Main navigation

เหตุให้สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ได้

Q ถาม :

เหตุให้นันทภิกษุผู้มีราคะกล้าสามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบรูณ์ได้

A พระพุทธเจ้า ตอบ :

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง พึงเรียกว่ากุลบุตรว่าผู้มีกำลัง ผู้ก่อให้เกิดความเลื่อมใส ผู้มีราคะกล้า

นันทภิกษุสามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ได้ ข้อความนี้ย่อมมีเพราะเหตุไร

เพราะว่านันทภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่เสมอ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ อันเป็นเหตุให้นันทภิกษุสามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ได้

บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้แลย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย 

หากนันทภิกษุพึงเหลียวไปทางทิศบูรพาไซร้ นันทภิกษุก็ย่อมสำรวมจิตทั้งปวงเหลียวดูทิศบูรพา ด้วยคิดว่า เมื่อเราเหลียวดูทิศบูรพาอย่างนี้ ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัสจักไม่ครอบงำจิตเราได้

หากนันทภิกษุพึงเหลียวไปทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องต่ำ ทิศเบื้องบน พึงเหลียวแลไปตามทิศทั้งหลายไซร้ นันทภิกษุย่อมสำรวมจิตทั้งปวงเหลียวไปทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องต่ำ ทิศเบื้องบน ทิศน้อย ด้วยคิดว่า เมื่อเราเหลียวแลไปตามทิศต่าง ๆ อย่างนี้ ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาแลโทมนัส จักไม่ครอบงำจิตเราได้

เธอย่อมรู้สึกตัวในการเหลียวแลนั้นด้วยประการฉะนี้

ข้อนี้แลย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้ย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ

ในธรรมวินัยนี้ นันทภิกษุพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงบริโภคอาหาร ไม่ใช่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อประดับ เพื่อตบแต่ง บริโภคเพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อเยียวยาอัตตภาพ เพื่อขจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่าเราจักขจัดเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความคล่องแคล่ว ความหาโทษมิได้ และความอยู่ผาสุกจักมีแก่เราได้ ด้วยประการฉะนี้

ข้อนี้แลย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ

บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้ย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุเป็นผู้รู้จักประกอบความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่

ในธรรมวินัยนี้ ในตอนกลางวัน นันทภิกษุย่อมชำระจิตให้สะอาดจากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตอนต้นปฐมยามแห่งราตรี

ชำระจิตให้สะอาดจากธรรมเครื่องกั้นจิตด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ในมัชฌิมยามแห่งราตรี

สำเร็จสีหไสยาสโดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กระทำความหมายในอันลุกขึ้นไว้ในใจ ในปัจฉิมยามแห่งราตรี

ลุกขึ้นแล้ว ทำจิตให้สะอาดจากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง

ข้อนี้แลย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุหมั่นประกอบความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่

บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้ย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุมีสติสัมปชัญญะ

ในธรรมวินัยนี้นันทภิกษุทราบเวทนาที่เกิดขึ้นที่ตั้งอยู่ ที่ถึงความดับไป

นันทภิกษุทราบสัญญาที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ ที่ถึงความดับไป นันทภิกษุทราบวิตกที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ ที่ถึงความดับไป

ข้อนี้แลย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุมีสติสัมปชัญญะ

เพราะนันทภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ อันเป็นเหตุให้นันทภิกษุสามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้

 

 

 

ที่มา
นันทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๙๙