิสระจากกาย

มโนมยิทธิญาณ
แจ่มแจ้งว่าจิตนี้สามารถถอดออกจากกายได้ ออกมาแล้วก็มีกายทิพย์เหมือนกายธาตุแต่ไม่มีอวัยวะภายใน แล้วนำจิตที่ออกมานี้ไปเรียนรู้สัจธรรมแห่งความมีอยู่เป็นอยู่ในมิติต่าง ๆ แห่งธาตุ แห่งภพ แห่งภูมิ

อิทธิวิธีญาณ
แจ่มแจ้งว่าจิตสามารถน้อมธาตุให้เป็นไปได้ตามปรารถนา จึงเหาะได้ เดินบนน้ำได้ ดำดินได้ ทะลุภูเขาได้ เนรมิตสิ่งต่าง ๆ ได้ตามกำลังจิต

ทิพยโสตญาณ
แจ่มแจ้งว่าเสียงมีทั้งเสียงในโลกนี้ และเสียงทิพย์แห่งสวรรค์ ทั้งสามารถได้ยินตามปรารถนา

เจโตปริยญาณ
แจ่มแจ้งว่าจิตใจทั้งหลายเจตสิกเป็นองค์ประกอบ แปรเปลี่ยนไปตามการประกอบเจตสิก และรู้ว่าขณะนี้เจตสิกใดกำลังทำงานอยู่ จึงเข้าใจจิตใจทั้งปวงอย่างลึกซึ้ง

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
แจ่มแจ้งว่าจิตใจมีวิวัฒนาการมายาวนาน เกิดในภพภูมิต่าง ๆ เพื่อพัฒนาปัญญาพาสู่อมตภาพ แต่เกิดชาติใดร่างกายก็ตายก่อนถึงอมตะทุกชาติ จึงต้องเกิดแล้วเกิดอีกจนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ ทั้งเห็นรายละเอียดความเป็น ความอยู่ ความสัมพันธ์ และพัฒนาการในแต่ละชาติ จะได้ต่อยอดได้ถูกต้อง

จุตูปปาตญาณ
แจ่มแจ้งว่า เจตนาสร้างวาจาและการกระทำ ทั้งเจตนา วาจา และการกระทำมีพลังต่อผู้อื่น ระบบ และสิ่งแวดล้อม และพลังนั้นทั้งห้อมล้อมผู้สร้างกรรมนั้น ทั้งมีอำนาจ formulate ความเป็นไปในร่างกายจิตใจ ความสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อมได้ กรรมบางอย่างแก้ไขได้ กรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงผลไม่ได้ แต่ทุกคนเปลี่ยนแปลงวิถีกอปรกรรม และในที่สุดหลุดพ้นจากกรรมได้ด้วยการออกจากภพทั้งปวง

อาสวักขยญาณ
แจ่มแจ้งว่า “ธรรมทั้งปวงไม่เป็นตน” จึงวิราคะขันธ์ห้า ดับสัญญาการยึดถือความเคยชินแห่งทฤษฎี ความรู้ (ทิฏฐาสวะ) ความเชื่อ ความนิยม คำนิยาม สมมติแห่งความเป็นต่าง ๆ (ภวาสวะ) และการสนองอารมณ์ด้วยการเสพต่าง ๆ (กามาสวะ) และอวิชชาสวะ รากเหง้าแห่งการปรุงแต่งทั้งปวง ทั้งหมดทั้งสิ้น ทั้งสลัดคืนไม่มีเหลือซาก

นี่เป็นปัญญาที่แท้จริง ยั่งยืน และเป็นประโยชน์สูงสุด พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐชุดแรกสมัยพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ พระผู้มีพระภาคตรัสสรุปวิชชาแต่ละญาณนี้ว่า “นี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง ๆ” ใครที่ได้ปัญญาเหล่านี้แล้ว จะเห็นชัดว่า วิชาที่ร่ำเรียนกันมาทางโลกทั้งหมดกี่ปริญญาก็ตาม เป็นเพียงปัญญาระดับอนุบาลทางธรรมเท่านั้น เมื่อรู้ดังนี้ก็รีบเลื่อนชั้นขึ้นสู่

ประถมทางธรรม คือ ศีลหมดจด ซึ่งจะละมิจฉาดำริ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีโวได้  

มัธยมทางธรรม คือ สัมมาสมาธิ ซึ่งจะละมิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิได้  

อุดมศึกษาทางธรรม คือ สัมมาญาณะ ซึ่งจะละมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาญาณะ ละกิเลสตัณหาอวิชชาได้  

Doctorate ทางธรรม คือ สัมมาวิมุตติ ซึ่งละมิจฉาวิมุตติ และความไม่แน่นอนทั้งปวงได้ เมื่อนั้นก็จบกิจวิวัฒนาการ

สัมมาวิมุตติ

สัมมาวิมุตติ หลุดพ้นจากทุกข์ ดับสมุทัยสิ้นเชื้อ สิ่งที่เหลืออยู่คือ “พุทธะ” รู้ ตื่น เบิกบาน” (ไม่ใช่ส่วนใด ๆ ในขันธ์ ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ใจ) เที่ยง ณ พระนิพพาน สภาวะว่างอย่างยิ่ง สุขอย่างยิ่ง จักรวาลเรียกท่านเหล่านี้ว่า “วิสุทธิเทพ”  (พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๐ ข้อที่ ๖๕๔ หน้า ๒๔๕)

 

ถามลึกซึ้งอย่างนี้ ปฏิบัติให้ถึงนะ จริงจังกับการปฏิบัติ จะได้ไม่เสียชาติเกิด